กรุงเทพฯ พื้นที่เสี่ยง ‘บ้านทรุด’ โยธาฯ เตรียม ‘เข้ม’ กันเกิดซ้ำ
จากข่าวครึกโครมที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ย่านรามคำแหงเมื่ออาคาร 2 ชั้น บริเวณ ซ.รามคำแหง 51/2 เกิดการทรุดตัว จนทำให้ผู้ที่สัญจรผ่านบริเวณนั้นบาดเจ็บถึง 2 ราย แม้ว่าในเบื้องต้นสาเหตุจะมาจากการรื้อถอนเพื่อก่อสร้างแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และปัจจุบันถูกระงับการรื้อถอน เพื่อตรวจสอบโครงสร้างแล้ว แต่ปัญหา ‘อาคารทรุด’ หรือ ‘บ้านทรุด’ ก็เป็นสิ่งที่เกิดให้เห็นซ้ำซาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายไม่ใช่น้อย โดยปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากการทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่คือการละเลยการตรวจสอบอาคาร
กรุงเทพฯ พื้นที่เสี่ยงทรุดตัว
พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว โดยชั้นดินบนสุดจะเป็นดินตะกอนในน้ำทะเล ทำให้ดินมีความอ่อนตัวมาก เรียกว่า ชั้นดินเหนียวอ่อน มีความหนาประมาณ 8-12 เมตร หากนับเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามภาพด้านบน ถือว่ามีชั้นดินเหนียวอ่อนที่มีความหนาแน่นสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ถึงแม้จะมีความหนาแน่นแต่ก็ไม่สามารถรับน้ำหนักอาคารได้โดยตรง จำเป็นจะต้องถมดินเพิ่ม และตอกเสาเข็มเพื่อถ่ายน้ำหนักอาคารลงไปสู่ชั้นดินด้านล่างที่แข็งแรงกว่า >>รู้เรื่องที่ดินก่อนสร้างบ้าน อาจจะประหยัดงบประมาณได้อีกเป็นล้าน
จากการศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีการเกิดแผ่นดินทรุดตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 1 เซนติเมตร และมีระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 1.8 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนของแผ่นดินอีกทั้งเมืองยังมีการขยายตัวทำให้แผ่นดินเกิดการทรุดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 พื้นที่รามคำแหงถือเป็นพื้นที่ที่เกิดการทรุดตัวมากที่สุดคือ กว่า 2 เซนติเมตร >>“ที่ดินทรุด” ปัญหาโลกแตกที่เช็กและแก้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
กรมโยธาฯ เตรียมเข้มตรวจสอบอาคาร
ปัญหาที่เกิดกับอาคารส่วนใหญ่มักเกิดจากการดัดแปลง ต่อเติมอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการละเลยการตรวจสอบอาคาร สำหรับปัญหานี้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังอยู่ระหว่างแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของสภาพอาคารในปัจจุบันมากขึ้น ได้แก่
- ทบทวนประเภทอาคารที่เข้าข่ายจะต้องจัดให้มีการตรวจสอบ โดยอาจเพิ่มเติมประเภทอาคารที่มีประชาชนเข้าไปใช้สอยจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนกวดวิชา หอพัก ฯลฯ
- เพิ่มเติมคำนิยามและข้อกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่า การตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร
- เพิ่มเรื่องจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและการพัฒนาทางด้านวิชาชีพ อาจต้องกำหนดระดับของผู้ตรวจสอบอาคาร ขีดความสามารถในการทำงานของผู้ตรวจสอบอาคารระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล
- กำหนดให้มีผู้ดูแลอาคารสำหรับอาคารบางประเภท เพื่อการบำรุงรักษา เช่น ลิฟต์ บันไดหนีไฟ ดูแลอย่างไร
- กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตรวจสอบ ป้องกันการใช้ดุลพินิจ ขั้นตอนการออกใบรับรอง คู่มือการตรวจสอบ
