สาระน่ารู้ ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2561

Joint Venture กลยุทธ์สร้างจุดแข็งภาคอสังหาฯ ของเหล่าดีเวลลอปเปอร์

 

Joint Venture กลยุทธ์สร้างจุดแข็งภาคอสังหาฯ ของเหล่าดีเวลลอปเปอร์

จากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะในกลุ่มของผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัย หรือผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรองรับได้กับทุกการเปลี่ยนแปลง

และเพื่อให้สามารถรักษาระดับอัตราการเติบโตของธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้อย่างครอบคลุมและตอบโจทย์ได้ครบทุกความต้องการ การร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์กับกลุ่มทุนต่างชาติ หรือบริษัทที่มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้จากส่วนอื่น เช่น ธุรกิจเช่า ธุรกิจรีเทล มาเสริม เป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เป็นการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ยังเป็นผลดีสำหรับผู้ซื้อ ที่จะมีโครงการที่มีความทันสมัย มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีคุณภาพที่ดี มี Concept ที่ตรงกับความต้องการมาให้เลือกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการของผู้ประกอบการจะสามารถพัฒนาได้ตลอดรอดฝั่งด้วย

ความเคลื่อนไหวในการเข้าร่วมทุนในโครงการต่างๆ จากกลุ่มทุนหรือนักลงทุนจากต่างชาติ มีให้เห็นชัดเจนจากการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่อยู่ระหว่างการประมูลหาเอกชนมาลงทุนการให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงควบคู่กับพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน ยังมีความร่วมมือพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิตอล เทคโนโลยี ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อพัฒนาไปสู่กรุงเทพเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ด้วย ซึ่งมีผลดีต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างชาติกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น

 

เอเดรียน ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ

เอเดรียน ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ

 

โดยหนึ่งในบริษัทที่น่าจับตา คือ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมี่ยมชั้นนำของประเทศไทย ที่นอกจากจะมีการประกาศร่วมทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมไฮเอนด์ บนทำเลย่านสาทร และบนถนนสุขุมวิท กับบริษัทโตเกียว ทาเทโมโนะ (Tokyo Tatemono) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ล่าสุดยังมีดีลสุดเซอร์ไพรส์กับ บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด (KPNL) โดยเข้าลงทุนในทรัพย์สินของบริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด (KPNL) ประกอบด้วย โครงการ S19 ถนนสุขุมวิท ซอย19 และ โครงการ S28 ถนนสุขุมวิท ซอย 28 แล้วเสร็จในปี 2566 นอกจากนี้ทางคณะกรรมการบริษัทฯ ยังได้อนุมัติในการเข้าซื้อยูนิตที่เป็นยอดขายรอโอนและยูนิตที่ยังเหลืออยู่จากโครงการ Diplomat 39 และ Diplomat สาทร ตีเป็นมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท

จากกรณีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการปรับโครงสร้างเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ขยายฐานลูกค้าครั้งสำคัญของ RML ยังเป็นที่น่าจับตาด้วยว่าโครงการที่จะมีขึ้นในอนาคตจะมีความโดดเด่นล้ำสมัยเพียงใด

 

ที่มา : https://www.ddproperty.com


 

เน็กซัสฯ แนะผู้ประกอบการลงทุนคอนโดฯต้องศึกษาความต้องการจริง

 

เน็กซัสฯชี้ราคาที่ดิน ทำเล และการขยายตัวของเมือง เป็นปัจจัยหลักส่งให้ราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น การเข้ามาซื้อคอนโดเพื่อลงทุนของชาวต่างชาติ    ที่หวังผลการลงทุนระยะยาว อาจเป็นเพียงสีสันให้วงการอสังหาในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ แนะผู้ประกอบการให้คำนึงถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่จริง และควรศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคก่อนพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด เพื่อการเติบโต   อย่างมั่นคงและยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียม

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตของอุปทานของคอนโดมิเนียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปีราคาปรับเพิ่ม 8-12% ต่อปี โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 อุปทานคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ มี 9,395 หน่วย จาก 20 โครงการ ทำให้ในตลาดมีคอนโดมิเนียมสะสมรวม 573,000 หน่วย โดยทำเลเปิดใหม่มากที่สุด คือ บริเวณจรัญสนิทวงศ์ และสะพานควาย ซึ่งเป็นเขตรอบใจกลางเมือง

