จับตา!ธปท.ผ่อนเกณฑ์LTVบ้านหลังที่2 ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านต่ำสุดรอบ 23 ปี

จับตา!ธปท.ผ่อนเกณฑ์LTVบ้านหลังที่2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดคงค้างสินเชื่อบ้านต่ำสุดรอบ 23 ปี สะท้อนถึงภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวยังคงมีความท้าทายจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรการ LTV
ปี 2567 มาถึงจุดที่ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านของระบบแบงก์ไทยเติบโตเพียง 2.6% นับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี สะท้อนถึงภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อจะมีการปรับตัวดีขึ้นในบางกลุ่ม แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความท้าทายจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรการ LTV (Loan to Value) ที่ยังคงเข้มงวดกับการซื้อบ้านหลังที่สองและสามที่มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านบาท
สิ่งที่ทำให้ความเคลื่อนไหวนี้น่าสนใจยิ่งขึ้นคือ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ LTV สำหรับบ้านหลังที่ 2 และ 3 โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านที่มีมูลค่าสูง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัว หลังจากที่ในปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการ LTV ได้ช่วยให้สินเชื่อใหม่ค่อย ๆ ฟื้นกลับมา แม้ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านโดยรวมยังคงชะลอตัว
ผ่อนคลายมาตรการ LTV กระทบสินเชื่อบ้าน
ย้อนกลับไปในปี 2552 และ 2564 การผ่อนคลายมาตรการ LTV ส่งผลให้การขยายตัวของสินเชื่อบ้านในระบบแบงก์กลับมาคึกคัก แต่ผลกระทบในแต่ละช่วงเวลากลับแตกต่างกันอย่างชัดเจน ในปี 2552 สินเชื่อบ้านขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV แต่ในปี 2564 แม้การผ่อนคลายมาตรการจะช่วยฟื้นตัวของสินเชื่อใหม่ แต่ยอดคงค้างสินเชื่อบ้านยังชะลอตัวอยู่ เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การผ่อนปรน LTV สำหรับบ้านหลังที่ 2 และ 3 ที่มีมูลค่าสูงสามารถช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงบนที่สามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านเครดิตได้ แต่ทว่า แม้มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้บางส่วน ผลกระทบต่อยอดคงค้างสินเชื่อบ้านโดยรวมยังคงอยู่ในกรอบจำกัด โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1-0.2% เท่านั้น
ทิศทางสินเชื่อบ้านในปี 2568
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อบ้านในระบบแบงก์ไทยจะขยายตัวที่ 0.5% ในปี 2568 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าปกติ แม้ในปีนี้จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงและเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้บ้าง แต่ผลกระทบจากภาระหนี้ครัวเรือนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มั่นคงก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ
ทว่า ความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะผ่อนคลายมาตรการ LTV สำหรับบ้านหลังที่ 2 และ 3 นั้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา หากการปรับมาตรการเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อาจจะช่วยให้ยอดสินเชื่อบ้านมีการเติบโตเพิ่มขึ้นได้บ้างในกลุ่มบ้านที่มีมูลค่าสูง ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระดับหนึ่ง
ถึงแม้การผ่อนปรนมาตรการ LTV จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อบ้าน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา ขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนและการฟื้นตัวที่ช้าก็เป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของสินเชื่อบ้านโดยรวมในปี 2568
ขอบคุณข้อมูลจาก bangkokbiznews.com
จีดีพีไทยปี68กับตลาดอสังหาฯโตไม่ต่างจากปีก่อน

บทความ “สุรเชษฐ กองชีพ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาคุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย ชี้ จีดีพีไทยปี68กับตลาดอสังหาฯโตไม่ต่างจากปีก่อน การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี68 ไม่แตกต่างจากปี67 หนี้ครัวเรือน ปัญหาการขอสินเชื่อ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยการคาดการณ์ของภาวะเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ.2568 ว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 2.3-3.3% หรือถ้าเป็นการระบุแบบชัดเจนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.8% มากกว่าปีพ.ศ.2567 อยู่ที่ 2.5% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักที่มีผลให้ภาวะเศรษฐกิจของปีพ.ศ.2568 มีความเป็นไปได้ที่จะมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว มีทั้งเรื่องในประเทศ และต่างประเทศ
เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐบาลที่มากขึ้นเพราะงบประมาณที่จะใช้จ่ายมากกว่าปีก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีความเป็นไปได้ที่จะมากขึ้นแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะยังไม่อยู่ในจุดที่ดีก็ตาม
การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและมีความเป็นไปได้ที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าปีที่แล้ว การส่งออกที่อาจจะมีการขยายตัวสูงขึ้นแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกากับประเทศต่างๆ แต่อาจจะเป็นผลดีกับประเทศไทยที่อาจจะมีการส่งออกสินค้าบางอย่างไปทดแทนสินค้าที่เจอกับกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา
แต่ความเสี่ยงในระดับโลกซึ่งอาจจะมีผลกับภาวะเศรษฐกิจของโลกหรือบางประเทศ เช่น การดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งในบางภูมิภาคที่อาจจะมีผลต่อราคานํ้ามัน การส่งออกของสินค้าเกษตรในบางประเทศอาจจะลับมาสู่ภาวะปกติหลังจากเจอภัยธรรมชาติไปก่อนหน้านี้ซึ่งจะมีผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง แต่ที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกำลังซื้อในประเทศ คือ ภาวะของหนี้ครัวเรือนที่สูงมากของคนไทย
หนี้ครัวเรือนของคนไทย ณ ไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2567 อยู่ที่ประมาณ 89% ของGDP อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2566 แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ปรับเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัตถุประสงค์หรือประเภทของสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมีผลต่อการใช้จ่ายของคนไทยแน่นอน

เนื่องจากต้องใช้เงินส่วนหนึ่งเพื่อการชำระหนี้สิน รวมไปถึงคนจำนวนหนึ่งมีปัญหาในการชำระคืนหนี้สินและมีปัญหากับสถาบันการเงินจนอาจจะไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายแล้วปัญหาที่คนไทยที่มีปัญหาหนี้สินเจอทั้งในกลุ่มที่ยังมีความสามารถในการผ่อนชำระได้ และกลุ่มที่มีปัญหากับสถาบันการเงินจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของที่มีมูลค่าสูงรวมไปถึงที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนกลายเป็น หนึ่ง ในปัญหาที่มีผลต่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก
ทั้งการที่สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในมูลค่าที่ตํ่ากว่ามูลค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปีพ.ศ.2568 เป็นไปได้ที่อาจจะไม่แตกต่างจากปีพ.ศ.2567 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวมากขึ้นก็ตาม เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการซื้อที่อยู่อาศัยอาจจะไม่ได้มีการปรับตัวที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ
ที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม กลุ่มผู้ประกอบการอาจจะมีการกระตุ้นกำลังซื้อด้วยโปรโมชั่นต่างๆ และการลดราคาบ้าง แต่สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลก็อาจจะไม่สามารถกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจระยะยาวได้
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 24ก.พ.“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจชะลอการแข็งค่าลงบ้าง ควรติดตามพัฒนาการสถานการณ์การเมืองเยอรมนี การเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อทิศทางเงินยูโร ส่วนฟันด์โฟลว์ในตลาดทุนไทย มีโอกาสเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติบ้าง
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 24ก.พ.2568 ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.61 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่านับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.52-33.64 บาทต่อดอลลาร์)
โดยเงินบาทได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็นราว 80% จากรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global ในเดือนกุมภาพันธ์
ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด พอสมควร อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นชัดเจน ตามความหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติมในปีนี้
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ฝั่งสหรัฐฯ – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนมกราคม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 85% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ และมีโอกาสราว 86% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง หรือ 25bps ในปีหน้า
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้า รวมถึงรอจับตาแนวโน้มยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่อาจทยอยสูงขึ้นได้ หลัง Department of Government Efficiency (DOGE) ได้ทยอยปลดพนักงาน/ข้าราชการในหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ
▪ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate) ของเยอรมนี ซึ่งอาจช่วยสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเข้าใกล้การเลือกตั้งของเยอรมนีได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว
ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่สำรวจโดย ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกราว 3 ครั้ง ในปีนี้
▪ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว
รวมถึง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 2.75% เพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง
ท่ามกลางความกังวลปัญหาการเมือง ความเสี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงความเสี่ยงที่ความต้องการสินค้าประเภท Semiconductor อาจลดลง
โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า BOK จะสามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 75bps สู่ระดับ 2.00% ในปีนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ตราบใดที่เงินวอนเกาหลี (KRW) ไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าลงหนัก
ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน (Manufacturing & Services PMIs) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน
▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) รวมถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
โดยเราคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังเป็นการรักษาขีดความสามารถ (Policy Space) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นชัดเจน (อาทิ ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0)
สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น เราคงมองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways และมีโอกาสที่จะทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่า จนทะลุโซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้มากนัก หากราคาทองคำ (XAUUSD) เริ่มเข้าสู่ช่วงการพักฐาน (Correction) ซึ่งหากประเมินในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะย่อตัวลงบ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways
นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้นได้ ในกรณีที่ ราคาทองคำเข้าสู่แนวโน้มขาลง หากราคาทองคำปรับตัวลดลงจนหลุดโซน 2,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างชัดเจน เมื่อประเมินจากกลยุทธ์ Trend-Following
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจชะลอลงบ้าง และโดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่เสี่ยงย่อตัวลง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways)
ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจยังมีความผันผวนอยู่พอสมควร และมีโอกาสเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ทว่าการอ่อนค่าก็อาจชะลอลงบ้าง โดยเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หรือในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด
นอกจากนี้ ควรติดตามพัฒนาการสถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งและแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR)
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.85 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
บูม-กษิดิศ ปราบหนุ่มมาเลย์ประเดิมชัยเทนนิสชาลเลนเจอร์อินเดีย

การแข่งขันเทนนิสเอทีพี ชาลเลนเจอร์ทัวร์ ระดับ 125 รายการ “เบนกาลูรู โอเพ่น” ชิงเงินรางวัลรวม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (6.7 ล้านบาท) ที่ประเทศอินเดีย รายการนี้มีนักเทนนิสหนุ่มไทย อย่าง “บูม” กษิดิศ สำเร็จ มือ 421 ของโลก ร่วมลงทำการแข่งขันโดย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันในรอบคัดเลือก
เกมในรอบคัดเลือก รอบแรก “บูม” กษิดิศ สำเร็จ นักหวดหนุ่มไทย มือ 421 ของโลก และมือวาง 9 ในรอบคัดเลือก ลงดวลกับ มิตสึกิ เหว่ย คัง ลีออง มือ 618 ของโลก จากมาเลเซีย แมตช์นี้ กษิดิศ อาศัยเกมกราวน์สโตรคที่หนักแน่นและดุดัน เป็นฝ่ายหวดชนะ 2-0 เซต 6-4, 7-6(7-5) กษิดิศ ผ่านเข้ารอบคัดเลือก รอบสอง พบกับผู้ชนะระหว่าง ยาโคโป แบร์เร็ตตินี่ มือ 318 ของโลกจากอิตาลี กับ กริช ทยากี จากอินเดีย ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก siamsport.co.th
สาเหตุของอาการ “แสบท้อง” เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

แสบท้อง เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างคอและกระเพาะอาหาร รวมถึงอาจเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนทำให้รู้สึกแสบร้อนในท้อง อาการปวดแสบท้องอาจรุนแรงขึ้นหลังรับประทานอาหาร หรือเมื่อนอนราบ แม้จะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป แต่หากเป็นบ่อยและรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด
อาการแสบท้อง เป็นอย่างไร
แสบท้อง คือ อาการแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน มักเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างคอและกระเพาะอาหาร จนอาจส่งผลให้มีอาการปวดแสบท้อง หากมีอาการมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์อาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนที่ควรรักษาทันที นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหารบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้เช่นกัน
อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกับอาการแสบท้อง
เมื่อเกิดอาการแสบท้อง อาจเกิดอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
- ปากมีรสขมหรือรสเปรี้ยว
- กลืนลำบาก
- เจ็บหน้าอกหลังรับประทานอาหาร
- อาการปวดแสบร้อนอาจหนักขึ้นเมื่อนอนราบ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดเมื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาในการรับประทานอาหาร เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารลำบากจนทำให้น้ำหนักลด รักษาด้วยยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแสบท้องมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอ
สาเหตุของอาการแสบท้อง
ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้
- กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน อาหารทอด กระเทียม หัวหอม ผลไม้รสเปรี้ยว ซึ่งอาจไปเพิ่มกรด จนมีกรดเกินในกระเพาะอาหาร
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ความเครียด ความวิตกกังวล อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือกรดไหลย้อน
- การสูบบุหรี่ อาจกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวช้าหรือน้อยลง จนอาจส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารได้
การวินิจฉัยอาการแสบท้อง
คุณหมออาจวินิจฉัยอาการแสบท้องด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การส่องกล้อง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร
- การเอกซเรย์ โดยผู้ป่วยต้องรับประทานสารละลายแบเรียมซัลเฟต (Barium sulfate) ก่อนเข้ารับการเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยให้เกิดภาพภายในระบบทางเดินอาหารที่คมชัดมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการแสบท้องได้ง่ายขึ้น
- การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในหลอดอาหาร เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือไม่
การรักษาอาการแสบท้อง
อาการแสบท้องอาจรักษาได้ด้วยยาที่จำหน่ายในร้านขายยา เช่น