การตรวจสอบอาคารแบ่งเป็นการตรวจสอบประจำปี และการตรวจสอบใหญ่ทุก ๆ 5 ปี ปัจจุบันมีอาคารที่เข้าข่ายการตรวจสอบประมาณ 20,000 อาคาร ซึ่งประเภทอาคารที่กำหนดให้ต้องมีการตวจสอบมี 9 ประเภท ได้แก่
- อาคารชุมนุมคน (พื้นที่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือจุคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป)
- อาคารสูง (สูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (พื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
- โรงมหรสพ
- โรงแรม (ห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป)
- โรงงาน (สูงกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
- สถานบริการ (พื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป)
- อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด (พื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป)
- ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้าย (สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารมีพื้นที่ตั้งแต่ 25 เมตรขึ้นไป)
หากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการตรวจสอบอาคารมีโทษ ดังนี้
- จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ปรับเป็นรายวัน วันละไม่เกิน 10,000 บาท
- ถูกระงับการใช้อาคาร
จะเห็นได้ว่าปัญหา ‘อาคารทรุด’ หรือ ‘บ้านทรุด’ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นไกลตัว และส่วนใหญ่เกิดจากการละเลยของเจ้าของอาคารหรือที่อยู่อาศัย ดังนั้น การจะต่อเติม หรือดัดแปลงอาคาร ควรให้ความสำคัญกับความแข็งแรง มั่นคงเป็นหลัก เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น
ขอบคุณภาพจาก จส.100
ขอบคุณข้อมูลจาก ddproperty.com
เมื่อพื้นที่ถูก ‘จำกัด’ อนาคต ที่อยู่อาศัย อาจมีขนาดเล็กเท่ารูหนู
ประชากรโลกแห่มาอยู่ในเมืองมากขึ้น
กลไกไม่ซับซ้อนทางการตลาดในเรื่องของ ‘อุปสงค์’ และ ‘อุปทาน’ คือหนึ่งปัจจัยตัวบ่งชี้เรื่องราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับขึ้นเหมือนกัน ซึ่งเมื่อมีการเกาะกลุ่มของอุปสงค์มาก อุปทานย่อมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการที่ World Bank ได้ออกมาพยากรณ์จำนวนประชากรโลกว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 7.4 พันล้านคน เป็นมากกว่า 8 พันล้านคนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า และกว่า 60% ของประชากรเหล่านั้น จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตจะมีความเสถียรมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถขายสินค้าราคาแพงได้ เพราะประชากรส่วนใหญ่จะเกาะอยู่ในกลุ่ม middle-income แต่ก็เป็นไปได้ว่า ผู้ประกอบการจะใช้วิธีการลดขนาดที่อยู่อาศัยเพื่อปรับให้เข้ากับราคาที่ดินที่สูงขึ้นแทน
แนวโน้มการครองโสดของประชากรสมัยใหม่
อีกหนึ่งเทรนด์โลกที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ก็ได้ คือการที่ประชากรโลกจะมีแนวโน้มของการครองตัวเป็นโสดมากขึ้น จากรายงานการคาดการณ์ของ World Bank พบว่าในปี 2030 ประชากรที่เกิดใหม่จะลดลงปีละ 1.3% เหลือแค่ปีละ 0.9% นอกจากนั้นเว็บ Deloitte ยังเคยมีการนำเสนอเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากรโสดในอเมริกาว่ามีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 13 ปีข้างหน้า ส่งผลกระทบให้ความต้องการซื้อบ้านเปลี่ยนไปเป็นการเช่าแทน
สำหรับประเทศไทยพบว่าสถานะคนโสดในปี 2559 มีจำนวนคนโสดประมาณ 14.51 ล้านคนและสมรสประมาณ 34.41 ล้านคน แต่ในมี 2560 สถานะคนโสดสูงกว่าปี 2559 ประมาณ 4 แสนคน และสถานะการสมรสในปี 2560 ยังลดลงกว่าปี 2559 ถึง 6 แสนคน รวมถึงมีการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึง 2 พันกว่าคน แสดงให้เห็นว่า ประชากรไทยเป็นโสดเยอะขึ้น สมรสน้อยลง และมีการหย่าร้างสูงขึ้น
ขนาดที่อยู่อาศัยที่เล็กลงทุกทีในฮ่องกงและโตเกียว
‘ฮ่องกง’ เมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของราคาอสังหาฯที่แพงในระดับบ้าคลั่ง ราคาที่อยู่อาศัยในเมือง ห้องขนาด 14 ตร.ม. ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายไทยกำหนดขนาดขั้นต่ำด้วยซ้ำ มีราคาที่ประมาณ 12 ล้านบาท โดยปัจจุบันราคาบ้านในฮอ่งกงมีอัตราสูงถึง 18 เท่าของเงินเดือนโดยเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ ทั้งนี้มีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากภาษีซื้อขายที่ดินของรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งทำให้รัฐต้องตรึงราคาอสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อให้สามารถรายได้จากภาษีส่วนนี้ไม่ลดลงไปด้วย ทำให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงมีต้นทุนที่สูงตั้งแต่ต้น ฮ่องกงจึงกลายเป็นเมืองที่ที่อยู่อาศัยนั้นมีราคาไกลเกินเอื้อม ประชากรต้องใช้เงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเพื่อผ่อนที่อยู่อาศัยในขนาดเล็กมากๆเป็นเวลาถึง 36 ปี ยิ่งสำหรับคนมีรายได้น้อยแล้ว มีพื้นที่อยู่อาศัยเฉลี่ยต่อคนเพียงแค่ 4.6 ตร.ม.เท่านั้น
อีกด้านหนึ่ง ช่อง ANN News สื่อโทรทัศน์ของญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอห้องเช่าในอพาร์ตเม้นท์ใหม่เอี่ยมอายุ 1 ปีครึ่งในย่านธุรกิจใจกลางความเจริญอย่างชิบูย่า มีระยะห่างจากสถานีรถไฟฟ้าฮาตากายะเพียง 5 นาที ราคาค่าเช่าเดือนละ 18,000 บาท ฟังดูดีถ้าไม่รู้ว่าอพาร์ตเม้นท์แห่งนี้มี ขนาดห้องเพียงแค่ 4.86 ตร.ม.เท่านั้น! นอกจากนั้นในเมืองโตเกียวยังมีห้องขนาด 8 ตร.ม. ราคา 20,000 บาทต่อเดือนอีก ซึ่งนับว่าเป็นราคาแสนแพงสำหรับคุณภาพชีวิตในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว
ขนาดคอนโดมิเนียมในไทยที่ปรับขนาดเล็กลง
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมขนาดพื้นที่อยู่อาศัยในอาคารที่อยู่อาศัยรวมให้ไม่ต่ำกว่า 20 ตร.ม. ทำให้ไม่พบเห็นห้องขนาดเท่ารูหนูเหมือนประเทศตัวอย่างที่กล่าวมา แต่ปัจจุบันคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ที่เปิดขาย ในช่วง 8-9 ปีมานี้ มีการปรับขนาดแต่ละยูนิตเล็กลง
จากข้อมูลการสำรวจคอนโดมิเนียมที่ยังเปิดขายอยู่ในทำเลรัชโยธินและพหลโยธิน-จตุจักรโดย TerraBKK Research พบว่าสัดส่วน supply ในทำเลรัชโยธินส่วนใหญ่จะกองอยู่ที่ขนาด 26-35 ตร.ม. ถึงประมาณ 45% ของ supply ทั้งหมด (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2560) เช่นเดียวกับทำเลพหลโยธิน-จตุจักร ที่มีห้องขนาด 26-35 ตร.ม. เป็นสัดส่วนถึง 65% โดยแยกเป็นห้องขนาด 26-30 ตร.ม. สัดส่วน 34% และห้องขนาด 31-35 ตร.ม. สัดส่วน 31% (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2560) ข้อมูลที่น่าสนใจคือมีการทำห้องประเภทสตูดิโอกันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีขนาดห้องอยู่ที่ 21-22 ตร.ม. ซึ่งมากกว่าขั้นต่ำของกฎหมายเพียงแค่ 1-2 ตร.ม.เท่านั้น
โดยการปรับขนาดห้องเล็กลงของผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากทำเลและต้นทุนราคาที่ดินที่สูงมากขึ้น อาทิ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่เริ่มเปลี่ยนขนาดห้องแบบสตูดิโอจาก 26.5 ตร.ม. ในปี 2553 เป็น 21-21.5 ตร.ม. และปรับขนาดห้องแบบ 1 ห้องนอนจาก 35 ตร.ม. ในปี 2553 เป็น 24.5-30 ตร.ม. ในอีก 3-5 ปีต่อมา เป็นต้น