ด้าน “ราคา” พบว่าราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น 5% ในช่วงครึ่งปีแรก คือ 137,100 บาทต่อตารางเมตรหรือตร.ม. แต่เมื่อเจาะลงมาในกลุ่มตลาดใจกลางเมือง พบว่ายังคงเป็นตลาดที่ครองตำแหน่งการปรับตัวของราคาสูงที่สุด คือ 6% หรือ 223,000 บาทต่อตร.ม. ส่วนตลาดรอบใจกลางเมืองปรับตัวสูงขึ้น 4% หรือ  110,000 บาทต่อ ตร.ม. และตลาดรอบนอกราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก 3% หรือ 75,000 บาทต่อตร.ม. (ตามลำดับ)

สำหรับ“ความต้องการ”คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นดีมานด์จากคนไทย      ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงมากกว่า 80% แต่ในระยะเวลาช่วง 1-2 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะซื้อผ่านนายหน้าเป็นหลัก ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อก็เพื่อการลงทุน ทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาว เพื่อปล่อยเช่า เพราะคาดหวังในผลตอบแทนรายปีและจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาค่าเช่า ไม่ได้เติบโตในอัตราส่วนเดียวกับราคาขายของคอนโดมิเนียม ดังนั้น ในระยะยาวนักลงทุนน่าจะหวังผลกำไรจากราคาขายต่อที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นหลัก ส่วนจากราคาค่าเช่าอาจไม่ได้สูงมากนัก และหากจะคาดว่าต่างชาติจะเข้ามาถือครองคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% อาจเห็นได้ในบางโครงการเท่านั้น และในที่สุดแล้ว ตลาดที่น่าจะต้องให้ความสนใจเป็นหลักก็ยังคงเป็นตลาดคนไทยนั่นเอง

 

ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 7 – 10 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้

 

 

1) ด้านทำเลที่ตั้ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น การเติบโตของคอนโดมิเนียมก็ขยายบริเวณออกไปด้วย พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนอุปทาน ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คือ 2 ทำเลรอบนอก ได้แก่ ธนบุรี-เพชรเกษม ซึ่งจากเดิมในปี 2554 มีเพียง 13,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันจากการสำรวจเมื่อไตรมาส 2/2561 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ยูนิต และอีกทำเลหนึ่ง คือ งามวงศ์วาน ติวานนท์ ที่จากเดิมในปี 2554 มีเพียง 17,000 ยูนิต กลับเพิ่มขึ้นเป็น 73,000 ยูนิต

 

 

2) การเปลี่ยนแปลงด้านขนาดของห้อง พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขนาดห้องของคอนโดมิเนียมเล็กลงเป็น  อย่างมาก เช่น คอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน เดิมมีขนาด 65 ตร.ม. ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 28 ตร.ม. เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว ขนาดของห้องเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่คอนโดมิเนียมขนาด2 ห้องนอน แต่เดิมมีขนาด 120 ตร.ม. ในปัจจุบันเหลือเพียง 45 – 48 ตร.ม. เป็นต้น

 

 

3) ในด้านรูปแบบของห้อง (Room Mix) พบว่าสัดส่วนของห้องชุดก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน พบว่าในหนึ่งโครงการ ห้องชุดขนาด 2 และ 3 ห้องนอน จะมีสัดส่วนห้องมากที่สุดของทั้งโครงการ ในขณะที่ห้องชุดขนาด 1 ห้องนอน มีสัดส่วนเพียง 20 – 30% ของโครงการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน จะเป็นสัดส่วนหลักในการพัฒนาโครงการสำหรับคอนโดมิเนียมยุคนี้ เราแทบจะหาคอนโดมิเนียมขนาด 3 ห้องนอนในโครงการใหม่ๆ ไม่ได้เลย และด้วยขนาดห้องที่เล็กลง ส่งผลให้การพัฒนาคอนโดมิเนียมมีจำนวนห้องในแต่ละโครงการเพิ่มขึ้น  ตัวอย่างเช่น  ที่ดินขนาด 2 ไร่  จากสมัยก่อนที่เคยทำคอนโดมิเนียมตึกสูงได้จำนวน 300 ยูนิต ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น 500 ยูนิต ในสัดส่วนพื้นที่ขายที่เท่ากัน ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

