ดึงเอกชนบริหารสถานีกลางบางซื่อ “ซีพี-ไมเนอร์-แบล็คแคนยอน”ยึดสนามบิน
ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน – สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ ร.ฟ.ท.กำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้างเพื่อให้ทันเปิดใช้ ภายในเดือน ม.ค. 2564 ด้วยเป็นสถานีรถไฟมีพื้นที่ใช้สอยใหญ่ที่สุด น้อง ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุดเตรียมจะเปิดให้เอกชนมาบริหารพื้นที่ ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จอดรถ
นับถอยหลังเปิดหวูดรถไฟฟ้าสายสีแดง ม.ค. 2564 ร.ฟ.ท.เร่งหาเอกชนมืออาชีพบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ 3 แสน ตร.ม. ศูนย์กลางเดินทางด้านระบบรางใหญ่สุดในอาเซียน เผยเปิดพื้นที่ 7,000 ตร.ม.ผุดฟู้ดคอร์ด ร้านค้า รับผู้โดยสาร ด้าน “ซีพีฯ-ไมเนอร์ฯ-แบล็คแคนยอน” บุกสนามบินภูธร ประเดิมแม่สอด อุดรธานี คิวต่อไปลุ้นอุบลราชธานี ส่วนเอไอเอสยึดหัวหาด free WiFi 28 แห่ง
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาประเมินค่าใช้จ่ายในการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ใช้สอย 264,862 ตารางเมตร และจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่ทั้งหมด และแบ่งผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.
พื้นที่เชิงพาณิชย์ 7 พัน ตร.ม.
เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ 7,000 ตารางเมตร จะทำเป็นฟู้ดคอร์ต ร้านค้า ห้องน้ำ ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัย เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของระบบราง ทั้งรถไฟสายสีแดง รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง
“พื้นที่สถานีกลางบางซื่อใหญ่น้อง ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ กระทรวงจึงให้ ร.ฟ.ท.ใช้โมเดลของสุวรรณภูมิมาเป็นต้นแบบ โดยเปิดให้เอกชนเป็นมืออาชีพรายเดียวบริหารพื้นที่ที่ไม่ไช่พื้นที่รายได้ ไม่ต้องแบ่งประมูลทีละสัญญา และไม่ต้องใช้กฎหมายร่วมทุนด้วย เป็นการจ้างดำเนินการ ส่วน ร.ฟ.ท.จะดำเนินการในส่วนที่เป็นรายได้ เช่น ป้ายโฆษณา”
ดึงเอกชนมืออาชีพบริหาร
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งหาเอกชนมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งงานก่อสร้างโดยภาพรวมช่วงบางซื่อ-รังสิต 26 กม. 10 สถานี ใช้เงินก่อสร้าง 93,950 ล้านบาท ผลงานทั้ง 3 สัญญาถึง 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
สัญญาที่ 2 งานทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต เริ่มงานเมื่อ 10 ก.พ. 2556 ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน 8 สถานี, ถนนเลียบทางรถไฟ, สะพานกลับรถ, สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ มีความคืบหน้า 99.44%
และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต เริ่มงานเมื่อ 28 มิ.ย. 2559 คืบหน้า 38.24% ใช้ขบวนรถไฟฟ้าของฮิตาชิ แบ่งเป็น 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสาร 1,710 คน/เที่ยว และ 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสาร 1,120 คน/เที่ยว อยู่ระหว่างประกอบตัวรถ ลอตแรกจะถึงประเทศไทยในเดือน ส.ค. 2562 ตามแผนจะส่งมอบได้ทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. 2563 ใช้เวลาทดสอบระบบ 6 เดือน พร้อมเปิดเดินรถในเดือน ม.ค. 2564 มีผู้โดยสาร 80,000 คน/วัน และใน 5 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน/วัน
สร้างเสร็จ พ.ย. 62
สำหรับสถานีกลางบางซื่อปัจจุบันคืบหน้า 60.28% จะเสร็จในเดือน พ.ย. 2562 เมื่อเปิดใช้จะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน พื้นที่ใช้สอย 72,542 ตารางเมตร เป็นที่จอดรถรองรับได้ 1,700 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถไปยังชั้น 1
ชั้นที่ 1 พื้นที่ใช้สอย 86,700 ตารางเมตร และชั้นลอย 12,000 ตารางเมตร รวม 98,720 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอย รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้า เชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน
ชั้นที่ 2 พื้นที่ใช้สอย 42,000 ตารางเมตร และชั้นลอย 8,800 ตารางเมตร รวม 50,800 ตารางเมตร เป็นส่วนชานชาลารองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา
และชั้นที่ 3 พื้นที่ใช้สอย 42,300 ตารางเมตร เป็นชานชาลารถไฟรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค 10 ชานชาลา แบ่งเป็นสายใต้ 4 ชานชาลา สายเหนือและอีสาน 6 ชานชาลา และจะรองรับรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง และมีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีบางซื่อ
รอ ครม.เคาะบริษัทเดินรถ
“การเดินรถรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกบริหารจัดการ ภายใน ธ.ค.นี้จะส่งรายงานการจัดตั้งบริษัทให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จากนั้นส่งไปยังกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ คนร.ตรวจสอบ คาดว่าเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก.พ. 2562 นี้” นายวรวุฒิกล่าวและว่า
บริษัทเดินรถที่จัดตั้งขึ้น ในช่วง 2 ปีแรก จะเดินรถทั้งแอร์พอร์ตเรลลิงก์และสายสีแดงระหว่างรอการเปลี่ยนผ่านระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่ให้เอกชนผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรับไปดูแล จากนั้นถึงโอนย้ายพนักงานเดิมมาที่สายสีแดง โดยขณะนี้มีพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของรถไฟที่ดูระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ประมาณ 400 คน ส่วนบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ต้องการพนักงาน 800 อัตรา
ซีพี-ไมเนอร์ บุกสนามบิน
แหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า หลังกรมเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการร้านอาหารภายในอาคารผู้โดยสารอาคาร B สนามบินอุดรธานี มีผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัท ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล (SSP), บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด, ดิ แอทติจูด และนางรัชนี เกษคุปต์
ส่วนผลประมูลสิทธิการเช่าอาคารที่ราชพัสดุเพื่อประกอบร้านอาหารว่างและเครื่องดื่มภายในสนามบินแม่สอด จ.ตาก มีผู้ชนะ 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ล็อก B 2 บริเวณโถงพักคอยชั้น 2 และล็อก B 7 บริเวณห้องพักผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ 2.บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ล็อก B 3 บริเวณโถงพักคอยชั้น 2 และล็อก B 6 บริเวณห้องพักผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ส่วนพื้นที่ที่เหลือไม่มีผู้ยื่นประมูล
เอไอเอยึด WiFi 28 แห่ง
ขณะที่ผลประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุเพื่อหาผู้ดำเนินกิจกรรม free WiFi ภายในสนามบินทั้ง 28 แห่งที่กรมกำกับดูแล ผู้ชนะคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS)
ด้านผลการคัดเลือกเพื่อหาผู้ประกอบการโรงเรียนการบิน ณ สนามบินร้อยเอ็ด จำนวน 6 แปลง เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการบินของไทยตามนโยบายของรัฐบาล พบว่ามีผู้ยื่นประมูล 3 แปลง ได้แก่ บริษัท ไทย เอวิเอชั่น จำกัด ชนะประมูล 2 แปลง และบริษัท ดี-0507 ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด จำนวน 1 แปลง
นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างเปิดประมูลให้จัดหาประโยชน์โดยการจัดให้เช่าพื้นที่ภายในที่พักผู้โดยสารของสนามบินอุบลราชธานี พื้นที่ 2,074.41 ตารางเมตร เช่น ร้านขายสินค้าของที่ระลึก ร้านอาหารว่างและเครื่องดื่ม ตู้เช็กอินอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์อาหาร
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
อสังหาฯ ยุคใหม่ ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพิ่มมูลค่า
โลกของงานออกแบบในปัจจุบันมักถูกนิยามไว้ว่าเป็นความ “วุ่นวายและขัดแย้ง” เนื่องจากเมืองขั้นนำของโลกต่างเติบโต มีประชากรเพิ่มขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้การออกแบบอาคารสมัยใหม่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงความล้ำยุค ผสมผสานกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ภายในอาคาร สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการ Go to the future เพื่อให้การอยู่อาศัยภายในอาคารที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากยังคงมีความสะดวกสบายได้ด้วย แต่ก็ใช่ว่าวิถีชีวิตในปัจจุบันจะเป็นการมุ่งหน้าไปสู่อนาคตอย่างเดียว ยังมีหลายคนที่โหยหาอยากกลับไปสู่ความเรียบง่ายในแบบดั้งเดิม และใกล้ชิดธรรมชาติด้วย ทำให้งานออกแบบต้องผสมผสานความต้องการของทั้ง 2 อย่างไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้ง Go to the future และ Back to basic
จากความต้องการด้านงานออกแบบที่มีความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลให้กับเมือง ทั้งจัดโซนพื้นที่อนุรักษ์อาคารดั้งเดิม และโซนพื้นที่อาคารสมัยใหม่ เพื่อให้เมืองมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และพร้อมที่จะก้าวไปสู่อนาคต รวมถึงภายในโครงการที่อยู่อาศัยก็เริ่มเห็นงานออกแบบที่ใส่ทั้งความเป็น “อดีต” และ “อนาคต” เข้าไว้ด้วยกัน
ในส่วนของ “อดีต” นักออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยได้ดึงจุดเด่นของทำเลที่ตั้งโครงการมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของงานออกแบบโครงการ หยิบเรื่องราวในอดีตมาใส่ในงานออกแบบอย่างกลมกลืนกับความเป็นปัจจุบัน โดยนำจุดเด่นบางอย่างของอัตลักษณ์ในท้องถิ่นมาใส่ไว้ในแบบสมัยใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ยังได้สัมผัสกลิ่นอายของเรื่องราวในอดีต
แม้การออกแบบจะใส่เรื่องราวในอดีตเข้าไป แต่ไม่ได้หมายความว่าโลกจะหยุดหมุนไว้เพียงเท่านั้น ยังสามารถผสมผสานความเป็น “อนาคต” เข้าไปในสถาปัตยกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอาคารที่มีความทันสมัย ระบบการเข้า-ออก ระบบลิฟท์โดยสาร ระบบบริหารจัดการต่าง ๆ รวมถึงระบบภายในที่อยู่อาศัยเอง
สำหรับผู้บริโภคแล้ว การที่โครงการอสังหาริมทรัพย์มีรูปแบบที่ทันสมัย ย่อมตอบโจทย์ความสะดวกในการอยู่อาศัยในโครงการนั้น ๆ ได้ดี เช่นเดียวกับการหยิบอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ามาใส่ไว้ รักษาเรื่องราวของพื้นที่นั้น ๆ ให้คงอยู่ ก็มีส่วนทำให้โครงการมีงานดีไซน์ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ อย่างชัดเจน มีความโดดเด่น และยังได้ประโยชน์ในเชิงการเรียนรู้เรื่องราวของพื้นที่นั้น ๆ ผ่านอัตลักษณ์ที่โครงการใส่ไว้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ และมีโอกาสที่จะสร้างกำไรจากราคาอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ให้สูงขึ้นในอนาคต
ยกตัวอย่างหนึ่งบริษัทที่มีจุดเด่นในการดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบคือ บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด กับโครงการวินด์แฮม แอทลาส วงศ์อมาตย์ พัทยา ที่นำจุดเด่นของท้องถิ่นซึ่งเป็นแหล่งนาเกลือ และเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวประมง มาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการใช้วัสดุจากไม้และหิน โดยเน้นในส่วนสำคัญด้วยการใช้สีของทองแดง (Copper) เพื่อแสดงถึงความหรูหราและมีเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ที่เข้ามาภายในโครงการสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของพื้นที่ จนได้รับรางวัล Best Condo Interior Design (Resort) และโครงการเลอรอย ร่วมฤดี (LEROY Ruamrudee) ที่เน้นใช้วัสดุธรรมชาติในการตกแต่งภายใน เช่น ไม้และหินอ่อนช่วยในการกำหนดบรรยากาศที่อบอุ่นของแต่ละยูนิต การันตีด้วยรางวัล Best Housing Interior Design จากงาน PropertyGuru Thailand Property Awards 2018 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
ขอบคุณข้อมูลจาก ddproperty.com
ร่างกายเผาผลาญได้ดีกว่าในช่วงบ่าย แม้กำลังพักผ่อนไม่เคลื่อนไหว
แม้ในเวลาที่นอนหลับสนิท ร่างกายของคนเราก็ยังมีการเผาผลาญพลังงานเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่น่าแปลกใจว่าอัตราการทำงานของกระบวนการเผาผลาญหรือเมตะบอลิซึมนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามช่วงเวลาของวัน แม้คนผู้นั้นจะกำลังพักผ่อนหรืออยู่นิ่งเฉยไม่ขยับเคลื่อนไหวเลยก็ตาม
ทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลบริกแฮมและสตรี (Brigham and Women’s Hospital) รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการค้นพบล่าสุดลงในวารสาร Current Biology โดยระบุว่าร่างกายมนุษย์ในภาวะที่กำลังพักผ่อน มีความสามารถในการเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น 10% ในช่วงเวลาบ่ายแก่ ๆ ติดต่อกับ 1-2 ชั่วโมงแรกของช่วงเย็นในแต่ละวัน
การค้นพบนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของนาฬิการ่างกาย (Circadian clock) ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบเผาผลาญ ทั้งยังช่วยอธิบายว่าการกินและการนอนไม่เป็นเวลา เนื่องจากการทำงานกะกลางคืนหรือเพราะสาเหตุอื่น ๆ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเป็นโรคอ้วนได้
มีการทดลองให้อาสาสมัคร 7 คนใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในห้องปฏิบัติการที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยในระหว่างนั้นจะไม่สามารถจะรับรู้เวลาจากนาฬิกาหรือมองเห็นแสงแดดจากภายนอกได้
- นอนเพียง 6 ชม.ต่อคืนหรือน้อยกว่า ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
- เลือกเป็นคอชาหรือคอกาแฟ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมรับรู้รสขม
- พบแบคทีเรียอาศัยอยู่ในสมองคนได้เหมือนกับในลำไส้
อาสาสมัครจะต้องเข้านอนตามเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเลื่อนให้ช้าออกไป 4 ชั่วโมงในแต่ละคืน เท่ากับการเดินทางรอบโลกโดยข้ามเส้นแบ่งเขตเวลา 4 เขต ไปทางตะวันตกทุกคืน ซึ่งจะทำให้นาฬิการ่างกายสับสน
แต่ด้วยวิธีนี้ นักวิจัยจะสามารถวัดค่าการเผาผลาญและใช้พลังงานของร่างกายในภาวะกำลังพักผ่อนได้ตลอดเวลา โดยไม่มีผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น กิจกรรมความเคลื่อนไหว อาหาร และวงจรการหลับ-ตื่น เข้ามาแทรกแซงจนทำให้การวัดคลาดเคลื่อน
ผลการทดลองพบว่า การใช้พลังงานของร่างกายในภาวะพักผ่อน มีค่าต่ำสุดที่ตำแหน่ง 0 องศาของวงจรนาฬิการ่างกาย หรือตรงกับเวลาในยามดึกของคนทั่วไป ซึ่งอุณหภูมิในแกนกลางของร่างกายจะลดต่ำลงอย่างมาก ส่วนอัตราการใช้และเผาผลาญพลังงานในระดับสูงสุดจะอยู่ที่ตำแหน่ง 180 องศาของวงจรนาฬิการ่างกาย หรือ 12 ชั่วโมงหลังจุดต่ำสุด ซึ่งตรงกับช่วงบ่ายแก่ ๆ และช่วงเย็นของวันตามปกติ
ทีมผู้วิจัยยังระบุว่า การทำกิจวัตรซ้ำ ๆ ในเวลาเดียวของแต่ละวัน สามารถเผาผลาญพลังงานได้มากกว่าการทำสิ่งเดิม ๆ แบบไม่เป็นเวลาแน่นอน โดยการกินอาหารและเข้านอนให้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของคนเราโดยรวม
ขอบคุณข้อมูลจาก bbc.com
สรุปครบ! รายการลดหย่อนภาษีปี 2561 พร้อมเทคนิคที่ทำให้คุณเสียภาษีน้อยที่สุด!!
HIGHLIGHTS
- สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ที่จำเป็นสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมเทคนิคการวางแผนภาษีจากประสบการณ์จริงของพรี่หนอมที่อยากแชร์ให้อ่านกัน
- เข้าใจความหมายของรายการลดหย่อนแต่ละตัว วิธีการคำนวณภาษี และ แนวคิดในการวางแผนจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- สำหรับรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 นี้ พรี่หนอมแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ตั้งแต่ ภาระติดตัวคุณ กระตุ้นเศรษฐกิจ ประกันชีวิตและการลงทุน บริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม บ่มอยู่จ้า และ ยกมาจากปีก่อน โดยแต่ละกลุ่มนั้นจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป โดยแต่ละคนควรเลือกใช้ตามเป้าหมายในการวางแผนภาษีของแต่ละคน
สวัสดีครับ พรี่หนอม TAXBugnoms พร้อมรายงานตัวกับหัวข้อที่ทุกคนต้องอ่านสำหรับปี 2561 นี้ครับ โดยเฉพาะคนที่ต้องการวางแผนและจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะบทความนี้คือ สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ทั้งหมด ทั้งที่ออกเป็นกฎหมายแล้ว และยังไม่ออกเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมในการวางแผนภาษีประจำปีนี้ครับ
และที่พิเศษกว่านั้นคือ บทความนี้จะถูกอัพเดทตลอดทั้งปีครับ ตั้งแต่หมดเขตยื่นภาษีปี 2560 ไปจนถึงสิ้นปี 2561 กันเลยทีเดียว รับรองว่าถ้ามีค่าลดหย่อนใหม่ๆ หรือตัวไหนประกาศอัพเดทมา บอกเลยว่าอ่านบทความนี้บทความเดียวพอครับผม
อ้อ!! ลืมบอกไปครับ ถ้าใครใช้ Line อย่าลืมเพิ่มพรี่หนอมเป็นเพื่อนที่ @TAXBugnomsหรือคลิกที่นี่ https://line.me/ti/p/@taxbugnoms เพื่อจะได้รับแจ้งการอัพเดทรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ก่อนใครครับผม
ก่อนอื่นขอเริ่มต้นจากตารางสรุป รายการลดหย่อนภาษีปี 2561 เป็นลำดับแรกครับ โดยในปีนี้พรี่หนอมแบ่งรายการค่าลดหย่อนภาษีออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาระติดตัวคุณกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกันชีวิตและการลงทุน บริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม บ่มอยู่จ้า (กลุ่มนี้คือรอออกเป็นกฎหมาย แต่ครม.อนุมัติแล้วครับ) และ ยกมาจากปีก่อน (ปีนี้ไม่มีสิทธิ เพราะหมดเขตไปแล้ว เป็นการใช้สิทธิลดหย่อนต่อเนื่องจากค่าลดหย่อนเดิม) เพื่อให้เห็นภาพชัดๆกันไป โดยสรุปออกมาเป็นรูปด้านล่างนี้ครับผม
หลังจากที่ดูรูปกันไปแล้ว ถ้ายังไม่จุใจ อยากรู้ว่า รายการลดหย่อนปี 2561 นั้น มีเงื่อนไขและรายละเอียดยังไงบ้าง พรี่หนอมขออนุญาตอธิบายถึงความหมายของค่าลดหย่อนเป็นอันดับแรกก่อนครับ
ความหมายของ “ค่าลดหย่อน” หรือ “ค่าลดหย่อนภาษี” มันคือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้ครับ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
ตรงนี้หลายคนมักจะสับสนความหมายของค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนครับ พรี่หนอมขอเน้นอีกทีนะครับว่า ค่าใช้จ่ายนั้นกฎหมายจะกำหนดมาให้หักตามประเภทของเงินได้ครับ นั่นคือเราต้องรู้ว่าเรามีรายได้ประเภทไหน และรายได้ประเภทนั้นหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไรครับ ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายนั้นจะมีทั้งหักได้แบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่จ่ายจริงครับ
ตรงนี้คือรายได้ 8 ประเภท (หรือเงินได้พึงประเมินตามที่กฎหมายเรียกกัน) โดยพรี่หนอมแยกออกมาเป็นแต่ละประเภทและแบ่งกลุ่มตามวิธีการได้มาของรายได้ครับ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันไปอย่างที่ว่ามานั่นแหละครับ (ขออนุญาตไม่อธิบายลงลึกในเรื่องนี้นะครับ แต่จะเขียนบทความอธิบายละเอียดอีกทีหนึ่งครับ)
ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือน จะถือเป็นรายได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาเท่านั้นในอัตรา 50% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทครับ
ดังนั้น ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือนปีละ 660,000 บาท เราก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท เหลือ 560,000 บาท และเราไม่มีค่าลดหย่อนอะไรเลยนอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ก็จะทำให้เราเหลือเงินได้สุทธิที่ต้องมาคูณกับอัตราภาษี คือ 500,000 บาท นั่นเองครับ
จากตารางอัตราภาษีที่ว่านี้ เงินได้สุทธิ 500,000 บาทคำนวณออกมาจะทำให้เสียภาษีอยู่ที่ 27,500 บาทครับ ซึ่งถ้าหากเราอยากเสียภาษีน้อยกว่านี้ สิ่งที่เราต้องทำคือการหาค่าลดหย่อนที่จะมาช่วยลดเงินได้สุทธิ 500,000 บาทลงไปให้มากที่สุดนั่นเอง