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคอนโดมิเนียมในยุคก่อนฟองสบู่แตกแล้วแตกต่างกันลิบลับ โดยคอนโดมิเนียมยุคเก่า ที่ก่อสร้างมาแล้ว 20-30 ปี เกือบทุกโครงการจะมีขนาดห้องที่เล็กที่สุดไม่ต่ำกว่า 40 ตร.ม. และส่วนใหญ่จะมีขนาดอยู่ที่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป เรียกได้ว่ายิ่งผุดมาราคาเท่าไร คนก็ยังมีกำลังจ่ายไหวอยู่ดี
มีแนวโน้มชัดเจนแล้วว่า ที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั้งคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเม้นท์ในยุคนี้นั้นจะมีขนาดที่เล็กลงมากขึ้น โดยเฉพาะในทำเลเมืองที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า อพาร์ตเม้นท์ห้องที่ขนาดเล็กที่สุดตามกฎหมายคือ 20 ตร.ม. ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยและเข้าออกโดยใช้คีย์การ์ดบนทำเลรัชดาภิเษก มีค่าเช่าเริ่มต้น 5,500 บาทต่อเดือน ซึ่งประชากรเมืองก็ยินดีที่จะยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการเดินทางและความปลอดภัยในการอยู่อาศัย
ที่อยู่อาศัยแบบ Micro apartment แบบนี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอพาร์ตเม้นท์เปิดใหม่ช่วง 1-3 ปีมานี้ นับถือเป็นแนวโน้มใหม่ของเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ (affordable housing) ซึ่งนอกจากโตเกียวและฮ่องกงแล้ว ยังเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ของโลกอย่าง นิวยอร์ก ปารีส หรือลอนดอน อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก terrabkk.com
Financial Ratio 1 :Gross Profit & Net Profit เปิดเผยที่มากำไร รู้ทันอสังหาฯก่อนการลงทุน
เรื่องของกำไร ใครๆก็อยากรู้อยากติดตามTerraBKK ขอนำท่านมาทำความรู้จักอัตราส่วนทางการเงินที่คุ้นหู นั้นคือ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เพื่อสร้างความเข้าใจและประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง TerraBKK ขออธิบายข้อมูลพื้นฐาน ถึงที่มาที่ไปของตัวเลขกำไร เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน ดังนี้
อัตราส่วนทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นการตรวจสอบความสามารถในการทำกำไรของกิจการนั้นๆ โดยการเปรียบเทียบรายได้ขั้นตั้น/รายได้สุทธิ กับสัดส่วนยอดขายหรือรายได้รวม ซึ่งอัตรากำไรทั้ง 2 นี้ จะพบได้ในงบกำไรขาดทุน เป็นงบการเงินที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของกิจการในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง รายละเอียดที่แสดงในงบกำไรขาดทุนนี้ จะเริ่มต้นด้วย รายได้ (ยอดขาย) หักลบ ต้นทุนขาย จึงกลายเป็น “กำไรขั้นต้น” และหักลบอีกครั้ง ด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าเสื่อม ดอกเบี้ยจ่ายธนาคาร ภาษีเงินได้ ฯลฯ จึงได้ผลลัพธ์สุดท้ายที่เรียกว่า “กำไรสุทธิ” จากนั้น เพื่อวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพการทำกำไรของกิจการอย่างแท้จริง ต้องนำตัวเลขสุทธิดังกล่าวมาเข้าสูตรคำนวณ แปลงเป็นอัตราส่วนร้อยละ เพื่อที่จะอธิบายเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรระหว่างกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคำนวณได้ ดังนี้
- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)บอกได้ถึง ความสามารถในการทำกำไรเบื้องต้นของกิจการ (ยอดขาย –ต้นทุนขาย เช่น ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง เป็นต้น ) ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่าสูง แสดงว่ากิจการมีความสามารถในการสร้างรายได้ และสามารถควบคุมต้นทุนขายได้ดี
- อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) บอกได้ถึง ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกิจการ ที่สะท้อนอยู่ในรูปของกำไรสุทธิ (ยอดขาย – ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายการทั้งหมด เช่น ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เป็นต้น) ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่าสูง แสดงว่ากิจการมีความสามารถในการทำกำไรได้ดี
TerraBKK ขอแนะนำการประยุกต์ใช้อัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิเบื้องต้นในการวิเคราะห์การดำเนินงานของกิจการ ด้วยความความเข้าใจง่ายๆโดยสมมติตัวอย่าง เป็นงบกำไรขาดทุนของ บริษัท บ้านสวย จำกัด และบริษัท บ้านคุ้มค่า จำกัด ดังนี้ ( ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่สมมติขึ้น โดยไม่มีความสัมพันธ์ใดทั้งสิ้น )
จากข้อมูลข้างต้น สามารถวิเคราะห์การดำเนินงานของกิจการในเบื้องต้นได้ ดังนี้
- ใช้เปรียบเทียบผลกำไรกิจการกับภาครวมอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่า
อัตรากำไรขั้นต้นของ บจ.บ้านสวย (33.3%)และ บจ.บ้านคุ้มค่า (42.14%) สูงกว่า ค่าเฉลี่ยภาพรวมอุตสาหกรรม (30%) แสดงว่าทั้ง 2 กิจการมีความสามารถในการสร้างรายได้และควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรม แต่ทั้ง 2 กิจการ ยังคงต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มอัตรากำไรสุทธิของ บจ.บ้านสวย (14.53%)และ บจ.บ้านคุ้มค่า (18.08%) ให้อยู่ในเกณฑ์ตามภาพรวมอุตสาหกรรม (20%)
- ใช้เปรียบเทียบผลกำไรระหว่างกิจการ จะเห็นได้ว่า
บจ. บ้านคุ้มค่า มีความน่าสนใจมากกว่า บจ.บ้านสวย เพราะ อัตราการเงินของ บจ. บ้านคุ้มค่า (อัตรากำไรขั้นต้น 42.14%,อัตรากำไรสุทธิ 18.08%) สูงกว่า อัตราการเงินของบจ.บ้านสวย (อัตรากำไรขั้นต้น 33.3%,อัตรากำไรสุทธิ 14.53%) แสดงถึงประสิทธิภาพการทำกำไร และ การดำเนินงานอย่างเป็นระบบของ บจ.บ้านคุ้มค่า ที่มีมากกว่า บจ.บ้านสวย ได้
- ใช้อัตราส่วนทางการเงินเป็นจุดสังเกตถึงรายละเอียดอื่นภายในกิจการ จะเห็นได้ว่า
บจ. บ้านสวย มีความสามารถในการสร้างรายได้สูงถึง 43 ล้านบาท (ขณะที่ บจ.บ้านคุ้มค่ามีรายได้รวม 37 ล้านบาท) แต่เมื่อพิจารณาถึงอัตรากำไรขั้นต้น กลับพบว่า บจ.บ้านสวย (33.3%) มีอัตรากำไรขั้นน้อยกว่า บจ.บ้านคุ้มค่า (42.14% ) จึงเป็นไปได้ว่า บจ. บ้านสวย อาจจะกำลังมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าก่อสร้าง จึง ส่งผลให้ต่อต้นทุนขาย ท้ายนี้ TerraBKK ขอกล่าวว่า อัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ นอกจากจะแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรแล้ว ยังสามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของกิจการได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก terrabkk.com
ทำงานอย่างไรจึงไม่ล้า
อาการล้าเป็นอาการอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในเวลาทำงาน เกิดขึ้นได้ทั้งงานที่ต้องใช้แรงงานหนักเช่น งานยกของ งานดึงและดัน และงานเบาที่ต้องอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หรือต้องทำงานเบานั้นซ้ำซาก
การล้าที่เกิดขึ้นในร่างกายแบ่งได้ 2 แบบ คือการล้าของกล้ามเนื้อ และการล้าทั่วไป เช่น การล้าของสายตา อาการล้าจากความเครียด เป็นต้น
กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้ 2 แบบ และเกี่ยวข้องกับการล้าดังนี้
1.การหดตัวของกล้ามเนื้อแบบเป็นจังหวะ คือมีการหดตัวและคลายตัวสลับกันไป เช่น การยกวัตถุขึ้นวางบนชั้น ผู้ยกจะใช้กล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัวในระยะเวลาสั้น และจะมีการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ ในช่วงที่หยุดยก การทำงานของกล้ามเนื้อในลักษณะนี้ จะมีช่วงพักให้เลือดไหลเข้าไปในกล้ามเนื้อ ถ้างานไม่หนักมากนัก (น้อยกว่าร้อยละ 15 ของความสามารถสูงสุด) จะต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงจะเกิดการล้าได้
2.การหดตัวแบบคงค้าง คือมีการหดตัวค้างไว้ตลอดเวลา เช่น การนั่งอยู่ในท่าก้มหลังและก้มคอพิมพ์คอมพิวเตอร์อยู่นานๆ การหดตัวแบบนี้จะทำให้เลือดไหลไปสู่กล้ามเนื้อไม่สะดวก เนื่องจากหลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงกล้ามเนื้อถูกบีบจากการหดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการคลายตัวเหมือนการหดตัวกล้ามเนื้อแบบเป็นจังหวะ การหดตัวแบบคงค้างเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อเนื่องจากมีกรดและของเสียสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวและมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบจากการทำงานได้การหดตัวแบบคงค้างนี้จะทำให้กล้ามเนื้อล้าอย่างรวดเร็ว ถ้าต้องออกแรงเพียงร้อยละ 8 ของความสามารถกล้ามเนื้อสูงสุด
การหดตัวของกล้ามเนื้อแบบคงค้างนี้จะพบได้ใน กล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงท่า เช่น กล้ามเนื้อคอและหลังขณะนั่งหรือยืน กล้ามเนื้อจะต้องหดตัวแบบคงค้างอยู่ตลอดเวลา ถ้ายิ่งมีท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ก้มคอหรือหลังมากเกินไป จะทำให้ล้าง่ายขึ้น ให้ลองยืนตรงแล้วก้มไปข้างหน้าเอามือแตะเข่าค้างไว้ ท่านจะรู้สึกเมื่อยที่กล้ามเนื้อหลังภายในเวลาไม่ถึงนาที หรือลองก้มคอแล้ว ค้างไว้สัก 3 นาที ท่านจะรู้สึกล้าที่กล้ามเนื้อคอด้านหลัง
นอกจากท่าทางที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อแล้วส่วนของเอ็นและส่วนที่อยู่ใกล้จะถูกยืดมากกว่าปกติทำให้เกิดอาการอักเสบของเอ็นต่างๆ ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก thaihealth.or.th
เก่งภาษาอังกฤษแน่ ถ้ารู้ว่าต่างจากภาษาไทยอย่างไรบ้าง
ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้เรียนภาษาอังกฤษ คือ มักจะสร้างประโยคขึ้นมาโดยอิงจากโครงสร้างในภาษาไทย แม้บางครั้งจะได้ผล แต่ก็เป็นส่วนน้อย นั่นเป็นเพราะในภาพรวมแล้ว ภาษาอังกฤษกับภาษาไทยมีความแตกต่างกันมาก ในบทความนี้ ผมจะขอพูดถึงความแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาไทยที่ผู้เรียนภาษาอังกฤษทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และใช้งานภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง
ในบทความนี้ ผมจะเน้นพูดถึงความแตกต่างในแง่โครงสร้างเป็นหลัก เพื่อให้ผู้อ่านเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างประโยคได้
ความแตกต่างที่ว่านี้หลักๆ แล้วมีอยู่ 3 อย่าง
1. ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีการผันรูปของคำนามตามพจน์ (จำนวน) และผันคำกริยาตามประธาน ตามกาล (tense – ช่วงเวลา) ตามวาจก (voice – กระทำหรือถูกกระทำ) และตามมาลา (mood – เจตนาในการสื่อความหมาย)
Yesterday I ran into five cute puppies in my old school.