 

4) การเปลี่ยนแปลงด้านราคาต่อหน่วย สำหรับคอนโดมิเนียมในตลาดระดับกลาง (mid market) และตลาดซิตี้คอนโด มีระดับราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ถึง 3 ล้านบาทต่อยูนิต มีจำนวนหน่วยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพนั้น แต่ราคาต่อหน่วยถูกจำกัดด้วยความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อมาโดยตลอด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดขอบเขตของต้นทุนให้อยู่ในเงื่อนไขราคาต่อหน่วยที่กำหนด โดยในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทำเลของโครงการถูกขยับออกไปไกลจากใจกลางเมืองมากขึ้น โดยเกาะขอบแนวรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเข้าไปอยู่ในซอยเล็กเป็นอาคาร 8 ชั้น เป็นต้น

 

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว จะพบว่ากลุ่มคนทำงานในระดับเจ้าหน้าที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท สามารถซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอน ในกลุ่มซิตี้คอนโดฯ ระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มตลาดระดับกลาง (mid market) พนักงานในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือหัวหน้างาน ผู้มีรายได้ไม่เกิน 65,000 บาทต่อเดือน จึงจะสามารถเริ่มซื้อได้ ในขณะที่คอนโดฯ ระดับไฮเอนด์ผู้ที่สามารถซื้อได้ จะต้องอยู่ในระดับผู้จัดการขึ้นไป หรือผู้ที่มีรายได้ 120,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มลักซัวรี่และซูเปอร์ลักซัวรี่จะต้องเป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ด้วยราคาคอนโดมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คอนโดมีเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายได้ของประชากรกรุงเทพฯ บางส่วน ซึ่งแน่นอนความสามารถในการซื้อห้องในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นบ้างก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่อาจจะได้ห้องขนาดเล็กลงในทำเลเดิม หรือซื้อห้องขนาดเท่าเดิมในทำเลที่ไกลออกไป

 

 

กล่าวโดยสรุปแล้วการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ก็ยังคงต้องพึ่งตลาดคนไทยเป็นหลัก โดยตลาดต่างชาตินั้นเข้ามาเสริม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จากราคาคอนโดมิเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยค่าเช่าน่าจะเป็นส่วนเสริมให้การลงทุน มีความน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น ในระยะกลางหรือระยะยาวคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนที่ทำงานจากบ้านได้มากขึ้น และศูนย์กลางการทำงานอาจมีการขยายตัวไปยังบริเวณรอบใจกลางเมืองมากขึ้นเหมือนเช่น พระราม 9 บางซื่อ พหลโยธิน รัชดาภิเษก เป็นต้น ทำให้เมืองขยายออกไป และตลาดคอนโดมิเนียมรอบนอกเมือง ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง การเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมมือสองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมใหม่ ขนาดห้องที่ใหญ่กว่า ตอบรับกับการอยู่อาศัยได้จริง ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นในกลางเมืองกรุงเทพฯ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ในระยะยาวลักษณะแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นในตลาดกรุงเทพฯ เหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปในโลก เช่น นิวยอร์ค หรือ โตเกียว เป็นต้น

 

ที่มา : http://prop2morrow.com


 

มารู้จัก LTF กับ RMF กันเถอะ

 

มารู้จัก LTF กับ RMF กันเถอะ

 

แน่นอนว่าวัตถุประสงค์การจัดตั้งของ LTF กับ RMF มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

2

 

โดย LTF จะสนับสนุนการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนรวมและส่งเสริมตลาดหุ้นไทย ส่วน RMF เป็นการสนับสนุนให้ออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ

 

3

 

