ออกกฎคุมโทนสีอาคาร-หลังคา เกาะรัตนโกสินทร์-อนุสาวรีย์ชัยฯ
กรมโยธาฯเร่งออกประกาศและกฎกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คุมโทนสีอาคาร “สีครีม-เหลืองอ่อน” กำหนดแบบหลังคา “ทรงจั่ว” สีเทาเข้ม ปั้นแลนด์มาร์กประวัติศาสตร์ กทม.เตรียมออกข้อบัญญัติกำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคาร วัสดุ สี ป้ายโฆษณา ระยะถอยร่น รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมความเป็นไทย
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมได้รับนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยและกฎกระทรวง เพื่อกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางประเภทในบางท้องที่ของกรุงเทพมหานคร
คุมโทนสีครีม-เหลืองอ่อน
โดยเฉพาะพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอก เช่น ถนนราชดำเนิน สนามหลวง กระทรวงมหาดไทย บางลำพู รวมทั้งสถานที่สำคัญต่าง ๆ ให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย รวมทั้งให้มีการควบคุมสีของหลังคาและสีของผนังอาคารให้มีรูปแบบเดียวกัน
“จะควบคุมการทาสีของอาคารให้เป็นโทนเดียวกัน คือ สีครีม และสีเหลืองอ่อน ส่วนหลังคากำหนดให้เป็นทรงจั่วและเป็นสีเทาเข้ม เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามของเมืองหลวง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางโบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศ”
คุมเฉพาะอาคารใหม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้กรมยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และกฎกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จะควบคุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการควบคู่กันไป อยู่ในระหว่างเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเซ็นลงนามในประกาศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีโดยมีอายุบังคับใช้ 1 ปี ระหว่างรอกฎกระทรวงบังคับใช้ถาวรต่อไป ซึ่งกฎกระทรวงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแล้ว จากนั้นส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เฉพาะอาคารที่จะก่อสร้างใหม่เท่านั้น ไม่มีผลย้อนหลัง แต่หากอาคารเดิมที่จะดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารใหม่จะต้องทาสีอาคารและหลังคาให้เป็นโทนสีเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดกรมดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
พื้นที่รัตนโกสินทร์-อนุสาวรีย์ฯ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่จะควบคุมประกอบด้วย ในท้องที่แขวงหิรัญรูจี แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งนอกจากจะคุมสีของหลังคา สีของผนังอาคารให้เป็นโทนสีเดียวกัน บริเวณดังกล่าวยังมีการควบคุมความสูงของอาคารตามที่ระบุในข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พื้นที่โดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในรัศมี 100 เมตร จากริมถนนอินทรพิทักษ์ ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 70 เมตร
นอกจากเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงสถานที่สำคัญ ๆ เช่น บริเวณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
แหล่งข่าวกล่าวว่า อีกบริเวณที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมอยู่ในแขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงทุ่งพญาไท แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี หรือบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งบริเวณนี้ กทม.มีข้อบัญญัติควบคุมความสูงของอาคารอยู่แล้ว โดยห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตร ในระยะ 200 เมตร และห้ามสูงเกิน 24 เมตร ในระยะเกิน 200 เมตร
บิ๊กป้อมเปิดไฟเขียว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่ประชุมได้พิจารณาการออกกฎหมายเพื่อควบคุมสีของหลังคาอาคาร และสีของผนังอาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เสนอ นอกจากนี้ ยังให้พิจารณานำเครื่องมือทางกฎหมายและเครื่องมือทางการเงิน เช่น การควบคุมป้ายโฆษณาความสูงของอาคาร กำหนดระยะถอยร่น การให้สิทธิทางภาษีแก่เจ้าของอาคารที่มีคุณค่า การจัดตั้งกองทุนเพื่อการอนุรักษ์อาคาร มาพิจารณาร่วมด้วยเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่าและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์และรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ ในลักษณะของการรักษาอาคารเดิม ส่งเสริมการพัฒนาขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกันทุกมิติ
กทม.ออกข้อบัญญัติคุมเพิ่ม
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในร่างผังเมืองรวม กทม.ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงใหม่ ยังมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ แต่มีแนวคิดจะออกข้อบัญญัติควบคุมรายละเอียดของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อรักษาลักษณะเฉพาะของเกาะรัตนโกสินทร์ ที่เป็นแนวทางการดำเนินการมากกว่าการควบคุมสีของอาคารและสีของหลังคา เช่น ความสูง แนวระยะถอยร่นของอาคารใหม่และอาคารเก่า หากมีการสร้างขึ้นใหม่ไม่ต้องมีระยะถอยร่น รูปแบบอาคาร กันสาด สี และวัสดุ ป้ายโฆษณา เป็นต้น เพื่อเป็นการรักษาลักษณะเฉพาะดั้งเดิมของย่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนจะจัดระเบียบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนา กทม.ระยะ 20 ปี ที่กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575 ให้ กทม.เป็นมหานครแห่
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
รื้อแบบ “บางใหญ่-กาญจน์” ปีหน้า “พัทยา-มาบตาพุด” วิ่งฉลุย
หลังทุ่มเม็ดเงิน 149,439 ล้านบาท ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง รวม 324 กม. เมื่อปลายปี 2559 ประกอบด้วย สายพัทยา-มาบตาพุด 32 กม. สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. เชื่อมการเดินทางไปยังภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง 3 โครงการนี้ได้รับการผลักดันผ่านเมื่อ 2 อธิบดี ตั้งแต่ “ชูศักดิ์ เกวี” ที่ตั้งไข่ขออนุมัติโครงการ ไหลมาประมูลสมัย “ธานินทร์ สมบูรณ์” ซึ่งถึงจะประมูลได้ครบทุกสัญญาและสามารถประหยัดงบประมาณไปได้ร่วม ๆ 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีปัญหาที่ยังเคลียร์ไม่จบ
จนมาถึง “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” ที่ต้องรับเผือกร้อนทั้งค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้น การประมูลสัมปทานจัดเก็บค่าผ่านทางของสายบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมา เงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท ที่ติดหล่มอยู่นานแรมปี รอลุ้นฝีมืออธิบดีอานนท์จะผลักดันโครงการได้ฉลุยตลอดรอดฝั่งหรือไม่
สำหรับความก้าวหน้างานก่อสร้าง ที่ดูจะรุดหน้ามากที่สุดคือ สาย “พัทยา-มาบตาพุด” ซึ่งกรมทางหลวงใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ มาก่อสร้าง จำนวน 17,819 ล้านบาท หลังเคลียร์เรื่องการรื้อย้ายช่วงปลายทางได้แล้วเสร็จ
ล่าสุด กรมทางหลวงกำลังเร่งเครื่องก่อสร้างให้เสร็จภายในเดือน พ.ย. 2561
ปัจจุบันมีความคืบหน้า 89.215% ยังล่าช้าจากแผน 97.570% ส่วนการก่อสร้างงานระบบเก็บค่าผ่านทางได้ผู้รับเหมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าทริปเปิ้ล เอสเอฟ ประกอบด้วย บจ.สี่แสงการโยธา (1979), บจ.ฟาติมา อาร์.บี.ดี.เอส อินเตอร์เนชั่นแนล, บจ.เซ็ท กรุ๊ป โซลูชั่น และ บจ.แซม เทคโนโลยี ซัพพอร์ต มีกำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2562
ส่วนสาย “บางปะอิน-นครราชสีมา” ใช้ค่าก่อสร้าง 76,600 ล้านบาท ถึงจะต้องทบทวนและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติมในบางพื้นที่ แต่เนื่องจากกรมทางหลวงแบ่งการก่อสร้าง 40 สัญญา ทำให้รับเหมาเข้าพื้นที่ได้ตลอดเส้นทาง
ล่าสุด มีผลงานก้าวหน้า 50.261% เร็วกว่าแผนงาน 49.677% คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2563 ส่วนงานระบบคาดว่าจะประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 ภายในเดือน พ.ย.นี้ หลังยกเลิกเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การเปิดบริการยังลุ้นจะทันปลายปี 2563 หรือขยับไปปี 2564
สำหรับสาย “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ค่าก่อสร้าง 49,120 ล้านบาท นับเป็นโครงการที่ทำผลงานพลาดเป้าที่สุด หลังค่าเวนคืนที่ดินแพงขึ้นจากที่ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติกรอบไว้หลายเท่าตัว จาก 5,420 ล้านบาท เป็น 14,217 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงกำลังทำรายละเอียดเสนอไปยัง ครม.เพื่อขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มจึงทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาร่วม 2 ปี ผู้รับเหมา 25 สัญญาไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ กระทบชิ่งต่อแผนงานก่อสร้างที่ต้องทำได้ 43.026% แต่ปัจจุบันรันโครงการได้เพียง 13.215%
จากความล่าช้า “ทล.” ปรับไทม์ไลน์การก่อสร้างใหม่ จากเดิมเสร็จปี 2563 เป็นเดือน ส.ค. 2564 ส่วนงานระบบเก็บค่าผ่านทางรอประกาศประมูลรอบที่ 2 พร้อมกับสายบางปะอิน-นครราชสีมา เดือน พ.ย.นี้ ขณะที่การเปิดบริการถ้าเข็นไม่ทันปลายปี 2564 น่าจะขยับเป็นต้นปี 2565
“อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รักษาการอธิบดีกรมทางหลวง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขอขยายกรอบวงเงินค่าเวนคืนที่ดินของสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ได้นำเสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่คาดว่าจะมีให้นำกลับมาทำรายละเอียดชี้แจงเพิ่มเติม ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะได้รับการพิจารณาเมื่อไหร่
ทั้งนี้ กรมไม่ได้รอ ครม.อย่างเดียว ในขณะเดียวกันก็เตรียมจะปรับรูปแบบก่อสร้างของโครงการ เช่น เสา คาน จากเดิมที่อาจจะออกแบบไว้อย่างสวยงาม ก็ปรับลด เป็นต้น เพื่อประหยัดค่าก่อสร้างได้อีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เนื่องจากดูแล้วคงไม่สามารถปรับลดค่าเวนคืนลงได้อีก เพราะประเมินตามราคาตลาดและราคาที่คำนวณมานั้น มีคณะกรรมการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
รู้ไว้! ขนส่ง แนะซื้อขายรถมือสอง ไม่ควรซื้อขายโอนลอย เสี่ยงอาจเป็นรถผิดกฎหมาย
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก(ทบ.) เปิดเผยว่า ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยนำรถสวมทะเบียนมาหลอกขาย มักเกิดขึ้นกับการซื้อขายรถมือสองด้วยวิธีการโอนลอยที่ผู้ซื้อไม่นำรถไปดำเนินการตรวจสภาพรถและจดทะเบียนด้วยตนเองตามขั้นตอนของกรมการขนส่งทางบก ทำให้เกิดช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพนำรถโจรกรรมมาหลอกขายได้โดยง่าย
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและพิทักษ์สิทธิของประชาชน กรมการขนส่งทางบกจึงแนะนำให้ผู้ซื้อรถควรดำเนินการโอนทะเบียนรถด้วยตนเองและควรตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับตัวรถโดยละเอียด โดยสามารถขอหลักฐานทะเบียนรถจากเจ้าของรถหรือผู้ขายมาขอตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งสาขา และเพื่อเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้นสามารถนำรถเข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งสาขาที่รถนั้นจดทะเบียนไว้
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดกวดขันการตรวจสภาพรถตามรายการที่กำหนดทุกคัน เพื่อป้องกันไม่ให้รถผิดกฎหมายดำเนินการทางทะเบียนได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะมีการระงับการดำเนินการทางทะเบียนที่ไม่ถูกต้องทันที
และหากประชาชนพบเห็นรถต้องสงสัยสามารถแจ้งข้อมูลมายังกรมการขนส่งทางบก หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพและหากนำรถไปใช้อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลอมแปลงหรือใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี ปรับสูงสุด 10,000 บาท
นายกมลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งในการซื้อ-ขาย รถมือสอง ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถ ตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วนเพื่อการซื้อขายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะสมุดคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ต้องตรงกับรถคันที่จะซื้อขายทุกอย่าง
รวมถึงควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีรถประจำปีครบถ้วนถูกต้อง พร้อมนำรถเข้าตรวจสภาพ และดำเนินการตามขั้นตอนโอนทางทะเบียนรถ ณ สำนักงานขนส่งที่จดทะเบียนด้วยตนเอง ไม่ควรซื้อขายด้วยวิธีการโอนลอย หรือการมอบอำนาจให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายดำเนินการแทน เนื่องจากการซื้อ – ขาย รถด้วยวิธีการโอนลอยโดยไม่ดำเนินการโอนทางทะเบียนให้ถูกต้องในทันที อาจก่อปัญหาให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น กรณีที่ผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี หรือรถเกิดอุบัติเหตุ ยังคงปรากฏชื่อผู้ขายหรือเจ้าของรถเดิมทางทะเบียน เจ้าของรถรายเดิมยังคงมีส่วนรับผิดชอบกับความผิดนั้นๆ ขณะที่การไม่ดำเนินการโอนทางทะเบียน ทำให้ผู้ซื้อไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรถได้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น การซื้อ-ขาย รถมือสองทุกครั้งควรดำเนินการทางทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย สบายใจ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มั่นใจได้ว่ารถที่ซื้อนั้นเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
เที่ยว 3 วัด งามเด่นทางศิลป์
HIGHLIGHTS
-ถ้าไปวัดบวรนิเวศวิหาร ต้องชมพระตำหนัก
-เที่ยววัดประยูร ต้องชมด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์
-แวะวัดเบญจมบพิตรฯ ต้องเดินรอบๆ พระอุโบสถ ชมพระพุทธรูปปางต่างๆ กว่า 50 องค์
เวลาไปเที่ยววัด สิ่งที่ฉันชื่นชมมากเป็นพิเศษ ก็คือ การเดินชมศิลปะ ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในวัด
ถ้าจะเที่ยวให้สนุก ต้องเดินตามผู้รู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปะที่คอยอธิบายให้ความรู้ ซึ่งปัจจุบันก็มีกลุ่มที่จัดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่บ้าง ยิ่งเราเข้าใจวิธีคิดและวัตถุประสงค์ในการสร้างวัดนั้นวัดนี้สักนิด รู้ที่มาที่ไปสักหน่อย ก็จะเชื่อมโยงกับยุคสมัยได้
เที่ยววัด ชมโบราณสถาน จึงเป็นอีกทางของการท่องเที่ยว…
1.พระตำหนักวัดบวรฯ
ฉันเคยไปเที่ยววัดบวรนิเวศวิหาร ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง และมีอยู่ครั้งหนึ่งได้เยี่ยมชมพระตำหนักต่างๆ
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร บนถนนบวรนิเวศ และถนนพระสุเมรุ ส่วนในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุต
นอกจากจะมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์แล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้อัญเชิญบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ซึ่งเป็นพระประธานองค์หนึ่งของวัด และใต้ฐานบัลลังก์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
วัดแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมพระตำหนักหลายรัชกาลที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคที่เริ่มเปิดรับอารยธรรมตะวันตก
ที่นี่จึงมีอาคารที่งดงามและหาชมได้ยากหลายแห่ง อาทิ พระตำหนักจันทร์,พระตำหนักเพ็ชร ,พระตำหนักเดิม พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักซ้าย พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักล่าง และพระตำหนักปั้นหยา ฯลฯ
วัดบวรนิเวศเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 เนื่องจากพระองค์เคยทรงผนวชตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระชนมพรรษา 29 พรรษา เป็นเวลา 15 วัน และประทับขณะทรงผนวช ณ พระตำหนักปั้นหยา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2499
พระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงที่ทรงผนวชที่ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ส่วนใหญ่ถ่ายด้านในพระตำหนักปั้นหยา ซึ่งไม่อนุญาติให้สตรีเพศเข้าออก ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 )
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีหลายรัชกาล และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ทรงผนวช และประทับที่พระตำหนักปั้นหยา
ส่วนพระตำหนักเพ็ชร ซึ่งอยู่ติดกับพระตำหนักจันทร์ เป็นตำหนักที่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2457 และที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น
พระตำหนักแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสาน ด้านนอกมีความเป็นไทย ด้านในตกแต่งแบบคลาสสิค หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระล้อมด้วยลายเครือเถา เคยเป็นท้องพระโรงที่เจ้านายที่เป็นภิกษุสงฆ์ใช้ ปัจจุบันด้านในยังมีพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะของร.4 ประดิษฐาน ซึ่งเหมือนพระองค์จริง
เพราะความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม พระตำหนักเพ็ชร จึงได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539
ส่วนพระตำหนักจันทร์ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษจันทร์ ทรงพระราชทานอุทิศให้สร้างถวาย มีพระแท่นศิลาหน้าพระตำหนักจันทร์ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดประทับพักผ่อนซึ่งเป็นหลักฐานอีกชิ้นทางประวัติศาสตร์
พระตำหนักปั้นหยา ตึกสามชั้นสไตล์ยุโรป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่2) เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช ต่อมาเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักนี้ก่อนไปประทับที่อื่น
หน้าบันพระตำหนักปั้นหยา เป็นลวดลายปั้นเครือเถาดอกพุดตาน ล้อมรอบราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยฝีมือช่างไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในอาคารมีห้องพระ ห้องบรรทม และห้องทรงพระอักษร รวมถึงศิลาจารึกพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 4 จารึกไว้ว่า “ห้ามไม่ให้สตรีเพศเข้าออก” เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดให้ผู้หญิงขึ้นมาในสถานที่ของสมณะ
นอกจากนี้ยังมีพระตำหนักที่สำคัญอีกแห่ง คือ พระตำหนักทรงพรต เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวชหลังจากประทับที่พระตำหนักปั้นหยา 1 คืนตามพระราชประเพณี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็เคยประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้
ว่ากันว่า ในอดีตวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดในเขตคลองผดุงกรุงเกษม
2. สไตล์ฝรั่งในวัดประยูรฯ
เป็นครั้งแรกกับการเยือนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ที่นี่โดดเด่นในเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ จนได้รางวัลจากยูเนสโก้ ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
วัดแห่งนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างให้ชม
เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2375 ได้ถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” ชาวบ้านเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก”
มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้ เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สั่งเข้ามาจากอังกฤษ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3 ใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่ไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายเท่าน้ำหนักเหล็กแลกกับรั้วเหล็ก
วัดนี้เป็นเสมือนประตูรับแขกของชาวฝั่งธน มีอายุกว่า 185 ปี เป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ 4 อย่างพรินทร์ปริยัตติธรรมศาลา ที่ปัจจุบันเรียกว่า ประยูรภัณฑาคาร เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ในพุทธศาสนาและพุทธศิลป์รูปแบบใหม่ สร้างตามสไตล์ตะวันตก
ว่ากันว่า ในสมัยก่อน ถ้าล่องเรือมา แล้วเห็นพระปรางค์วัดอรุณ ก็หมายถึงเข้าเขตบางกอกแล้ว และถ้าเห็นยอดเจดีย์สีขาว วัดประยุรวงศาวาส ก็หมายถึงได้เข้าเขตแดนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 4 แล้ว พระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่นี้เป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
“วัดนี้แปลกมากสามารถเดินเข้าไปที่ตัวเจดีย์ได้ ปกติเจดีย์ทั่วไปจะไม่สามารถเดินลึกไปถึงแกนด้านในได้ แต่เจดีย์นี้สร้างด้วยเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ทั้งๆ ที่อยู่ริมน้ำ แต่ปรากฎว่า แกนในเจดีย์หัก จนมีการบูรณะ เจดีย์กลับมาตรงได้เหมือนเดิม” จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรมเล่าถึงการบูรณะ จนได้รางวัลจากยูเนสโก้ โดยด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ จะมีเสาขนาดใหญ่ค้ำยัน และดูสงบเงียบเหมาะกับการนั่งสมาธิ