(เมื่อวาน ฉันไปเจอลูกสุนัขน่ารักห้าตัวที่โรงเรียนเก่าโดยบังเอิญ)
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอดีต จึงอยู่ในรูป Past Simple คำกริยา run into จึงเปลี่ยนเป็น ran into ซึ่งมีอยู่รูปเดียวใน tense นี้ คือ ไม่ว่าประธานตัวไหนก็ใช้รูปเดียวกันหมด ส่วนคำว่า puppy ในกรณีนี้มีห้าตัว เป็นพหูพจน์ จึงเปลี่ยนรูปเป็น puppies
If Lucy were you, she wouldn’t tell me this secret.
(ถ้าลูซี่เป็นคุณ เธอจะไม่เล่าความลับนี้ให้ผมฟัง)
ประโยคนี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้พูดสมมติขึ้น เพราะในความเป็นจริง ลูซี่ไม่ใช่คุณหรือบุคคลที่ผู้พูดพูดด้วย If-clause จึงอยู่ในมาลา Past Subjunctive สังเกตได้ว่าถ้าเป็นรูปปกติ (Past Simple Indicative) จะต้องเป็น Lucy was … แต่ในกรณีนี้เป็น Past Subjunctive จึงผันเป็น Lucy were … โดยรูปนี้ใช้ได้กับประธานทุกตัว
จากประโยคตัวอย่างทั้ง 2 ประโยคนี้ เมื่อสังเกตคำแปลภาษาไทยจะพบว่า คำกริยากับคำนามในภาษาจะไม่ผัน ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
2. ตำแหน่งการวางคำคุณศัพท์เพื่อขยายคำนาม ในภาษาอังกฤษคำขยาย (คำคุณศัพท์) จะอยู่หน้าคำนามเมื่อขยายทันที
Beauty and the Beast is a fantastic novel.
(“โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” เป็นนิยายที่ยอดเยี่ยม)
ในประโยคนี้ คำว่า fantastic (ยอดเยี่ยม) ขยาย novel (นิยาย) ทันที จึงวางไว้หน้า novel ส่วนในภาษาไทย ตำแหน่งของคำจะสลับกัน
They like slender women.
(พวกเขาชอบผู้หญิงหุ่นผอมบาง)
ในประโยคนี้ คำว่า slender (ผอมบาง) ขยาย women (ผู้หญิง) ทันที จึงวางไว้หน้า women ส่วนในภาษาไทย ตำแหน่งของคำก็จะสลับกันเหมือนในตัวอย่างก่อนหน้านี้
แต่หากว่าในภาษาอังกฤษ ใช้วิธีบอกคุณลักษณะโดยเชื่อมด้วย linking verb เช่น be, feel หรือ taste เป็นต้น คำขยายจะอยู่หลังคำกริยาประเภทนี้ เช่น
Elizabeth felt energetic after drinking the coffee.
(อลิซาเบธรู้สึกกระปรี้กระเปร่าหลังจากดื่มกาแฟถ้วยนั้น)
คำว่า energetic (กระปรี้กระเปร่า, มีพลัง) ขยายคำว่า Elizabeth (อลิซาเบธ) โดยวางไว้หลังคำกริยา felt (รู้สึก)
The three-flavored fish tastes really awesome.
(ปลาสามรสจานนี้รสชาติเยี่ยมจริงๆ)
คำว่า awesome (เจ๋ง, ยอดเยี่ยม) ขยายคำว่า three-flavored fish (ปลาสามรส) โดยวางไว้หลัง tastes (มีรสชาติ)
3. ภาษาไทยไม่มี article (คำนำหน้านาม ได้แก่ a/an และ the) ส่วนภาษาอังกฤษจะมีทั้งกรณีที่มี article และไม่มี article วางไว้หน้าคำนาม
ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะคนไทยไม่คุ้นเคยกับการใช้ article เวลาสร้างประโยคภาษาอังกฤษขึ้นมาก็จะไม่ใส่ article เลย หรือไม่งั้นก็ใส่ the มันทุกที่ การทำแบบนี้อาจทำให้สื่อความหมายผิดได้
กรณีที่ใช้ article แบบไม่เจาะจง (indefinite article) (= a หรือ an) คือ
I have a pen.