นโยบายของกองทุนก็แตกต่างกัน โดย LTF จะเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลักมีความเสี่ยงสูง ส่วน RMF ลงทุนหลากหลาย เช่น หุ้น ทอง พันธบัตร ความเสี่ยงมีหลายระดับ

 

4

 

สำหรับเงินลงทุนขั้นต่ำนั้น LTF ไม่มีกำหนดขั้นต่ำ แต่ห้ามซื้อเกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วน RMF ไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5 พันบาท แต่ห้ามซื้อเกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และหากรวมกับ กบข.แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

 

5

 

ระยะเวลาการลงทุน LTF จะต้องไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน หรือแค่ 5 ปีเท่านั้นเอง ส่วน RMF ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และต้องอายุครบ 55 ปี ถึงขายคืนได้

 

6

 

สำหรับเงื่อนไขความต่อเนื่องนั้น LTF ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี อยากลดหย่อยปีไหนก็ซื้อปีนั้น ส่วน RMF เริ่มซื้อแล้วต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี แต่ถ้าซื้อเกิน 2 ปี ให้รับปรึกษาเจ้าหน้าที่สรรพากร

 

7

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี LTF เงินซื้อหน่วยลงทุนใน LTF จะได้รับยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วน RMF เงินซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 5 แสนบาท และหากรวมเงินสะสม กบข. แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

 

ส่วนความเหมาะสมของกองทุนจะเหมาะกับใครนั้น เราขอสรุปให้สั้นๆดังนี้

 

8

 

LTF เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี อยากลงทุนในหุ้นระยะยาวแต่ไม่มีความชาญและต้องรับความเสี่ยงได้ด้วย

RMF เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีต้องการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณด้วยการลงทุนระยะยาวแต่ไม่มีความชำนาญ และต้องรับความเสี่ยงได้ด้วย

 

ที่มา : https://www.sanook.com


 

รูปประโยคสำหรับเขียนอีเมลภาษาอังกฤษ

 

เขียนอีเมลภาษาอังกฤษ

 

          อีเมล (E-mail) ได้รับความนิยมใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทั้งสะดวกรวดเร็ว แถมยังใช้ได้ทั้งกรณีเป็นทางการและไม่เป็นทางการ และในยุคที่การสื่อสารของหนุ่มสาวออฟฟิศต้องโกอินเตอร์กันเช่นทุกวันนี้ jobsDB ขอนำเสนอตัวช่วยดี ๆ แนะแนวทางให้คุณเขียนอีเมลภาษาอังกฤษได้ชำนิชำนาญกว่าที่เคย

1. เริ่มต้นที่ “ชื่อเรื่อง (Subject)” เราจะตั้งชื่อเรื่องอีเมลอย่างไรให้ผู้อ่านเปิดอ่านทันทีที่ได้รับและค้นหาในภายหลังได้ง่าย คำตอบก็คือ…ชื่อเรื่องควรสรุปประเด็นหลัก สั้น ชัดเจน เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้อ่านทราบได้ทันทีว่าอีเมลมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร และอยากอ่านเนื้อหาในเมล นอกจากนี้ เราควรเลี่ยงการใช้อักขระซ้ำ ๆ อย่าง $$$ หรือ ฿฿฿ ซึ่งอาจส่งผลให้อีเมล์ของเราตกไปอยู่ใน Junk Box แทน

2. ส่วนต่อมาคือ “คำทักทาย (Greeting)” ซึ่งจะกำหนดน้ำเสียง (tone) ของอีเมล ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะตัดสินตัวผู้เขียนและตัดสินใจว่าจะอ่านข้อความต่อหรือไม่จากคำทักทาย ดังนั้นจึงสำคัญที่เราจะเลือกใช้คำทักทายให้เหมาะสม

คำทักทายมาตรฐานที่ใช้ในอีเมลธุรกิจ คือ Dear + (คำนำหน้าชื่อ) + ชื่อผู้รับ + (:)/(,) เช่น Dear Mr. Jonathan, หรือ Dear Susan:  กรณีไม่รู้จักผู้รับดีหรือเป็นการติดต่อในครั้งแรก แนะนำให้เขียนคำทักทายเป็นทางการหน่อย โดยใส่ Dear + คำนำหน้า + ชื่อสกุล เช่น Dear Mr. Mcintosh และหากไม่รู้จักชื่อผู้รับ ให้ใส่ตำแหน่งของผู้รับ หรือเขียนในลักษณะกว้าง ๆ แทน เช่น Dear Principal: หรือ Dear Sir/Madam: หรือ To whom it may concern:

และหากอีเมลของเราไม่เป็นทางการนัก เราก็ควรปรับคำทักทายให้เหมาะสม โดยใส่เพียงชื่อตัวผู้รับอย่างเดียว หรือ ใส่ชื่อตัวผู้รับและคำทักทายนำหน้า เช่น David, หรือ Dear David, หรือ Hi/Hello David

3. ขยับมาที่ส่วนของ “เนื้อความ (Body)” กันบ้างค่ะ… เนื่องจากปกติผู้อ่านมักมีเวลาน้อย เนื้อความอีเมล์จึงควรสั้นและกระชับที่สุด การสื่อสารข้อมูลที่ย่อยแล้วจะช่วยให้ผู้รับเข้าใจได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ เราควรบอกวัตถุประสงค์ที่เขียนมาให้ชัดเจน และโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องกับผู้รับ มาดูตัวอย่างบางสำนวนที่ใช้บ่อยในการเขียนเนื้อความกันค่ะ

– Further to your last email, … = อ้างถึงอีเมลที่คุณส่งมาครั้งก่อน … (อ้างถึงการติดต่อที่ผ่านมา)

– I am writing in connection with /with regard to … = ฉันส่งอีเมลมาเกี่ยวกับเรื่อง … (แจ้งเหตุผลที่เขียนมา)

– I am writing to let you know that … = ฉันเขียนอีเมลมาเพื่อแจ้งให้ทราบว่า… (ให้ข้อมูลทั่วไป)

– I am delight to tell you that … = ฉันรู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า … (ให้ข้อมูลเชิงบวก)

– We regret to inform you that … = ฉันเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า … (ให้ข้อมูลเชิงลบ)

– Please find attached my report. = ฉันได้ส่งรายงานมาตามแนบ (แจ้งเกี่ยวกับไฟล์แนบ)

– Could you give me some information about …? = คุณช่วยส่งข้อมูลเกี่ยวกับ … ให้ฉันหน่อยได้ไหม?(ขอข้อมูล)

– I would be grateful if you could … = ฉันจะขอบคุณมาก ถ้าคุณจะช่วย … (ขอความร่วมมือ/ช่วยเหลือ)

– If you wish, I will be happy to … = ถ้าคุณต้องการ ฉันยินดีที่จะ … (เสนอให้ความช่วยเหลือ)

– Thank you for your help. = ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือ (แสดงความเห็นในตอนท้าย)

– Please feel free to contact me if you have any questions. My direct line is … = หากมีข้อสงสัย โปรดติดต่อฉันที่เบอร์ … (แสดงความเห็นในตอนท้าย)

4. และก็มาถึงส่วนสุดท้าย คือ “คำลงท้าย (Sign-off)” ซึ่งเราก็ควรใช้ให้สอดคล้องกับคำทักทาย ตามด้วยชื่อของเรา เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าใครเป็นคนติดต่อมา

กรณีเขียนถึงคนที่เราไม่ได้รู้จักดี เราใช้ Yours faithfully, หรือ Sincerely (yours), หรือ Yours truly, หรือ Respectfully yours, แต่หากเขียนถึงคนที่เรารู้จักดี อาจใช้คำลงท้ายเป็น Best wishes, หรือ Kind regards,หรือ Regards, ก็ได้ และเนื่องด้วยสไตล์ที่เป็นทางการน้อยกว่าจดหมาย อีเมลอาจลงท้ายด้วยข้อความอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับเนื้อความอีเมล์ เช่น Thank you, หรือ See you tomorrow, หรือ Keep up the good work!ได้เช่นกันค่ะ

5. ขอแถมท้ายด้วยตัวย่อที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้งในอีเมลธุรกิจ เผื่อไว้หยิบมาใช้ให้เข้ากับแทรนด์ “สั้น กระชับ” ของอีเมลกันค่ะ ได้แก่ ASAP (as soon as possible) = เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ / FYI (for your information) = เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณ / TNK (thank you) = ขอบคุณ / N/A (not applicable, not available หรือ no answer) = ไม่มีข้อมูล หาข้อมูลไม่ได้ หรือไม่สามารถระบุได้ / S. (post script) = ป.ล.