นั่นแปลว่า การมีค่าลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นจะทำให้เสียภาษีน้อยลง เพราะมันทำให้เงินได้สุทธิน้อยลงนั่นเองครับ แต่ไม่ได้แปลว่าการลดหย่อนภาษีจะประหยัดภาษีได้เต็มจำนวนที่เราจ่ายไปนะครับ อย่างเช่นกรณีตัวอย่างนี้ ถ้าหากวางแผนซื้อ LTF เพิ่มอีก 10,000 บาทก็จะทำให้เสียภาษีลดลงไปจำนวน 1,000 บาท เพราะฐานภาษีมันอยู่ที่ 10% นั่นคือทุกๆ เงินค่าลดหย่อนที่จ่ายออกไป จะทำให้ประหยัดภาษีได้ 10% เท่านั้นครับ
เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 แต่ละกลุ่มกันเลยดีกว่าครับ ว่าแต่ละตัวมีเงื่อนไขอะไรยังไงบ้างเริ่มจากกลุ่มแรกคือ กลุ่มรายการค่าลดหย่อนภาระติดตัวคุณ
ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัวคุณ
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยครับ
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันทีครับ
3. ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่) โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
- ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรต้องมีเงินได้ในปีไม่เกิน 30,000 บาท (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)
โดยปี 2561 นี้ มีการ UPDATE เพิ่มตัวค่าลดหย่อนบุตร ในกรณีที่มีลูกคนที่ 2 เป็นต้นไปจะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท ถ้าใครที่มีลูกคนที่สองเป็นต้นไปตั้งแต่ต้นปี 2561 ก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลยครับผม ใครปั้มไหวก็รับไปเน้นๆ เลยจ้า
ลองคิดดูเล่นๆว่า ถ้ามีลูกคนแรกปีนี้ จะได้ค่าลดหย่อน 30,000 บาท และ ค่าคลอด 60,000 บาท รวมเป็น 90,000 บาท แต่ถ้าหากมีลูกคนที่สองปีนี้ จะได้ค่าลดหย่อน 30,000 + 60,000 + 60,000 = 150,000 บาทกันเลยทีเดียวนะจ๊ะจะบอกให้
4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- ต้องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร”
- จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท
- ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาทครับ
แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ใน กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้นนะครับ
สำหรับเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียวครับ เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วครับ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วครับ
6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยนะครับ
และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนครับ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาทครับ (มาจาก 60,000 + 60,000 บาท)
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 กลุ่มต่อมา คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ ในกลุ่มนี้จะเป็นค่าลดหย่อนที่ให้เพิ่มสำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างหรือเป็นมาตรการของรัฐที่อยากกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นครับ ซึ่งในกลุ่มนี้มีรายการค่าลดหย่อนดังต่อไปนี้ครับ
1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คน จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิได้คือ 100,000 และแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาทครับ
อย่าลืมนะครับว่า!! การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ครับ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาทครับ ผมใช้สรุปง่ายๆว่า มองภาพรวมต่อบ้าน แล้วค่อยหารต่อคนครับ นั่นคือ บ้าน 1 หลังใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตัวนี้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท และคน 1 คนก็ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นเดียวกันครับ
2. ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้เพิ่มสำหรับกรณีคนทำธุรกิจที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตครับ ตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 – 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 นะครับ (ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และ ธุรกิจอื่นๆ) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไปครับ
3. ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวไทย (55 จังหวัดเมืองรอง) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาทสำหรับค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งลดได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าทัวร์ ค่าที่พัก เหมือนเดิมกับกฎหมายเก่า เพิ่มเติมขึ้นมาอยู่ 2 เรื่องครับ นั่นคือ สามารถใช้จ่ายเป็นค่าที่พักกับโฮมสเตย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยวด้วยครับ กับเงื่อนไขคือไม่ครบทั่วไทย ได้แค่กลุ่มเมืองรอง 55 จังหวัดเท่านั้นจ้า