- ยาลดกรด อาจช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการแสบท้อง และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยได้ด้วย
- ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งปริมาณการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole)
การป้องกันอาการแสบท้อง
อาการแสบท้องอาจป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจกระตุ้นกรดไหลย้อน เช่น อาหารเผ็ด อาหารมัน เครื่องดื่มคาเฟอีน
- แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ และรับประทานอาหารให้เป็นเวลา
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อให้อาหารย่อย หรือหากนอนควรนอนหนุนหมอนสูง
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่รัดแน่นเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามไม่เครียด
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
ธุรกิจสื่อใช้ ‘Generative AI’ สร้างนิยามใหม่ การเติบโตปี 2025

วันนี้บริษัทด้านมีเดียได้ก้าวจากขั้นตอนการทดสอบและหาข้อมูล “Generative AI” ไปสู่การใช้งานจริงในโครงการต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่วัดผลได้
ทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้เปลี่ยนจาก “เราควรใช้หรือไม่” มาเป็น “เมื่อไหร่จะใช้” แทน
ปีนี้เห็นได้ชัดว่าสื่อชั้นนำและบริษัทมีเดียและความบันเทิงต่างๆ เริ่มที่จะหันมาปรับมาใช้แนวทาง “AI-first” แทนที่จะเป็น AI-after
อรรณพ ศิริติกุล ผู้อำนวยการ กูเกิล คลาวด์ ประเทศไทย กล่าว
แนวทางนี้นับเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถใช้ศักยภาพของ AI ได้อย่างเต็มที่ โดยผสานเทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการการทำงานอย่างแนบเนียน พร้อมทำให้ AI กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรม ประสิทธิภาพ และการเติบโตในทุกด้านของธุรกิจ
‘3 เทรนด์ AI’ ที่กำลังกำหนดอนาคตของสื่อและความบันเทิง
1. Multimodal AI ขับเคลื่อนประสบการณ์สื่อที่โต้ตอบได้และเข้าถึงง่าย
ด้วยความสามารถในการช่วยสร้างสรรค์เนื้อหารูปแบบใหม่ multimodal AI สามารถพลิกโฉมวิธีที่เราปฏิสัมพันธ์กับสื่อได้
โดยโมเดล gen AI เหล่านี้สามารถประมวลผลข้อมูลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้อความ เสียง รูปภาพ วิดีโอ หรือแม้กระทั่งดนตรี และแปลงคำสั่งเหล่านั้นเป็นผลลัพธ์ในรูปแบบต่างๆ ช่วยให้ทั้งผู้ใช้มืออาชีพและผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าใจ สร้างสรรค์ และปรับแต่งคอนเทนต์ได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
เบื้องหลังการทำงาน กองบรรณาธิการข่าวและโปรดิวเซอร์กำลังใช้ multimodal AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการพัฒนาเนื้อหา และค้นพบโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน
AI agents พลิกโฉมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสื่อทั้งหมด
AI Agents จะถูกนำมาใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสื่อ ช่วยให้การสร้างเนื้อหาใช้เวลาน้อยลงและลดต้นทุน พร้อมทั้งดึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคเนื้อหา เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้
ด้วยความสามารถในการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล AI agents จะช่วยระบุจุดที่เป็นอุปสรรคในกระบวนการทำงาน ปรับปรุงการควบคุมเนื้อหา และปรับแต่งการกระจายเนื้อหาเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกถึงความชอบของผู้ชมและแนวโน้มตลาด AI agents จะช่วยให้ผู้จัดพิมพ์และผู้สร้างสรรค์เนื้อหาสามารถสร้างเนื้อหาที่ทันท่วงที และปรับแคมเปญโฆษณาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด
3. Gen AI เปลี่ยนคีย์เวิร์ดและคำถามให้กลายเป็นบริบทใหม่ เพื่อพลิกโฉมวิธีการค้นพบเนื้อหา
ในปี 2025 ประสบการณ์ของลูกค้าในอุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิงจะพัฒนาไปจากการบริโภคเนื้อหาแบบพาสซีฟ สู่การสนทนาที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการส่วนบุคคล นอกเหนือไปจากแนวทางแบบเดิมๆ ที่อาศัยคีย์เวิร์ดที่เป็นตัวหนังสือและโครงสร้างคำถาม
ความเข้าใจเชิงความหมายของ gen AI หรือ semantic จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถถอดรหัส ‘เจตนาที่แท้จริง’ ของผู้บริโภคได้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางภาษา ปัจจัยตามบริบท และการตั้งค่าของผู้ใช้ เพื่อส่งมอบคำตอบและคำแนะนำที่มีความเกี่ยวข้องสูงและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างแม่นยำ
‘ความคิดสร้างสรรค์’ ของมนุษย์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ
AI กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างและบริโภคเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ multimodal และ AI agents ไปจนถึงความสามารถในการค้นหาที่ล้ำหน้า
อย่างไรก็ตาม ความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยความสามารถในการเชื่อมโยงกับผู้ชมในระดับอารมณ์ เล่าเรื่องที่น่าดึงดูดใจ และถ่ายทอดมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ล้วนเป็นคุณลักษณะที่ AI ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
โดยสรุป การนำ AI มาใช้คือการเสริมพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ด้วยเครื่องมือและความสามารถใหม่ ๆ ที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ขยายขีดจำกัดของงานสร้างสรรค์ และสร้างวิสัยทัศน์ของตนให้เป็นจริงในรูปแบบที่น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น โดยการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI เพื่อยกระดับงานการสร้างสรรค์นี้ จะเป็นสิ่งสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของสื่อและความบันเทิงในอนาคต