เท่านี้…เราก็สามารถเป็น “นักเขียนอีเมลมืออาชีพ” ได้อย่างมั่นใจแล้วล่ะค่ะ

 

ที่มา : https://th.jobsdb.com


 

“อินทผลัม” ความหวานที่มาพร้อมประโยชน์ดีๆ ต่อร่างกาย

 

"อินทผลัม" ความหวานที่มาพร้อมประโยชน์ดีๆ ต่อร่างกาย

 

อินทผลัม (หรือที่มักชอบเขียนกันผิดเป็น อินทผาลัม) ถึงแม้จะมีน้ำตาลธรรมชาติอยู่ในปริมาณสูง แต่ผลไม้รสหวานอร่อยชนิดนี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ลองอ่านรายละเอียดพวกนี้ดูนะ แล้วคุณจะรู้ว่าอินทผลัมเป็นผลไม้ที่ชวนกินจริงๆ

 

ข้อมูลทางโภชนาการ

อินทผลัมหนึ่งลูกจะมีสารอาหารดังต่อไปนี้

  •  แคลอรี่: 20
  • ไขมันรวม: 0.03 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรทรวม: 5.33 กรัม
  • ใยอาหาร: 0.6 กรัม
  • น้ำตาล: 4.5 กรัม
  • โปรตีน: 0.17 กรัม
  • วิตามินบี 6: 0.012 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก: 0.07 มิลลิกรัม
  • แมกเนเซี่ยม: 3 มิลลิกรัม
  • โปตัสเซี่ยม: 47 มิลลิกรัม

 

ประโยชน์ของอินทผลัม

นอกเหนือจากรสชาติอร่อยแล้ว อินทผลัมยังอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ มากมาย แถมยังมีประโยชน์อีกมากมาย

 

มีกากใยสูง

อินทผลัมจะช่วยเพิ่มปริมาณกากใยในอาหารได้มากขึ้น เนื่องจากอินทผาลัม 3.5 ออนซ์ มีปริมาณกากใยอยู่เกือบ กรัม ซึ่งกากใยอาหารนั้นใครๆ ก็รู้กันดีว่ามีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ โดยผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้คนจำนวน 21 คน กินอินทผลัมวันละ ลูก เป็นเวลา 21 วัน จะช่วยให้ถ่ายอุจจาระถี่ขึ้น และช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ไม่ได้กินอินทผาลัม นอกจากนี้กากใยในอินทผลัมจะทำให้การย่อยอาหารทำงานช้าลง และช่วยป้องกันน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้

 

อุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ

อินทผลัมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ด้วย สารต่อต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนั้นเป็นโมเลกุลที่ไม่มีความคงที่ ที่อาจก่อให้เกิดปฎิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และก่อให้เกิดโรคได้

อินทผลัมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังอยู่สามชนิด ซึ่งก็ได้แก่

  • ฟลาโวนอยด์ สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้จะช่วยลดอาการอักเสบ และมีการทำศึกษาวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรงเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็งบางชนิด
  • แคโรทีนอยด์ สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพแข็งแรง และอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา อย่างเช่น โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม
  • กรดฟีโนลิค สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้มีสรรพคุณที่ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจด้วย

 

ช่วยทำให้สมองแข็งแรง

การศึกษาวิจัยในห้องทดลองพบว่าอินทผลัมช่วยลดสารอินเตอร์ลิวคิน 6 (Interleukin 6 หรือIL-6) ในสมอง ซึ่งถ้าเรามีสารชนิดนี้มากเกินไป ก็จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้การทดลองในสัตว์ยังพบว่า อินทผลัมช่วยลดการก่อตัวของโปรตีนบีตาแอมีลอยด์ (Beta-amyloid) ที่จะทำให้เกิดเป็นคราบสะสมขึ้นในสมอง ซึ่งจะเป็นการรบกวนการสื่อสารระหว่างสมองกับเซลล์ต่างๆ นำไปสู่การตายของเซลล์สมอง และทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาได้

 

ช่วยทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น

การกินผลไม้ในช่วงสองสามสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะช่วยขยายปากมดลูก ซึ่งจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยลดเวลาในการเบ่งคลอดลงด้วย โดยการศึกษาวิจัยที่ทำกับผู้หญิงจำนวน 69 คน ที่กินอินทผลัมวันละ ลูก เป็นเวลา สัปดาห์ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอด จะช่วยทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาในการคลอดน้อยกว่าด้วย ซึ่งเป็นเพราะอินทผลัมมีสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนออกซิโทซินในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้มดลูกเกิดอาการบีบรัดตัวได้ง่ายขึ้น

 

ประโยชน์ทางด้านสุขภาพอื่นๆ

ว่ากันว่าอินทผลัมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างอื่นด้วย ถึงแม้จะยังไม่มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ตาม ซึ่งประโยชน์พวกนั้นก็ได้แก่…

  • ช่วยให้กระดูกแข็งแรง อินทผลัมมีแร่ธาตุหลายชนิด ร่วมทั้งฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แคลเซียม และแมกเนเซียม ซึ่งแร่ธาตุพวกนี้มีการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อินทผลัมมีดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

 

ข้อควรระวังของอินทผลัม

เนื่องจากอินทผลัมมีน้ำตาลอยู่ในปริมาณสูง ฉะนั้น คนที่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน ควรจะต้องระวังการกินอินทผลัมเอาไว้หน่อย แต่ถ้าเรากินอันทผลัมในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องโรคเบาหวานอยู่ก็ตาม

 

ที่มา : https://www.sanook.com


 

ราคาทองทุกชนิดตามประกาศสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2561

 

ชนิดความบริสุทธิ์ของทอง ราคาขาย/บาท ราคารับซื้อ/บาท ราคารับซื้อ/กรัม
ทองคำแท่ง 96.5% 18,650.00 18,550.00 n/a
ทองรูปพรรณ 96.5% 19,150.00 18,222.32 1,202.00
ทองรูปพรรณ 99.99% n/a 18,889.36 1,246.00
ทองรูปพรรณ 90% n/a 16,400.09 1,081.80
ทองรูปพรรณ 80% n/a 14,577.86 961.60
ทองรูปพรรณ 50% n/a 8,201.56 541.00
ทองรูปพรรณ 40% n/a 6,382.36 421.00

 

ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2561

 

ราคาน้ํามันปตท
ปตท.
ราคาน้ํามันบางจาก
บางจาก
ราคาน้ํามันเชล์ Shell
เชลล์
ราคาน้ํามันเอสโซ่ Esso
เอสโซ่
ราคาน้ํามันคาลเท็กซ์ caltex
คาลเท็กซ์
ราคาน้ํามันไออาร์พีซี irpc
ไออาร์พีซี
ราคาน้ํามันพีที PT
พีที
ราคาน้ํามันซัสโก้ susco
ซัสโก้
ราคาน้ํามันเพียว PURE
เพียว
ราคาน้ํามันซัสโก้
ซัสโก้ดีลเลอร์
แก๊สโซฮอล์ 95 30.15 30.15 30.25 30.15 30.15 30.15 30.15 30.15 30.15 30.15
แก๊สโซฮอล์ 91 29.88 29.88 29.98 29.88 29.88 29.88 29.88 29.88 29.88 29.88
แก๊สโซฮอล์ E20 27.14 27.14 27.14 27.14 27.14 27.14 27.14 27.14 27.14
แก๊สโซฮอล์ E85 21.39 21.39 21.39 21.39
เบนซิน 95 37.26 37.71 37.76 37.56 37.36 37.56
ดีเซล 29.59 29.59 29.59 29.59 29.59 29.59 29.59 29.59 29.59 29.59
ดีเซลพรีเมี่ยม 32.59 33.46 33.46 33.46 33.46
แก๊ส NGV 14.58 14.58
Comments : Off
About the Author

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า