เปิดงานวิจัยอสังหา เร่งปั้นแบรนด์ชิงผู้นำ
ทุกวันนี้การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้มีความแตกต่างกันในเรื่องคุณภาพสินค้า ที่ตั้งโครงการหรือแม้แต่โปรโมชั่น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอสังหาฯ อยู่รอดได้คือ การสร้างแบรนด์ให้แตกต่างและเป็นที่จดจำ
ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์พาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การสร้างแบรนด์มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และต้องสร้างแบรนด์ในช่วงเวลาที่บริษัทมีสุขภาพดี เปรียบเทียบว่าหากร่างกายต้องการสร้างซิกซ์แพ็กจำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงที่ร่างกายแข็งแรงจะไม่มีใครที่ออกกำลังการในช่วงป่วยแล้วบอกว่าต้องการมีซิกซ์แพ็ก หรือแม้แต่การสร้างแบรนด์ของบุคคลนั้นก็สามารถสร้างได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ตูน บอดี้สแลม ที่สร้างตัวตนจากร็อกเกอร์มาเป็นนักวิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การเลือกใช้สื่อในการสร้างแบรนด์นั้นต้องคู่ขนานกันไปทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แม้ว่าในปัจจุบันสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยม แต่สื่อออฟไลน์ก็มีผลที่ดี อย่างเช่นการใช้สื่อบิลบอร์ดในภาพลักษณ์ของแบรนด์ และสร้างการจดจำ
ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวิน ดิจิตอล กล่าวว่า การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำนั้น เริ่มจากเราจะต้องรู้จักตัวเองและลูกค้าว่าเป็นใคร จะขายสิ่งใดให้กับลูกค้าเหล่านั้น เพราะสินค้าบางอย่างคนซื้อกับคนใช้งานเป็นคนละคน จุดขายเช่นกลุ่มเป็นหมายเฉพาะ เช่น พัฒนาโครงการระดับบน เจาะกลุ่มแพทย์ เป็นต้น และที่สำคัญการทำตลาดในยุคปัจจุบันจะคำนึงถึงการใช้บิ๊กดาต้า การเก็บข้อมูลจำนวนมาก แต่ที่สำคัญอย่างสมอลล์ดาต้า หรือการรู้จักสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อนำมาใช้ประกอบในการทำบิ๊กดาต้าเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน
สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง ผู้ให้บริการเว็บไซต์อสังหาฯ TerraBKK เปิดเผยว่า ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการรับข้อมูลข่าวสารสินค้า บริการต่างๆ รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่สามารถทำได้จากสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์ติดตลาดและเป็นที่รู้จักก่อนเสมอ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่าง ให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่มกว่าคู่แข่งในตลาด
“สิ่งที่จะเป็นแบรนด์ขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่เพียงโลโก้ สโลแกน ภาพโฆษณาสวยหรูแต่หากพูดกันง่ายๆ แบรนด์คือสิ่งที่คุณทำ คุณสื่อสารออกไปและลูกค้ารู้สึกกับแบรนด์ของคุณอย่างไร เมื่อมารวมกันได้อย่างพอเหมาะพอดีแบรนด์ จะส่งผลต่อยอดขายนั่นเอง” สุมิตรา กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้สำรวจแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ทรงพลังปี 2018 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 470 คน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 93% และจังหวัดอื่น 7% ด้วยวิธีออนไลน์เซอร์เวย์ ช่องทาง TerraBkk พบว่า ด้านตระหนักรู้ (Top of Mind Awareness) แบรนด์อันดับ 1 คือ แสนสิริ 29% อันดับ 2 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 23% และอันดับ 3 พฤกษา เรียลเอสเตท 11% อันดับ 4 อนันดา และแอล.พี.เอ็น. ด้านอัตลักษณ์ที่ผู้คนชื่นชม (Best Brand Identities) แบรนด์อันดับ 1 คือ แสนสิริ อันดับ 2 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อันดับ 3 อนันดา 4.เอสซี แอสเสทและ 5.พฤกษา
การสำรวจในครั้งนี้มีการเปรียบเทียบภาพลักษณ์แบรนด์อสังหาฯ กับแบรนด์รถยนต์ พบว่า แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เทียบกับเมอร์เซเดสเบนซ์ เพราะทั้งสองแบรนด์มีภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้สึกคือความเป็นผู้ใหญ่ ดูน่าเชื่อถือและไว้วางใจในคุณภาพและสัมผัสได้ถึงความหรูหรา
แสนสิริ เมื่อเทียบกับบีเอ็มดับเบิลยูซึ่งสองแบรนด์นี้มีภาพลักษณ์ที่ทำให้หลายคนนึกถึงความทันสมัย โดดเด่นและมีสไตล์ โดยแสนสิรินำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการอยู่อาศัย นอกจากนี้ยังใช้โทนสีที่ให้ความรู้สึกถึงความล้ำสมัยของคนรุ่นใหม่ ส่วนบีเอ็มดับเบิลยูยังคงขึ้นชื่อด้านความทันสมัย สร้างคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ภาพลักษณ์ที่บีเอ็มดับเบิลยู จึงมักจะเป็นภาพที่ดูทันสมัย มีความเป็นคนรุ่นใหม่
พฤกษา เทียบกับโตโยต้า ทั้งสองแบรนด์นี้ต่างก็เป็นอันดับ 1 ในเรื่องยอดขาย เพราะสินค้ามีความหลากหลายตั้งแต่ระดับอีโคโนมีไปจนถึงระดับลักซ์ชัวรี่บนราคาที่สมเหตุสมผล นอกจากนี้ทั้งสองแบรนด์ยังใช้สโลแกนที่เกี่ยวข้องกับความสุข ทำให้ภาพลักษณ์ของโตโยต้าที่สื่อถึงรอยยิ้ม ความสนุกและความสุขของผู้ที่ได้ขับขี่รถโตโยต้า
อนันดา ที่คนส่วนใหญ่มองว่าคล้ายกับมินิคูเปอร์ ที่ดูเหมือนว่าจะคล้ายกันในเรื่องความเก๋ไก๋ในรูปลักษณ์และความทันสมัยดูเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีสไตล์ เอสซี แอสเสท เป็นอีกแบรนด์ที่น่าจับตาเพราะเป็นแบรนด์ที่ใกล้เคียงกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และแสนสิริ คล้ายกับโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ของมหาเศรษฐี
ขอบคุณข้อมูลจาก www.posttoday.com
ติดแน่! รัชดา-พระราม3-พระราม4 กทม.สร้างทางลอดราชพฤกษ์-สะพานข้ามแยกระนองเริ่ม 9 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และนายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง เพื่อทำการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างสะพานฯ และเส้นทางเลี่ยงการจราจรระหว่างการก่อสร้าง
ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการก่อสร้างสะพานดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการจราจรในถนนวงแหวนรัชดาภิเษกและถนนสายหลัก ตลอดจนแก้ไขปัญหาจุดตัดบริเวณวงแหวนรัชดาภิเษกและถนนสายหลัก เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณแยกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถนนพระราม 3 และถนนเชื่อมต่อ
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง จะดำเนินการก่อสร้างสะพานยกระดับ 4 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความยาว 1,950 ม. เริ่มจากบริเวณโรงเรียนนนทรีวิทยา ถนนพระรามที่ 3 ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางยกระดับข้ามแยก ณ ระนอง เชื่อมต่อกับทางยกระดับข้ามทางแยกถนนพระราม 4 ที่มีอยู่เดิม
พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามถนนเชื้อเพลิง 2 ช่องจราจร ความยาว 770 ม. เพื่อทดแทนสะพานเดิมที่ต้องทุบทิ้ง และก่อสร้างสะพานเลี้ยวขวาจากถนนพระราม 3 ข้ามแยก ณ ระนอง ในแนวถนนรัชดาภิเษก – สุนทรโกษา 2 ช่องจราจร ทิศทางเดียว ความยาว 600 ม. เริ่มต้นสัญญาวันที่ 26 ก.ย.25 61 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 2564 ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน หรือประมาณ 3 ปี
แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 โซน ดังนี้ โดยโซนที่ 1 เริ่มจากจุดเริ่มต้นก่อสร้างสะพานยกระดับจากแยกนางลิ้นจี่ระยะทาง 700 เมตร เริ่มลงพื้นที่ดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป โซนที่ 4 สะพานข้ามแยก ณ ระนองไปแยกศุลกากร เริ่มดำเนินการประมาณเดือน ธ.ค. 2561 โซนที่ 2 สะพานข้ามถนนเชื้อเพลิงที่เชื่อมต่อจากโซนแรกระยะทาง 700 เมตร เริ่มดำเนินการประมาณต้นปี 2562 และโซนที่ 3 สะพานข้ามแยก ณ ระนอง จะเริ่มดำเนินการประมาณกลางปี 2562 เป็นต้นไป
จัดเส้นทางเบี่ยง และทางเลี่ยง ระหว่างการก่อสร้าง
ทั้งนี้ในการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง จะไม่มีการปิดการจราจร แต่จะปิดช่องจราจรบางช่องและใช้วิธีปรับช่องจราจรให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับการก่อสร้าง ทั้งนี้ได้มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงโครงการก่อสร้างดังกล่าวด้วย พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกเลี่ยงเส้นทางในระหว่างการก่อสร้าง