ยูสเคสที่น่าสนใจ
- South China Morning Post : ใช้ AI ทำให้การแท็ก จัดหมวดหมู่ และค้นหารูปภาพนับล้านที่สะสมมาเป็นเวลากว่า 115 ปี มีประสิทธิภาพและเป็นไปแบบอัตโนมัติ
- Fox Sports : กำลังใช้ Gen AI วิเคราะห์ฟุตเทจที่สั่งสมมานานหลายทศวรรษ จัดการคลังวิดีโอและรูปภาพมากกว่า 2.2 ล้านรายการ ทำให้สามารถระบุประเภทของช่วงเวลาต่างๆ ในวิดีโอได้โดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งจัดระเบียบ และจัดเก็บให้ง่ายต่อการเข้าถึง
- Warner Brothers Discovery : ใช้ Gen AI ช่วยเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหา เช่น สร้างคำบรรยายแบบอัตโนมัติ สามารถช่วยให้ทีมงานลดเวลาที่ใช้ในการสร้างคำบรรยายลงถึง 80%
- AsiaOne : ได้สร้างกระบวนการทำงานด้วย AI ที่สามารถวิเคราะห์บทความที่นักข่าวอัปโหลดแบบเรียลไทม์ โดยการนำ AI เข้ามาปรับใช้ทำให้ผู้จัดพิมพ์สามารถดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ในการลงโฆษณา และเพิ่มประสิทธิภาพเนื้อหาได้ถึง 40%
- TIME Inc. : ใช้ gen AI เพื่อเชื่อมโยงผู้อ่านกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
- Spotify และ Paramount+ : เริ่มใช้ Gen AI เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาเสียงและวิดีโอ รวมถึงปรับปรุงข้อมูลอภิพันธุ์ (metadata) ของเนื้อหา ซึ่งช่วยยกระดับคำแนะนำที่ปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ใช้ในทุกๆ วัน
- Forbes : นำ AI มาใช้ในการรวบรวมเนื้อหาที่เก็บไว้ในคลังตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้และปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้อ่านแต่ละราย
ขอบคุณข้อมูลจาก bangkokbiznews.com
If clause ใช้ในบทสนทนาอย่างไร

ประโยค “If Clause” หรือประโยคเงื่อนไข คงเป็นหลักไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษที่ใครหลายคนอาจจะผ่านตากันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้พูดถึงถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นและเหตุการณ์อะไรจะตามมาในภายหลัง จากคำว่า “If” ที่แปลว่า “ถ้า” นั่นเอง แต่อาจจะมีคำสับสนงงงวยว่า แล้วมันจะนำไปใช้ในการสนทนาอย่างไร เพื่อการนี้ Engduo Thailand สถาบันสอนภาษาอังกฤษ จึงจะพาทุกคนมารู้จักกับ If Clause มากขึ้น กับ If Clause ทั้ง 4 แบบ พร้อมกับประโยคตัวอย่าง ในฉบับที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง
โครงสร้าง: ประโยคเงื่อนไข (If = ถ้า) , ประโยคที่เป็นผลตามมา
(Conditional Clause) (Result Clause)
- Type 0 (ประเภทที่ 0)
ประเภทที่ 0 ในประโยคเงื่อนไขนี้ เราจะนำไปใช้พูดในประโยคที่เกิดขึ้นจริง เน้นว่าเกิดขึ้นจึง ใน ณ ที่นี้คือการเกิดขึ้นตามธรรมชาติเกิดขึ้นจริงโดยไม่ต้องสงสัยหรืออาจเป็นสิ่งที่ประธานทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ยังใช้เป็นประโยคคำสั่งได้อีกด้วย โดยประเภทนี้จะใช้โครงสร้าง Present Simple Tense เป็นหลักทั้งหน้าหลัง
โครงสร้าง: If + Present Simple (S + V1), Present Simple (S + V1)
ตัวอย่าง:
- If the rain stops, the colorful rainbow appears.
เมื่อฝนหยุด สายรุ้งที่มีสดใสก็จะปรากฏขึ้น (สายรุ้งขึ้นหลังฝนตกเสมอ)
- If you freeze water, it becomes a solid.
ถ้าคุณเอาน้ำเปล่าไปแช่แข็ง มันจะกลายเป็นของแข็ง (น้ำเป็นของเหลว เมื่อเอาไปแช่แข็งก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง)
- If I wake up early in the morning, I always go jogging at the park.
ถ้าฉันตื่นแต่เช้า ฉันก็มักจะไปวิ่งจ็อกกิ้งที่สวนสาธารณะอยู่เสมอ (ฉันมักจะไปวิ่งสวนสาธารณะตลอดเวลาตื่นแต่เช้า)
- Meet me at house if you do not know where to go.
มาเจอฉันที่บ้าน หากเธอไม่รู้จะไปไหนดี (คิดไม่ออกว่าจะไปไหนก็มาเจอกันที่บ้าน)
- Type 1 (ประเภทที่ 1)
เขยิบขึ้นมาอีกขึ้นกับประเภทที่ 1 ที่มักจะได้ใช้บ่อยพอ ๆ กับข้อแรกเลย แต่เป็นประเภทที่ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนแล้วจะมีอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ โดยประเภทนี้จะมี Future Simple Tense เข้ามาเป็นประโยคของผลที่ตามมา แต่นอกจากนี้ยังสามารถใช้ modal verb ช่องแรก (กริยาช่วย) มาแทน will ได้ เช่น can, shall, should, may, must
โครงสร้าง: If + Present Simple (S + V1), Future Simple (S + will (modal v.) + V1)
ตัวอย่าง:
- If you do not hurry, you will miss the train.
ถ้าเธอไม่รีบ เธอจะตกรถไฟนะ (แน่นอนว่า ถ้าไม่รีบก็ตกรถไฟอย่างแน่นอน)
- I will stay at home if it is hot outside.
ฉันจะอยู่บ้าน ถ้าข้างนอกอากาศร้อน (เวลาอากาศร้อน อาจจะไม่ออกข้างนอก แต่อยู่บ้านแทน)
- She will be angry if you are late today.
เธอคงจะโกรธ หากคุณไปสายวันนี้ (ถ้าเขาไปสายวันนี้ เธอต้องโกรธแน่ ๆ อาจจะเคยสายมาแล้ว)
- If you want to pass the exam, you should concentrate with your study.
ถ้าเธออยากผ่านการสอบ เธอก็ควรจะตั้งใจอ่านหนังสือสิ (ถ้าไม่ตั้งใจอ่านหนังสือก็สอบไม่ผ่าน)
- Type 2 (ประเภทที่ 2)
ประเภทที่ 2 คือประโยคเงื่อนไขที่พูดถึงเหตุการณ์สมมติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นหรือไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันหรืออนาคตได้เลย โดยจะเป็นการนำ Past Simple เป็นประโยคเงื่อนไขเข้ามาใช้คู่กับ would หรือ modal verb ได้อย่าง should, could, might
โครงสร้าง: If + Past Simple (S + V2), S + would (past modal v.) + V1
ตัวอย่าง:
- If she studied harder last month, she would get good grades.
ถ้าเดือนที่แล้วหล่อนตั้งใจเรียน หล่อนคงจะได้เกรดดีไปแล้ว (เดือนที่แล้วไม่ตั้งใจเรียน เกรดเลยไม่ดี)
- If I won the lottery, I could travel around the world.
ถ้าฉันถูกหวย ฉันคงสามารถไปเที่ยวรอบโลกได้ (ยังไม่ถูกหวย เลยยังไม่ได้ไปเที่ยวรอบโลก)
- We would build a snowman if it snowed.
