คณะอนุกรรมการกองทุนแบงก์รัฐ เตรียมความพร้อมแผนใช้เงินกองทุนแบงก์รัฐ เสริมสภาพคล่องให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หลังประสบปัญหาขาดทุนจากปัญหาหนี้เสีย พร้อมหนุนการอนุมัติเงินให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลของธนาคารให้มีความทันสมัยรองรับการบริการให้กับผู้ขอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย
หลังจากที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากปัญหาหนี้เสียที่มีมากถึง 50% ซึ่งมากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหนี้เสียไม่เกิน 5% และหนี้เสียนั้นเป็นการปล่อยกู้อย่างไม่มีศักยภาพให้กิจการโครงการที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองซึ่งไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มมุสลิม และทางธนาคารได้ส่งเรื่องให้ สำนังานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐฯ (ป.ป.ท.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วกว่า 50 คดี แต่ธนาคารฯ ยังไม่พ้นวิกฤตจนต้องแก้ปัญหาด้วยการโอนหนี้เสีย 5 หมื่นล้านบาท ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ “ไอแอม” ขณะที่คณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบแก้กฎหมายให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นได้เกิน 49% เป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือดำเนินงานของธนาคาร ตามสัดส่วนและระยะเวลาที่เหมาะสมของคณะรัฐมนตรี และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 61 ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะใส่เงินเพิ่มทุนส่วนแรก 2,000 ล้านบาท เป็นเงินจากงบประมาณให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทันที
ล่าสุด นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารและอำนวยการในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (กองทุนแบงก์รัฐ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินการใช้เงินของกองทุนที่มีอยู่ล่าสุด 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการดำเนินการใช้ได้เร็ว ก็จะเป็นผลดีต่อธนาคารของรัฐให้มีความเข้มแข็ง ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น โดยแผนการใช้เงินของกองทุนแบงก์รัฐ ที่สำคัญ 1 ใน 3 เรื่อง คือ การเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มทุนทั้งหมด 1.8 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สนช. เห็นชอบแก้กฎหมายให้กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ้นได้เกิน 49% เป็นการชั่วคราว โดยหลังจากนี้จะเป็นการสรรหาพันธมิตรมาร่วมทุนถือหุ้นในธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งเป็นรอบที่ 3 โดยมีเป้าหมายหาผู้ร่วมทุนให้ได้ภายในสิ้นปี้นี้ (2561)
สำหรับแผนการใช้เงินของกองทุนแบงก์รัฐที่สำคัญนอกเหนือจากการเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการดำเนินการโครงการอินฟินิท จำนวน 650 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการใช้สถานที่ตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้การเงินฟินเทคสมัยใหม่ทั้งหมด โดยส่วนนี้ต้องตั้งงบประมาณไว้มาก เพราะต้องร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ ที่มีความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทคที่ทันสมัย เพื่อให้คนไทยนำไปต่อยอดได้
ที่สำคัญคือ การอนุมัติเงินให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 30 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลของธนาคารให้มีความทันสมัยรองรับการบริการให้กับผู้ขอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย ขณะที่ ธอส.เตรียมขอความร่วมมือธนาคารสมาชิก และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) รวมถึงกรมบังคับคดี ในการนำทรัพย์สินรอการขายหรือ เอ็นพีเอ ของทุกหน่วยงานนำมารวมกันออกจำหน่ายภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมีเอ็นพีเอที่จะนำออกมาจำหน่ายไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท