หมายเหตุ – บทความเรื่อง “ปรับโมเดลการพัฒนาประเทศให้โตได้ในความปั่นป่วน” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่อธิบายเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต
เทคโนโลยีและความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาซึ่งความปั่นป่วนในหลายตลาด เช่น บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นของอูเบอร์ (Uber) เป็นตัวอย่างหนึ่งของความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในอดีตผู้สอบใบอนุญาตเพื่อขับรถแท็กซี่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะต้องสามารถจดจำถนน 6 หมื่นเส้นทางให้ได้ทั้งหมด แต่อูเบอร์ทำให้มีผู้ขับขี่จำนวนมากสามารถขับรถได้โดยไม่ต้องจดจำถนน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการเดิมอย่างรุนแรง จนเกิดการประท้วงใหญ่
นอกจากนี้ บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นยังทำให้ราคาใบอนุญาตขับรถแท็กซี่สาธารณะในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เคยสูงถึง 1.2 ล้านเหรียญต่อคันลดลงอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ได้สร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) อันเป็นการนำทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินดังกล่าวเช่น รถยนต์เป็นของตัวเองอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในเมือง และการวางผังเมืองอย่างมาก
ผลกระทบต่อภาคการผลิต
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อทุกภาคการผลิต ในภาคเกษตรกรรม มีตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีมากมาย เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท จอน เดียร์ ได้พัฒนารถแทรกเตอร์อัจฉริยะที่สามารถควบคุมและสั่งการให้ดูแลใส่ปุ๋ย รดน้ำจากหน้าจอควบคุม ซึ่งช่วยลดแรงงานและต้นทุนในการผลผลิต
นอกจากนั้น ในประเทศญี่ปุ่น มีการใช้เซ็นเซอร์แสงในการคัดคุณภาพของมันหวานมิยาซากิ และมีการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มผลิตภาพในฟาร์มเลี้ยงโควากิว เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทยมีตัวอย่างการทำสมาร์ทฟาร์มของเครือมิตรผล ที่มีการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่ภูมิศาสตร์ในการประเมินผลผลิตและใช้โดรนในการเพิ่มผลผลิตของไร่อ้อย
ในภาคอุตสาหกรรม มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานมากมาย ทั้งการบริหารจัดการคลังสินค้า (warehouse) ซึ่งสามารถลดจำนวนคนงานได้มาก โดยในประเทศไทยมีการพัฒนาระบบคลังอัตโนมัติของหลายบริษัท เช่น บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ และบริษัทขอนแก่นแหอวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตแหอวนรายใหญ่ของโลกและมีสินค้ามากกว่า 100,000 รายการ
นอกจากนี้ บริษัท เด็นโซ ประเทศไทย (Denso Thailand) ยังนำเอาระบบผลิตอัตโนมัติแบบลีน (lean automation) มาใช้ โดยยึดหลักการบริหารที่โรงงานจะต้อง “ลีน” ก่อนการนำเอาระบบ “ออโตเมชั่น” มาใช้ เพื่อให้โครงการที่ลงทุนคืนทุนได้อย่างรวดเร็ว เช่น ภายใน 1 ปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ การลดจำนวนแรงงานได้เป็นอย่างมาก
ภาคบริการก็ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเช่นกัน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ต่างได้รับผลกระทบจากการเติบโตของสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือกูเกิล (Google) ธุรกิจการค้าก็ได้รับผลกระทบจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อาลีบาบา (Alibaba) และธุรกิจขนส่งก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากบริการเรียกรถยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น อูเบอร์ (Uber) และแกร็บ (Grab) เป็นต้น
ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
เทคโนโลยียังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงาน โดยจะมีงานหลายประเภทที่จะถูกทดแทนในอนาคตอันใกล้เช่น งานใช้แรงงานที่มีการทำซ้ำบ่อยๆ เป็นต้น มีผู้คาดการณ์ว่าประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยมีงานที่มีความน่าจะเป็นสูงที่จะถูกทดแทนได้ถึงประมาณร้อยละ 50 ของงานทั้งหมดในตลาดแรงงานปัจจุบัน (Frey and Osborne, 2017)
อย่างไรก็ตาม จะมีงานอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบน้อยจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่า “งาน 3H” ซึ่งประกอบด้วยงานที่มีความละเอียดประณีตในการใช้มือ (Hand) ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นระเบียบ (unstructured environment) งานที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Head) และงานที่ต้องใช้ความฉลาดทางสังคม (Heart)
การพัฒนาประเทศไทยต่อไปในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี จึงต้องหาแนวทางในการสร้างงานในกลุ่ม งาน 3H นี้ให้เกิดขึ้นได้มากพอ
3 ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของประเทศไทย
เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุประกอบแล้ว ไม่ง่ายเลยที่ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงตามเป้าหมายดังกล่าว
หากวาดภาพอนาคตพบว่า มี 3 ภาพสถานการณ์ (scenario) ที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย
– ภาพสถานการณ์แรกคือ เศรษฐกิจไทยถูกปั่นป่วนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างทันการณ์ เพราะขาดการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิต ทำให้มูลค่าเพิ่ม (value added) ของสาขาต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจไทยไหลออกไปต่างประเทศ และทำให้งานหายไปกว่า 3.1 ล้านตำแหน่ง
ในภาพสถานการณ์นี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศไทยตลอด 20 ปี จะอยู่ที่อัตราเพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี ทำให้ไทยมีรายได้ต่อหัวเพียง 8,600 ดอลลาร์ในปี 2579 ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
– ภาพสถานการณ์ที่สองคือประเทศไทยป่วนตัวเองด้วยนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยรัฐบาลเริ่มพัฒนา อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เรียกว่า S-Curve จำนวน 10 อุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม ภาพสถานการณ์ที่สองนี้ตอบสนองความท้าทายได้เพียงบางส่วน เนื่องจากนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ยังขาดยุทธศาสตร์ด้านกำลังคนที่ชัดเจนโดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานทักษะสูง ขาดยุทธศาสตร์ในการใช้เทคโนโลยี AI และขาดยุทธศาสตร์การสร้างงานใหม่ซึ่งถูกเทคโนโลยีทดแทนได้ยาก
ตามภาพสถานการณ์นี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ต่อปี ทำให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้นเป็น 10,300 ดอลลาร์ในปี 2579 ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเช่นกัน
นอกจากนี้ แม้จะมีงานสร้างงานใหม่ขึ้นมาได้ แต่ก็จะยังไม่สามารถทดแทนงานเดิมได้ทั้งหมด โดยจะมีตำแหน่งงานที่หายไป 1.5 ล้านตำแหน่ง
– สถานการณ์ที่สามคือ การสร้าง “เศรษฐกิจแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นภาพสถานการณ์ที่ต่อยอดจาก “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการใช้เทคโนโลยี AI และการสร้างงานใหม่ในภาคเศรษฐกิจ 3C ซึ่งใช้ทักษะ 3H ซึ่งประกอบด้วย
เศรษฐกิจประณีต (Craft Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่มีความประณีต มีมูลค่าสูง แทนการผลิตสินค้าและบริการจำนวนมาก เช่น การผลิตสินค้าเกษตรชั้นยอด การผลิตเฟอร์นิเจอร์สั่งทำพิเศษ เป็นต้น
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูง เช่น การออกแบบแฟชั่น การผลิตภาพยนตร์ การผลิตสื่อโฆษณา เป็นต้น
เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตสินค้าและบริการที่เน้นการดูแลร่างกาย อารมณ์ และความต้องการของผู้ใช้ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วย การแนะแนวอาชีพ เป็นต้น
ในภาพสถานการณ์ที่สามนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของประเทศจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 ต่อปี ทำให้คนไทยมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 12,500 ดอลลาร์ในปี 2579 ซึ่งทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้
สร้างเศรษฐกิจ 3C โดยสมองทั้งสองข้าง
การสร้างเศรษฐกิจ 3C ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต้องอาศัยการศึกษาคุณภาพสูงที่ผสมผสานระหว่างสมองซีกซ้าย ซึ่งเน้นการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM Education) และสมองซีกขวา ซึ่งเน้นการศึกษาศิลปศาสตร์ (Liberal Arts Education) โดยที่ระบบการศึกษาของไทยไม่จำเป็นต้องมุ่งไปเพียงด้านวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว
ธุรกิจสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จหลายแห่งเกิดจากผู้ก่อตั้งที่จบการศึกษาด้านการศึกษาศิลปศาสตร์ เช่น Reid Hoffman ผู้ก่อตั้ง LinkedIn จบการศึกษาทางด้านปรัชญาหรือแม้กระทั่ง Jack Ma ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาก็จบด้านภาษาอังกฤษและเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาก่อน เป็นต้น
เมื่อโมเดลของการพัฒนาประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามที่กล่าวมาข้างต้น การพัฒนาในแต่ละมิติ อาทิ ระบบนวัตกรรม ระบบการพัฒนาทักษะแรงงาน ระบบสวัสดิการรวมทั้งกฎระเบียบและทัศนคติของรัฐ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อให้สามารถรองรับกับการพัฒนาภายใต้ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
การปรับตัวของประเทศไทย
เทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลกระทบในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจธนาคารที่ได้รับแรงกดดันจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากความคุ้นเคยกับความสะดวกสบายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
การปรับตัวของประเทศไทย ผ่านเศรษฐกิจ 3C เป็นแนวทางที่น่าสนใจและน่าจะช่วยผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้า แต่การพัฒนาของประเทศไทยในปัจจุบันยังคงช้าอยู่ เช่น จำนวนสตาร์ตอัพในไทยช่วง 5-6 ปีหลังมีจำนวนเพียง 500-600 กิจการ ในขณะที่ประเทศจีนมีสตาร์ตอัพตั้งใหม่สูงถึงวันละ 12,000 แห่ง
อย่างไรก็ตาม คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ไม่น้อย เช่น สามารถสร้างแอพพลิเคชั่นที่เปิดให้มีการเขียนนิยายในระบบออนไลน์ ซึ่งสร้างรายได้หลักล้านบาทต่อเดือนและมีต้นทุนต่ำกว่าการตีพิมพ์นิยามเป็นเล่ม และกำลังจะขยายการให้บริการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
การเตรียมเด็กในปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรพัฒนาสมองทั้งสองซีกเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และต้องเข้าใจความเป็นพลเมืองโลก (global citizen)
ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_1066624
กินเห็ดสามอย่างต้านโรค ล้างสารพิษ แก้ซีสต์เนื้องอก
ไม่แปลกใจที่เดี๋ยวนี้ไปตามตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต จะเห็นร้านที่ทำต้มยำเห็ดรวม, ยำเห็ด, แกงส้มเห็ด หรือแกง และต้มยำใดๆ ล้วนแต่นำเห็ดหลากหลายชนิด โดยนำพระเอกนางเอกชูโรงคือ ‘เห็ด’ เลย เมื่อก่อนยังได้เห็นว่าเห็ดถูกนำมาเป็นตัวประกอบในการปรุงอาหารสักหนึ่งเมนูเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ฉายเดี่ยวเป็นเมนูที่คนนิยมนำมาปรุงสุก และทานเห็ดกันอย่างแพร่หลาย
วันนี้ ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ มีข้อมูลความรู้ในเรื่องการกินเห็ดที่ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะกินในรูปแบบแกงหรือต้มยำหรือย่าง ก็มีคุณค่าเหมือนกัน โดยเราอธิบายไว้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. เห็ดสามชนิด? ที่นำมาทานคือ เห็ดอะไรก็ได้ ที่กินได้อย่างน้อยสามชนิด เอามาปรุงสุก ทำยำ แกง ต้ม ได้หมด หรือลวกกินเปล่าๆ ก็ไม่ว่ากัน แต่เมนูเด็ดที่ทำให้การกินเห็ดได้ไม่รู้เบื่อ คือต้มยำเห็ด ที่ได้รสชาติแซ่บ แถมยังได้ประโยชน์อีกด้วย หรือหากใครขี้เบื่อ จะเอาเห็ดสามอย่างมาต้มสุก และกินน้ำของเขาก็ได้อยู่
2. เห็นที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็นหูหนูขาว ดำ เห็นชิเมจิขาว เห็ดเข็มทอง เห็ดหอม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหลินจือ เป็นต้น
3. เห็ดช่วยรักษาโรค ตับ ซีสต์ เนื้องอก มะเร็ง ป้องกันโรคหวัด ช่วยการไหลเวียนเลือด และโรคกระเพาะ ล้างสารพิษในโรคต่างๆ ได้ เรียกว่า คุณประโยชน์ครบครัน ได้รสชาติอร่อย อิ่ม และมีประโยชน์
4. ผลลัพธ์ที่ได้จากการกินเห็ด มีหลายคนบอกว่า หากกินเห็ดสามอย่างเป็นประจำ อาการคนที่เป็นซีสต์เนื้องอกจะลดลง หรือในผู้ป่วยที่เป็นซีสต์ในมดลูก เห็ดจะช่วยล้างสารพิษในร่างกายออกไปได้อย่างดี เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่ร้านทำต้ม แกงเห็ด ขายเปิดอยู่มากมายทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะได้รับความนิยมอย่างนี้เอง
5. หาซื้อที่ไหน? ตามท้องตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ชั้นนำ หรือถ้าเราขี้เกียจ ก็ไปที่ร้านที่มีเมนูเห็ดให้เขาต้มยำให้เสร็จพร้อมกินเลย
เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งรีบเชื่อ อยากให้ทุกคนได้ลองหาชิมหาทานกันก่อน แล้วจะรู้ว่าประโยชน์เหลือคณานับ อีกทั้งยังหาซื้อง่าย ราคาปานกลาง ลองทานแล้วจะติดใจ อ้อ..เขาบอกว่า ทานเห็ดหนึ่งอย่างไม่รักษาโรคแค่มีประโยชน์ แต่ถ้าทานสามอย่างเป็นประจำ ต้านโรคได้แน่นอน.
ที่มา : https://www.thairath.co.th/content/1342839#cxrecs_s