สำหรับคนที่สงสัยว่า 55 จังหวัดเมืองรองคืออะไรบ้าง อ่านกันให้ดีครับผม นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยน่าน น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี
4. เงินลงทุนในธุรกิจ Startup 100,000 บาท สำหรับตัวนี้เป็นการสนับสนุนเพ่ิมเติมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังฮอตฮิตครับ ซึ่งคำว่า ธุรกิจ Startup ที่ว่านี้ หมายถึง
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่เราลงทุนในธุรกิจนั้น
- ประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. และผ่านการรับรองจากทาง สวทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีรายได้จากการประกอบกิจการในส่วนนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด
โดยสิทธิลดหย่อนภาษีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งถ้าในปีไหนที่เรามีการลงทุนก็สามารถใช้สิทธิในปีนั้นๆได้ครับ
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน
สำหรับตอนนี้กลุ่มค่าลดหย่อนที่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังมีเพียงเท่านี้ครับ ส่วนรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 กลุ่มต่อมาจะเป็นเรื่องของ ประกันชีวิตและการลงทุน ครับ โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนภาษีแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วนครับ คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ในการวางแผนภาษีอีกส่วนหนึ่งครับ ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนก็ตาม พรี่หนอมขอแนะนำให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีนะครับ และในกลุ่มนี้จะมีรายการค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องตามนี้ครับ
1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ
เรื่องของเงื่อนไขนั้น จะมีเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ ตรงนี้ผมไม่อยากให้จำตามกฎหมายมากนักครับ แต่อยากจะให้เน้นความสำคัญตรงที่ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันที่ระบุไว้ว่าเป็นค่าประกันชีวิตเท่าไรครับ
สำหรับใครที่สงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหนกันแน่ ผมแนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) ได้เลยครับ หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จำนวนเท่าไหร่ครับ
2. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพนั้นหมายถึงกลุ่มต่อไปนี้ครับ
- ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
- การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
3. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ตรงนี้เน้นว่า ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นครับ โดยความหมายของประกันสุขภาพนั้นใช้หลักการเดียวกันกับประกันสุขภาพของเรานะครับ
โดยเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่นั้น เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้ท่าน สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วยครับ
4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นจะมีเรื่องของ ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการ จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น ่รวมถึงต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์อีกด้วยครับ
แต่ถ้าเอาง่ายๆก็สอบถามตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) นั่นแหละครับ ง่ายที่สุดและข้อมูลชัดเจนที่สุด จะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการจัดการภาษีครับผม
5. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุนรวม LTF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทินด้วยครับ สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไปครับ
6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเราครับ นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF มีเงื่อนไขเพิ่มเติมตามนี้ครับ
- ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
- ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท
- ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
7. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดกับนายจ้างไว้ครับผม
8. เงินประกันสังคม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาทครับ
9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท อันนี้เป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้กับคนที่ยังไม่ได้มีการวางแผนจัดการเรื่องนี้ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทครับ
อ่านตรงนี้ด้วยนะครับ เพราะสำคัญมาก สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อน ประกันชีวิตและการลงทุน จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการวางแผนเกษียณครับ คือ ยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยนะครับ
ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม
ผ่านเรื่องของการออมไปแล้ว ก็มาอยู่กันกับค่าลดหย่อนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ บริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม ซึ่งเป็นเรื่องของการให้ครับ พรี่หนอมมองว่าเรื่องนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิตเป็นกุศล อยากจะส่งผ่านสิ่งที่เรามีไปให้คนอื่น และการที่เราเป็นคนดีแบบนี้ ภาครัฐเลยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมครับ
โดยรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 สำหรับกลุ่มนี้นั้น จะมีวิธีคำนวณแตกต่างออกไปครับ เพราะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้วครับ โดยจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆทั้งหมดแล้วนั่นเองครับ #หรือพูดง่ายกว่านั้นคือเก็บไว้หักตัวสุดท้ายนั่นเองจ้า
ดังนั้นจากที่เราเคยคำนวณภาษีแบบนี้
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
จะกลายเป็น
[(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี
โดยในปี 2561 นี้ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการบริจาคจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า กับ 1 เท่า ครับ โดยมีรายละเอียดตามนี้ครับ
กลุ่มลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และช่วยเหลือสังคม สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ อย่างที่ว่าไว้นั่นแหละครับ
สำหรับกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง สามารถตรวจสอบได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร ตามลิงค์นี้เลยครับ http://www.rd.go.th/publish/28654.0.html (สำหรับการศึกษา) และ http://download.rd.go.th/fileadmin/download/sportsociety_241256.pdf (สำหรับการกีฬา)
2. เงินบริจาคให้ “สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง” ซึ่งหมายถึง สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านเทคโนโลยี และวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง จากต่างประเทศหรือ “คพอต” นั่นเองครับ
หรือพูดง่ายๆในสไตล์พรี่หนอม นั่นคือ เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องให้กับสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ EEC และได้รับอนุมัติจาก คพอต ว่าเป็นสถาบันการศึกษาคุณภาพสูงนั่นเองจ้า ยังไงเช็คให้ดีก่อนนะครับ เพราะว่ากลุ่มนี้กับข้อ 1 น่าจะเป็นกลุ่มลดหย่อนเดียวกันนะครับ (ฝากรอแนวทางที่ชัดเจนอีกทีจากพรี่หนอมนะครับผม กดติดตามได้ที่เพจ TAXBugnoms หรือคลิก https://line.me/ti/p/@taxbugnoms เพื่อจะได้รับแจ้งการอัพเดทอีกทีเมื่อมีแนวทา่งที่ชัดเจนคร้าบ)
3. ค่าลดหย่อนบริจาคโรงพยาบาล (เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า) ของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนนั้น เป็นมาตรการที่กระตุ้นให้คนบริจาคให้กับสถานพยาบาลต่างๆของราชการครับ ทั้งที่เป็นสถาบันศึกษา องค์กรมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆของรัฐ รวมถึงสภากาชาดไทย แต่มีเงื่อนไขว่า เมื่อรวมกับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ ครับ
กลุ่มลดหย่อนภาษีตามปกติ
1. เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในกลุ่มที่เป็น 2 เท่าแล้วครับ
โดยคำว่าเงินบริจาคทั่วไป จะเป็นเงินที่เราบริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษา ต่างๆ รวมถึงมูลนิธิที่เป็นองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งตรงนี้บอกเลยครับว่าสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากรเช่นเดียวกันครับ ที่ลิงค์นี้เลยจ้า http://www.rd.go.th/publish/29157.0.html
และสำหรับปี 2561 นี้มีการเพิ่ม ค่าลดหย่อนน้ำท่วม ขึ้นมาด้วยนะครับ เนื่องจากช่วงนี้มีข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ถ้าเรามีการบริจาคให้กับหน่วยงานที่เป็นตัวกลางอย่างภาครัฐ หรือ เอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นะครับ แต่ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้นครับ
ค่าลดหย่อนกลุ่มยกมาจากปีก่อน
ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นค่าลดหย่อนที่ ยกมาจากปีก่อน ซึ่งเหลืออยู่กลุ่มเดียวแล้วล่ะครับ นั่นคือ ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 120,000 บาท (เน้นว่า…ค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นสิทธิต่อเนื่องจากการซื้อบ้านหลังแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้นนะครับ) ให้สิทธิสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้สิทธิพิเศษสามารถนำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปลดภาษีได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
- ใช้สิทธิตั้งแต่ปีภาษี 2558 – 2559 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี
- ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย
และทั้งหมดนี้ คือ รายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ที่ผมตั้งใจเขียนขึ้นมาทันทีหลังจากหมดเขตยื่นภาษีปีสำหรับปี 2560 เพื่อให้ทุกคนอ่านและวางแผนล่วงหน้าไว้ครับ ซึ่งถ้าหากว่ามีรายการลดหย่อนภาษีตัวใหม่ๆเพิ่มเติมขึ้นมา บทความนี้ก็จะถูกอัพเดททุกครั้งเพื่อให้เป็นบทความค่าลดหย่อนภาษีที่อัพเดทที่สุดครับผม
เทคนิคการวางแผนภาษีให้ประหยัดสูงสุด
โดยใช้ค่าลดหย่อนเป็นตัวช่วย
สำหรับในปี 2561 นี้การวางแผนภาษีของผมที่บอกว่าจะทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดนั้น ผมขอแนะนำหลักการง่ายๆสั้นๆ 3 ข้อนี้ครับ คือ
1. ประมาณการรายได้ทั้งปีว่ามีเท่าไรและเป็นรายได้กลุ่มไหนตามกฎหมาย สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนเลยคือรายได้ทั้งปีนี้ของเราประมาณเท่าไร ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเป็นมนุษย์เงินเดือนจะได้เปรียบมากๆครับ เพราะว่ารู้เลยว่ามีเท่าไร ซึ่งหลังจากที่รู้แล้วก็ต้องมาดูต่อว่า แล้วรายได้ของเรานั้นเป็นประเภทไหนตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้คำนวณการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของรายได้ และคำนวณภาษีออกมาได้อย่างถูกต้องครับ
2. กระแสเงินสดที่เหลือจริงมีเท่าไร สิ่งต่อมาที่ต้องดูคือ กระแสเงินสดคงเหลือจากการใช้จ่ายจริง สิ่งที่เรารู้จากข้อแรกคือ รายได้แบบประมาณการ และจำนวนภาษีคร่าวๆ ที่ต้องเสีย ทีนี้เราต้องมาประมาณต่อครับว่า แล้วทั้งปีเรามีค่าใช้จ่ายจริงอะไรบ้าง และค่าลดหย่อนอะไรที่ต้องจ่ายต่อจากปีก่อนบ้าง เช่น ประกันชีวิต RMF ดอกเบี้ยบ้าน เพื่อให้รู้ว่าจำนวนเงินที่คงเหลือเป็นกระแสเงินสดที่เรามีนั้นเป็นเท่าไร แล้วค่อยมาวางแผนภาษีในขั้นตอนสุดท้าย
จะเห็นว่าทั้งสองข้อนั้นมาจากการทำประมาณการกระแสเงินสดจากงบรายรับรายจ่ายล่วงหน้าครับ เพื่อหาจำนวนคร่าวๆที่เราจะต้องใช้ในการวางแผนภาษี แล้วค่อยมาดูต่อในข้อสุดท้ายว่า…
3. เราต้องการอะไรมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมบ้าง และวัตถุประสงค์คืออะไร ผมจะบอกเสมอว่าการลดหย่อนภาษีให้ดูอยู่ 2 เรื่อง คือ มีเงินพอ และ เราก็ต้องการ เพื่อให้เราสามารถซื้อได้ต่อเนื่องสำหรับค่าลดหย่อนภาษีบางประเภท เช่น RMF ประกันชีวิตต่างๆ ประกันสุขภาพ เงินส่วนนี้ต้องจัดสรรให้ดีก่อน เพราะว่าถ้าหากมีการทำผิดพลาดเงื่อนไขไปก็จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเราได้ครับ ดังนั้นตรงนี้ต้องตอบตามเป้าหมายการเงินและวัตถุประสงค์ของชีวิตเราให้ดี เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวและพร้อมจะจัดการวางแผนภาษีต่อไปครับ
สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าถ้ายึดตามหลักการของรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ที่อธิบายไว้ทั้งหมดนี้ แล้ววางแผนภาษีดีๆ หลายคนจะพบกับหนทางที่ช่วยสร้างอิสรภาพทางการเงินไปพร้อมๆกับการวางแผนภาษีอย่างแน่นอนครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก aommoney.com
To be streets ahead
หากว่ามีใครหรืออะไรที่ ‘streets ahead’ นั่นหมายความว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้น ดีกว่าหรือก้าวหน้ากว่าคนอื่นหรือสิ่งอื่น ๆ มาก
- Our new product will be a huge success and will ensure we are streets ahead of our competitors.
- The football team was streets ahead of its rivals. They did not lose a single game in the league.
- Tom is streets ahead of other students. He is just so smart!
ขอบคุณข้อมูลจาก bbc.com
ราคาทองทุกชนิดตามประกาศสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 03/12/
ชนิดความบริสุทธิ์ของทอง | ราคาขาย/บาท | ราคารับซื้อ/บาท | ราคารับซื้อ/กรัม |
ทองคำแท่ง 96.5% | 19,050.00 | 18,950.00 | n/a |
ทองรูปพรรณ 96.5% | 19,550.00 | 18,616.48 | 1,228.00 |
ทองรูปพรรณ 99.99% | n/a | 19,298.68 | 1,273.00 |
ทองรูปพรรณ 90% | n/a | 16,754.83 | 1,105.20 |
ทองรูปพรรณ 80% | n/a | 14,893.18 | 982.40 |
ทองรูปพรรณ 50% | n/a | 8,383.48 | 553.00 |
ทองรูปพรรณ 40% | n/a | 6,518.80 | 430.00 |
ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ 03/12/
ปตท. |
บางจาก |
เชลล์ |
เอสโซ่ |
คาลเท็กซ์ |
ไออาร์พีซี |
พีที |
ซัสโก้ |
เพียว |
ซัสโก้ดีลเลอร์ |
|
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
แก๊สโซฮอล์ 95 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 | 27.65 |
แก๊สโซฮอล์ 91 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 | 27.38 |
แก๊สโซฮอล์ E20 | 24.64 | 24.64 | 24.64 | 24.64 | 24.64 | – | 24.64 | 24.64 | 24.64 | 24.64 |
แก๊สโซฮอล์ E85 | 20.19 | 20.19 | – | – | – | – | – | 20.19 | 20.19 | – |
เบนซิน 95 | 35.06 | – | – | – | 35.51 | – | 36.06 | 35.36 | 34.86 | 35.36 |
ดีเซล | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 | 27.29 |
ดีเซลพรีเมี่ยม | 30.89 | 31.16 | 31.16 | 31.16 | 31.16 | – | – | – | – | – |
แก๊ส NGV | 16.13 | 16.13 | – | – | – | – | – | – | – | – |