นอกจากนี้ได้จัดทำแผนการจัดการจราจรกำหนดเส้นทางเลี่ยงการจราจร ดังนี้
เส้นทางที่ 1 จากถนนพระราม 3 เข้าถนนเชื้อเพลิง จะมาตัดกับถนนพระราม 4 บริเวณแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4
เส้นทางที่ 2 จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญตรงไปถนนเชื้อเพลิง 4 เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปออกถนนเชื้อเพลิง
เส้นทางที่ 3 จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญ เลี้ยวขวาเข้าถนนเย็นอากาศมุ่งหน้าไปถนนนางลิ้นจี่ เลี้ยวขวาเข้าถนนจันทร์ออกถนนนราธิวาสราชนครินทร์
เส้นทางที่ 4 จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญ เลี้ยวขวาเข้าถนนเย็นอากาศมุ่งหน้าไปถนนนางลิ้นจี่ เลี้ยวซ้ายออกถนนรัชดาภิเษก
เส้นทางที่ 5 จากถนนซอยอมรมุ่งหน้าไปถนนจันทร์เก่า ออกถนนนราธิวาสราชนครินทร์
และเส้นทางที่ 6 จากแยกนางลิ้นจี่ถนนพระราม 3 ไปวงแหวนอุตสาหกรรมเข้าถนนปู่เจ้าสมิงพราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 3109 (ถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ) มุ่งหน้าไปท่าเรือ 2
เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เสริมโครงข่ายถนนให้มีความสมบูรณ์ เป็นการแก้ไขปัญหาถนนที่มีลักษณะคอขวด ลดจุดตัดการจราจรถนนรัชดาภิเษกและถนนสายหลักต่อเนื่องไปยังบริเวณโดยรอบ เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ปิดช่องจราจรบางส่วน
รองปลัด กทม.กล่าวว่า บริเวณแยก ณ ระนอง และถนนเชื้อเพลิงมีปัญหาการจราจรเป็นจำนวนมาก จึงได้สร้างสะพานข้ามทางแยกเพื่อลดปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งในการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาประมาณ 900 วัน โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วงๆ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้าง แต่ก็ได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปรับการเดินรถ เบี่ยงทางแยก หรือเปิดช่องทางพิเศษกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องระบายรถ เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนได้อย่างมาก สามารถช่วยให้ประชาชนเดินทางได้เร็วขึ้น
นอกจากการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง แล้ว ขณะนี้กทม.ได้ดำเนินการโครงการทางลอดแยกรัชดา – ราชพฤกษ์ พร้อมๆ กับโครงการสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ด้วย
รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า จุดที่อาจส่งผลกระทบหรือเกิดปัญหาการจราจรบ้าง คือ บริเวณเส้นถนนพระราม 4 ถนนพระราม 3 และถนนรัชดา ซึ่งในการก่อสร้างขอให้กระทบกับผิวจราจรน้อยที่สุด และจัดเส้นทางเบี่ยงให้ประชาชน
รวมถึงขอให้แนะนำทางเลี่ยงต่างๆ ให้ประชาชนทราบ ซึ่งในการบริหารจัดการระบบจราจรช่วงที่มีการก่อสร้างนั้นจะเน้นดำเนินการช่วงเวลาเช้าและเย็นเป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีการใช้รถใช้ถนน ซึ่งหากมีรถที่ต้องระบายจำนวนมากก็จะมีการเปิดช่องทางพิเศษให้รถวิ่ง ทั้งนี้ปกติในแต่ละวันจะมีรถผ่านแยก ณ ระนอง ประมาณ 2 แสนคันต่อวัน ขณะนี้ยังไม่วิตกกังวลอะไรกับการจัดการจราจรในบริเวณดังกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก www.prachachat.net
3 เหตุผลที่ควรรู้กับ‘ค่าส่วนกลาง’
โดย…สมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ Logo