เราคงจะปั้นตุ๊กตาหิมะด้วยกัน ถ้าหิมะตก (ตอนนี้ปั้นไม่ได้ เพราะหิมะไม่ตก)
- Type 3 (ประเภทที่ 3)
ประเภทสุดท้ายใช้กับเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับในอดีต เหตุการณ์ที่ผู้พูดไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ ชนิดเพ้อฝันขั้นกว่ายิ่งกว่าประเภทที่ 2 โดยใช้โครงสร้าง Past Perfect คู่กับ would + have + V3
โครงสร้าง: If + Past Perfect (S + had + V3), S + would + have + V3
- If it had rained last year, these trees would not have died.
ถ้าปีที่แล้วฝนตก ต้นไม้พวกนี้คงไม่ตาย (ตอนนี้ต้นไม้ได้ตายหมดแล้ว ไม่สามารถฟื้นได้)
- If he had finished college, he would have become a lawyer.
ถ้าเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาคงจะได้เป็นทนายไปแล้ว (แต่เขาเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้เป็นทนาย)
- If I had known you were coming here, I would have cooked a meal.
ถ้าฉันรู้ว่าเธอกำลังมา ฉันคงจะทำอาหารรอแล้ว (ไม่รู้ว่าจะมา จึงไม่ได้ทำอาหารเตรียมไว้)
ขอบคุณข้อมูลจาก engduothailand.com
12 อาหารอาจช่วยลดเสี่ยง “มะเร็งเต้านม” แนะนำสาวๆ ควรเพิ่มไปในมื้ออาหาร

ความเสียหายของดีเอ็นเอและการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม การถ่ายทอดการกลายพันธุ์ในยีนบางชนิด เช่น BRCA1 และ BRCA2 สามารถเพิ่มความเสี่ยงของคุณได้เช่นเดียวกับโรคอ้วน วิถีชีวิตก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน งานวิจัยเชื่อมโยงการสูบบุหรี่ การสัมผัสฮอร์โมนเอสโตรเจน การดื่มสุราหนัก และรูปแบบการบริโภคอาหารบางอย่าง รวมถึงอาหารตะวันตกที่มีอาหารแปรรูปสูง กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งเต้านม
เป็นที่น่าสังเกตว่า การศึกษาเชื่อมโยงรูปแบบการบริโภคอาหารอื่นๆ เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน กับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ อาหารบางชนิดอาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ต่อไปนี้คือ 12 อาหารที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม และอาหารบางชนิดที่ควรหลีกเลี่ยง
มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม แม้ว่าการปรับปรุงอาหารของคุณจะสามารถปรับปรุงสุขภาพโดยรวมและลดความเสี่ยงมะเร็งโดยทั่วไปได้ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมทั้งหมด
แม้จะมีอาหารที่อุดมด้วยสารอาหาร คุณก็ยังคงต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำ เช่น การตรวจแมมโมแกรมและการตรวจด้วยตนเอง ท้ายที่สุด การตรวจพบและการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าอาหารเหล่านี้อาจลดความเสี่ยงของคุณได้
12 อาหารอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
1.ผักใบเขียว นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของผักใบเขียวที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง
- คะน้า
- ผักโขม
- ผักกาดเขียว
ผักใบเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนอยด์ รวมถึงเบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน ระดับสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ในเลือดที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลง การวิเคราะห์ในปี 2012 จากการศึกษา 8 ชิ้นในผู้หญิง 7,011 คน พบว่าผู้ที่มีระดับแคโรทีนอยด์สูงกว่ามีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีระดับต่ำกว่า
เช่นเดียวกัน การศึกษาขนาดใหญ่ในปี 2015 เชื่อมโยงระดับแคโรทีนอยด์รวมในเลือดที่สูงขึ้น กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลง 18–28% รวมถึงความเสี่ยงของการเกิดซ้ำและการเสียชีวิตที่ลดลงในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว การศึกษานี้ติดตามผู้หญิง 32,826 คนในช่วง 20 ปี
งานวิจัยบางชิ้นพบว่าโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินบีที่เข้มข้นในผักใบเขียว อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยโดยรวมเกี่ยวกับผลกระทบของปริมาณโฟเลตต่อความเสี่ยงมะเร็งเต้านมนั้นยังมีความหลากหลาย ทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
2.ผักตระกูลกะหล่ำ ผักตระกูลกะหล่ำ รวมถึงกะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และบรอกโคลี อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมของคุณได้ ผักตระกูลกะหล่ำมีสารประกอบกลูโคซิโนเลต ซึ่งร่างกายของคุณสามารถเปลี่ยนเป็นโมเลกุลที่เรียกว่าไอโซไทโอไซยาเนตได้ ซึ่งมีศักยภาพในการต้านมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ
เป็นที่น่าสังเกตว่า การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงชาวจีนตอนใต้ 1,493 คน เชื่อมโยงปริมาณผักตระกูลกะหล่ำทั้งหมดที่สูงขึ้น กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลง
3.ผักตระกูลหอม กระเทียม หอมใหญ่ และกระเทียมหอม เป็นผักตระกูลหอมทั้งหมด พวกมันมีสารอาหารมากมาย รวมถึงสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ สารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ และวิตามินซี ซึ่งอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ
การศึกษาในปี 2020 ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง 660 คนในเปอร์โตริโก เชื่อมโยงการบริโภคกระเทียมและหอมใหญ่ในปริมาณมาก กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลง
เช่นเดียวกัน การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงชาวอิหร่าน 285 คน พบว่าการบริโภคกระเทียมและกระเทียมหอมในปริมาณมาก อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ การบริโภคหอมใหญ่ดิบในปริมาณมากอาจมีผลป้องกันเล็กน้อยเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ การศึกษายังพบว่าการบริโภคหอมใหญ่ปรุงสุกในปริมาณมาก มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับหอมใหญ่และสุขภาพเต้านม
4.ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้รสเปรี้ยว ได้แก่
- ส้ม
- เกรปฟรุต
- มะนาว
- มะนาวเหลือง
- ส้มเขียวหวาน
ผลไม้รสเปรี้ยวและเปลือกของมันอุดมไปด้วยสารประกอบที่อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม ได้แก่
- โฟเลต
- วิตามินซี
- แคโรทีนอยด์ เช่น เบต้าคริปโทแซนทินและเบต้าแคโรทีน
- สารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ เช่น เควอซิติน เฮสเพอเรติน และนาริงเจนิน
สารอาหารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง และต้านการอักเสบ ในความเป็นจริง งานวิจัยเชื่อมโยงผลไม้รสเปรี้ยวกับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งเต้านม การทบทวนวรรณกรรมในปี 2013 ที่เก่ากว่าของการศึกษา 6 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับผู้คน 8,393 คน เชื่อมโยงการบริโภคผลไม้รสเปรี้ยวในปริมาณมาก กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลง 10%
5.เบอร์รี การรับประทานเบอร์รีเป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด รวมถึงมะเร็งเต้านม สารต้านอนุมูลอิสระในเบอร์รี รวมถึงฟลาโวนอยด์และแอนโทไซยานิน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ การพัฒนาและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า การศึกษาในปี 2013 ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง 75,929 คน เชื่อมโยงการบริโภคเบอร์รีในปริมาณที่สูงขึ้น โดยเฉพาะบลูเบอร์รี กับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งเต้านมชนิดเอสโตรเจนรีเซพเตอร์ลบ
6.ลูกพีช แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และองุ่น ผลไม้ โดยเฉพาะลูกพีช แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และองุ่น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม ในการศึกษาขนาดใหญ่ในปี 2013 ที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้หญิงที่บริโภคลูกพีชอย่างน้อยสองหน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดเอสโตรเจนรีเซพเตอร์ลบลดลงถึง 41%
ที่น่าสนใจคือ การศึกษาเก่ากว่าในปี 2014 เปิดเผยว่าสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอลจากลูกพีช ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์ที่ฝังในแบบจำลองสัตว์ การศึกษาที่วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้หญิงหลายแสนคนยังเชื่อมโยงการบริโภคแอปเปิ้ลและลูกแพร์กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลง
การศึกษาในหลอดทดลองบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่าสารประกอบบางชนิดที่พบในองุ่น รวมถึงฟลาโวนอยด์และแอนโทไซยานิน สามารถป้องกันเซลล์มะเร็งเต้านมได้ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์
7.ปลาที่มีไขมัน ปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพที่น่าประทับใจ ไขมันโอเมก้า 3 ซีลีเนียม และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอสตาแซนธิน อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้ การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการกินปลาที่มีไขมันอาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมของคุณได้โดยเฉพาะ
การทบทวนวรรณกรรมในปี 2013 ที่เก่ากว่า วิเคราะห์การศึกษา 21 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งหมด 883,585 คน นักวิจัยพบว่าผู้ที่มีการบริโภคโอเมก้า 3 จากแหล่งอาหารทะเลสูงสุด มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมลดลงถึง 14% เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคน้อยที่สุด การศึกษาอื่นๆ เกี่ยวกับการบริโภคปลาและกรดไขมันของมันรายงานผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน การปรับสมดุลอัตราส่วนโอเมก้า 3 ต่อโอเมก้า 6 โดยการกินปลาที่มีไขมันมากขึ้น และน้ำมันแปรรูปและอาหารแปรรูปพิเศษน้อยลง อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมของคุณได้เช่นกัน
8.อาหารหมักดอง อาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ และเซาเออร์เคราท์ มีโปรไบโอติกและสารอาหารอื่นๆ ที่อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ การทบทวนวรรณกรรมในปี 2015 จากการศึกษา 27 ชิ้น เชื่อมโยงการบริโภคผลิตภัณฑ์นม รวมถึงผลิตภัณฑ์นมหมักดอง เช่น โยเกิร์ต กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านมที่ลดลงในประชากรทั้งตะวันตกและเอเชีย
การศึกษาในหลอดทดลองและการวิจัยในสัตว์ชี้ให้เห็นว่าผลการป้องกันนี้เกี่ยวข้องกับผลกระทบในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของโปรไบโอติกบางชนิด
9.ถั่ว ถั่วอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณไฟเบอร์ที่สูงอาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ การศึกษาในปี 2018 ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง 4,706 คน พบว่าการบริโภคถั่วในปริมาณมาก ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการบริโภคถั่วในปริมาณน้อย นอกจากนี้ ในการศึกษาในปี 2020 ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงชาวไนจีเรีย 1,260 คน ผู้ที่มีการบริโภคถั่วสูงสุด มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมลดลงถึง 28% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีการบริโภคน้อยที่สุด