(ผมมีปากกาอยู่ด้ามหนึ่ง)
ในกรณีนี้ ผู้พูดแค่บอกว่ามีปากกา แต่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นด้ามไหน
กรณีที่ใช้ article แบบเจาะจง (definite article) (= the) คือ
ผู้พูดกล่าวถึงสิ่งๆ หนึ่งในแบบที่ต้องการเจาะจงเป็นพิเศษ โดยที่สิ่งๆ นั้นอาจเป็นคำนามนับได้หรือนับไม่ได้ก็ได้ และจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ เช่น
The house next to hers belongs to my uncle.
(บ้านหลังที่อยู่ติดกับบ้านของเธอเป็นของลุงของผม)
The bread you baked this morning smelt so good.
(ขนมปังที่คุณอบเมื่อเช้ามีกลิ่นหอมมาก)
The pandas in this zoo were imported from China.
(หมีแพนด้าในสวนสัตว์แห่งนี้ได้รับการนำเข้าจากประเทศจีน)
ที่กล่าวมานี้เป็นกรณีหลักๆ ที่มีการใช้งาน article ทั้ง 2 ประเภท ยังมีกรณียิบย่อยอีกมากที่ในภาษาอังกฤษต้องใช้ article นำหน้าคำนาม ในส่วนนี้ ผู้อ่านคงต้องไปอ่านเพิ่มเติม เพราะด้วยเนื้อที่จำกัด ผมจึงนำมากล่าวในบทความนี้ได้ไม่หมดทุกกรณี
เมื่อทราบแล้วว่าภาษาอังกฤษกับภาษาไทยมีความแตกต่างกันอย่างไร เวลาสร้างประโยคภาษาอังกฤษขึ้นมาสักประโยค ขอให้ทุกคนตระหนักถึงหลักความแตกต่างเหล่านี้ด้วยนะครับ และพยายามอย่ายึดติดกับโครงสร้างในภาษาไทยมากจนเกินไป เพราะบางครั้งผลลัพธ์ที่ได้นั้นอาจฟังดูแปลกหรือตลกสำหรับเจ้าของภาษา แม้ว่าจะพอสื่อความหมายได้บ้างก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก dailyenglish.in.th
ราคาทองทุกชนิดตามประกาศสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 14/01/
ชนิดความบริสุทธิ์ของทอง | ราคาขาย/บาท | ราคารับซื้อ/บาท | ราคารับซื้อ/กรัม |
ทองคำแท่ง 96.5% | 19,550.00 | 19,450.00 | n/a |
ทองรูปพรรณ 96.5% | 20,050.00 | 19,101.60 | 1,260.00 |
ทองรูปพรรณ 99.99% | n/a | 19,798.96 | 1,306.00 |
ทองรูปพรรณ 90% | n/a | 17,191.44 | 1,134.00 |
ทองรูปพรรณ 80% | n/a | 15,281.28 | 1,008.00 |
ทองรูปพรรณ 50% | n/a | 8,595.72 | 567.00 |
ทองรูปพรรณ 40% | n/a | 6,685.56 | 441.00 |
ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ 14/01/
ปตท. |
บางจาก |
เชลล์ |
เอสโซ่ |
คาลเท็กซ์ |
ไออาร์พีซี |
พีที |
ซัสโก้ |
เพียว |
ซัสโก้ดีลเลอร์ |
|
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
แก๊สโซฮอล์ 95 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 | 26.75 |
แก๊สโซฮอล์ 91 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 | 26.48 |
แก๊สโซฮอล์ E20 | 23.74 | 23.74 | 23.74 | 23.74 | 23.74 | – | 23.74 | 23.74 | 23.74 | 23.74 |
แก๊สโซฮอล์ E85 | 19.54 | 19.54 | – | – | – | – | – | 19.54 | – | – |
เบนซิน 95 | 34.16 | – | – | – | 34.61 | – | 34.66 | 34.46 | – | 34.46 |
ดีเซล | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 | 26.09 |
ดีเซลพรีเมี่ยม | 29.69 | 29.69 | 30.15 | 30.15 | 30.15 | – | – | – | – | – |
แก๊ส NGV | 16.06 | 16.06 | – | – | – | – | – | – | – | – |