สำหรับเจ้าของร่วม (ชาวคอนโด) แล้ว “ค่าส่วนกลาง” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ว่า “จ่ายไปเพื่ออะไร” เปรียบได้กับระบบภาษีที่ทุกคนต้องจ่ายเพื่อนำมาพัฒนาประเทศชาติ เช่นเดียวกับที่เจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องจ่าย “ค่าส่วนกลาง” เพื่อไปพัฒนา และบริหารจัดการพื้นที่หรือทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมที่แต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ เช่น ระบบความปลอดภัย งานความสะอาด ระบบลิฟต์ ระบบแสงสว่าง การดูแลสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย ฯลฯ ตามแต่คอนโดนั้นๆ จะมีระบบ หรือทรัพย์อะไรเป็นของส่วนกลางบ้าง โดยมีฝ่ายจัดการนิติบุคคลอาคารชุดทำหน้าที่บริหารจัดการ ทั้งคอยให้บริการ ดูแลจัดการ และบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการอำนวยความสะดวกภายในชุมชนให้การอยู่อาศัยปลอดภัย มีความสะดวกสบาย
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายเหตุผลที่เจ้าของร่วมควรรู้เกี่ยวกับ “ค่าส่วนกลาง” ขอยกมา 3 เหตุผลหลักที่คาดว่าหลายท่านอาจยังมีข้อสงสัย เริ่มจาก
1.ทำไมต้องจ่ายค่าส่วนกลาง … ถ้าไม่จ่ายจะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อคอนโดนั้นๆ ได้รับการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด หมายความว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดในคอนโดนั้นเป็นเจ้าของร่วม มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีสิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ เจ้าของร่วมต้องชำระค่าส่วนกลางที่เกิดจากการบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง โดยการอยู่คอนโดมีทั้ง “ทรัพย์ส่วนบุคคล” และ “ทรัพย์ส่วนกลาง” ค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ส่วนบุคคลเป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละท่าน สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน ฝ่ายจัดการของนิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นคนดูแล เพื่อนำค่าส่วนกลางที่ได้รับมาบริหารการใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคภายในชุมชน หรือบริหารทรัพย์ส่วนกลางทุกส่วน กรณีที่เจ้าของร่วมไม่จ่ายค่าส่วนกลางตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดก็จะมีผลทางกฎหมาย โดยเบื้องต้นทางนิติบุคคลอาคารชุดจะส่งจดหมายทวงถาม มีการกำหนดค่าปรับ หรือสามารถระงับการให้บริการสาธารณูปโภค ขึ้นอยู่กับว่าข้อบังคับอาคารชุดระบุไว้ว่าอย่างไร โดยการเรียกเก็บค่าส่วนกลางจะขึ้นอยู่กับรอบการชำระของแต่ละชุมชนนั้นๆ
2.สำหรับห้องชุดที่ยังไม่มีคนซื้อ ใครจ่ายค่าส่วนกลาง
กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า หน้าที่ในการจ่ายค่าส่วนกลาง คือเจ้าของร่วมทุกคน หรือหากผู้ประกอบการ (เจ้าของโครงการ) ที่ยังขายห้องชุดไม่ได้ ก็จะต้องเป็นคนจ่ายทั้งค่าส่วนกลาง และเงินกองทุนของห้องชุดนั้นๆ เพราะมีสถานะเป็นเจ้าของร่วมเช่นกัน
3.หากไม่จ่ายค่าส่วนกลางมีสิทธิถูกยื่นเรื่องฟ้องศาล และไม่สามารถขายต่อได้
ตามกฎหมายอาคารชุด เจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะรับจดทะเบียนนิติกรรมห้องชุดนั้นๆ ก็ต่อเมื่อไม่มีหนี้ค้างชำระเกี่ยวกับค่าส่วนกลางใดๆ ซึ่งในทางปฏิบัติ เจ้าของร่วมก็ต้องยื่น “หนังสือรับรองการปลอดหนี้” ลงนามโดยผู้จัดการอาคารชุดนั้นๆ มาให้เจ้าหน้าที่ที่ดินด้วย ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะไม่รับจดทะเบียนนิติกรรมให้ทั้งซื้อ ขาย หรือขายฝาก เป็นต้น และหากค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนขึ้นไป ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดสามารถฟ้องบังคับชำระหนี้เงินค่าส่วนกลางต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522
อย่างไรก็ตาม “ค่าส่วนกลาง” มีไว้เพื่อบำรุงรักษา อำนวยความสะดวกในทรัพย์ส่วนกลางในชุมชนที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน อัตราค่าส่วนกลางมาจากการคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดูแลบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง หากได้รับไม่ครบถ้วน “ชุมชนน่าอยู่” อาจเกิดความทรุดโทรมของทรัพย์สิน เกิดความไม่สะดวกสบายในการอยู่อาศัย และที่สำคัญจิตใจของผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชน ก็คงไม่มีใครอยากอยู่ในบ้านที่ไม่น่าอยู่นี้เช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.posttoday.com