10.สมุนไพรและเครื่องเทศ สมุนไพรและเครื่องเทศมีสารประกอบจากพืชที่อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งรวมถึงวิตามิน กรดไขมัน และสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล ตัวอย่างเช่น ออริกาโนมีสารต้านอนุมูลอิสระคาร์วาครอลและกรดโรสมารินิก การศึกษาในหลอดทดลองในปี 2017 พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้แสดงฤทธิ์ต้านมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญต่อสายเซลล์มะเร็งเต้านมที่รุนแรง
เคอร์คูมิน ซึ่งเป็นสารประกอบออกฤทธิ์หลักในขมิ้นชัน ก็แสดงคุณสมบัติต้านมะเร็งที่สำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับอะพิเจนิน ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์ที่เข้มข้นในผักชีฝรั่ง เนื่องจากสมุนไพรและเครื่องเทศอื่นๆ อีกมากมายมีฤทธิ์ต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน จึงเป็นความคิดที่ดีที่จะรวมสมุนไพรและเครื่องเทศหลากหลายชนิดไว้ในอาหารของคุณ เช่น ไทม์ เครื่องเทศแกง และขิง
11.ธัญพืชเต็มเมล็ด ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวสาลี ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ควินัว และข้าวไรย์ อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ รวมถึงไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ยิ่งไปกว่านั้น พวกมันอาจมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ
ในความเป็นจริง การศึกษาในปี 2016 พบว่าการบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดมากกว่าเจ็ดหน่วยบริโภคต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง การศึกษาอีกชิ้นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงวัยกลางคน 10,812 คน แสดงให้เห็นว่าการกินคาร์โบไฮเดรตคุณภาพสูงมากขึ้น เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของการเกิดมะเร็งเต้านมในช่วง 12 ปี
นอกจากนี้งานวิจัยอื่นๆ ยังชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มธัญพืชเต็มเมล็ดในอาหารของคุณ อาจช่วยป้องกันมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด รวมถึงมะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งหลอดอาหาร
12.วอลนัท วอลนัทมีประโยชน์มากมายและเป็นแหล่งไขมันที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ รวมถึงกรดอัลฟาไลโนเลนิก ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มวอลนัทและถั่วชนิดอื่นๆ ในอาหารของคุณ อาจช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ จากการศึกษาในปี 2015 ที่เกี่ยวข้องกับคน 201 คน ผู้ที่บริโภควอลนัท ถั่วลิสง และอัลมอนด์ในปริมาณสูงสุดในแต่ละสัปดาห์ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่า 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่บริโภคถั่วเลย
การศึกษาขนาดเล็กอีกชิ้นหนึ่งตรวจสอบผลกระทบของวอลนัทต่อผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม นักวิจัยพบว่าการบริโภควอลนัท 2 ออนซ์ (57 กรัม) ทุกวันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระดับของยีนเฉพาะที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านม นอกจากนี้ การศึกษาในหลอดทดลองในปี 2016 แสดงให้เห็นว่าสารประกอบบางชนิดที่แยกได้จากวอลนัท สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ถึง 63%
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
ราคาทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 24/02/2568
ชนิดทอง | ราคารับซื้อ กรัมละ | ราคารับซื้อ บาทละ | ราคาขาย บาทละ |
---|---|---|---|
ทองคำแท่ง 96.5% | n/a | 46,450.00 | 46,550.00 |
ทองรูปพรรณ 96.5% | 3,009.00 | 45,616.44 | 47,050.00 |
ทองรูปพรรณ 90% | 2,708.10 | 41,054.80 | n/a |
ทองรูปพรรณ 80% | 2,407.20 | 36,493.15 | n/a |
ทองรูปพรรณ 50% | 1,354.00 | 20,526.64 | n/a |
ทองรูปพรรณ 40% | 1,053.00 | 15,963.48 | n/a |
ทองรูปพรรณ 99.99% | 3,118.00 | 47,268.88 | n/a |
ราคาน้ำมันประจำวัน ราคาน้ำมันประจำวันที่ 24/02/2568
ปตท. | บางจาก | เชลล์ | เอสโซ่ | คาลเท็กซ์ | ![]() ไออาร์พีซี | พีที | ![]() ซัสโก้ | ![]() เพียว | ![]() พรุ่งนี้ | |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
แก๊สโซฮอล์ 95 | 35.65 | 35.65 | 36.15 | 35.65 | 35.65 | 35.65 | 35.65 | 35.65 | 35.65 | 35.65 |
แก๊สโซฮอล์ 91 | 35.28 | 35.28 | 35.78 | 35.28 | 35.28 | 35.28 | 35.28 | 35.28 | 35.28 | 35.28 |
แก๊สโซฮอล์ E20 | 33.44 | 33.44 | 33.94 | 33.44 | 33.44 | – | 33.44 | 33.44 | 33.44 | 33.44 |
แก๊สโซฮอล์ E85 | 32.09 | 32.09 | – | – | – | – | – | – | – | 32.09 |
แก๊สโซฮอล์ 95 พรีเมี่ยม | 44.24 | 49.84 | 49.84 | 49.84 | – | – | – | – | – | 44.24 |
เบนซิน 95 | 43.94 | – | – | – | 49.81 | – | 44.44 | 44.09 | – | 43.94 |
ดีเซล | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 | 32.94 |
ดีเซลพรีเมี่ยม | 44.94 | 47.14 | 49.84 | 47.14 | 47.14 | – | – | – | – | 44.94 |
แก๊ส NGV | 17.90 | 17.90 | – | – | – | – | – | – | – | 17.90 |