ส่วนพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมผสานผสานแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ลดทอนเครื่องบน อย่างบัวหัวเสา ทำเสาพาไลรับชายคา แต่ยังคงเครื่องบนตามแบบประเพณีนิยม มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน ซึ่งในเวลาต่อมามีการสร้างวัดวาอาคารลักษณะนี้มากขึ้น
และที่พลาดไม่ได้เลย ก็คือ เขามอ ภูเขาจำลองสร้างจากแนวคิดหยดเทียนขี้ผึ้ง ที่ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานขี้ผึ้งแก่สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เขามอสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปปางไสยาสน์ และพระพุทธรูปสำคัญๆ
สมัยก่อนเขามอเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญในตระกูลสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่พักสายตาและผ่อนคลายสบายๆ สำหรับคนมาเที่ยววัดแห่งนี้ เพราะมีทั้งต้นไม้และสายน้ำเป็นองค์ประกอบ
นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอก ในบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) เก็บไว้ เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในงานฉลองวัด ซึ่งเคยทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ จนเกิดระเบิด ทำให้มีคนล้มตาย หมอบรัดเลต้องมาช่วยผ่าตัดสดครั้งแรกที่วัดประยุรวงศาวาสในวันฉลองวัดนั่นเอง
นี่คือ วัดในฝั่งธนบุรีที่โดดเด่นวัดหนึ่ง
3.วัดเบญจมบพิตรฯ
มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงรับจ้างถ่ายรูปด้วยฝีมือพระหัตถ์ของพระองค์เองในงานรื่นเริงทีี่่จัดขึ้นในวัดเบญจมบพิตรฯ เพื่อหาเงินเข้าวัด และราษฎรก็จะมีโอกาสเข้าเฝ้าในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ
หากใครอยากชื่นชม สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ต้องมาเที่ยววัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เจ้านายเรียนจบจากเมืองนอก มาพบปะกับสตรีชั้นสูง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเจ้านาย 5 พระองค์ คือ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์,กรมพระพิทักษ์เทเวศร์,พระองค์เจ้าหญิงวงศ์,กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ และพระองค์เจ้าหญิงอินทนิล ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดที่ชื่อว่า วัดเบญจบพิตร
กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระประสงค์จะใช้พื้นที่ในวัดสร้างพลับพลาในพระราชอุทยานสวนดุสิต จึงสถาปนาวัดขึ้นใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2442 และพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จึงเป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 5
ว่ากันว่า เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบวัดแห่งนี้ได้งดงามเทียบเท่านานาชาติ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ โดยออกแบบพระอุโบสถทำเป็นวิหารคดรอบด้าน ลงรักปิดทองทึบ หน้าบันจำหลักลายไทยประกอบภาพตราต่างๆ ลงรักปิดทองประดับกระจก
รอบๆ พระอุโบสถที่ปูด้วยหินอ่อน มีพระพุทธรูปปางต่างๆ กว่า 50 องค์ ทั้งอิริยาบทนั่ง ยืน นอน และที่น่าสนใจ ก็คือ พระพุทธรูปปางลีลาสององค์ ดีไซน์เหมือนมีกรอบเป็นซุ้มกลีบบัว ขณะที่พระพุทธรูปองค์อื่นๆ อยู่ในช่องเสาธรรมดา
ในอดีตกาล วัดแห่งนี้เป็นวัดนอกเขตคลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบ้ันอยู่บนถนนพระราม 5 เขตดุสิต
ขอบคุณข้อมูลจาก judprakai.com
7 วิธี ที่จะทำให้คุณเลิกเป็นคน ฟุ้งซ่าน คิดมาก ขี้กังวล
แน่นอนว่าตัวคุณเองรู้อยู่แล้ว ว่าการใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกแซนด์วิชชิ้นไหนเป็นอาหารกลางวันเป็นเรื่องไร้เหตุผล เช่นเดียวกับการใช้เวลานับสัปดาห์เพื่อตัดสินใจว่าจะรับข้อเสนองานชิ้นนี้ดีไหม? หรือใช้เวลาหนึ่งปีเพื่อคิดว่าจะแต่งงานกับแฟนคนนี้ดีรึเปล่า?
คุณอาจจะคิดว่า “พอได้แล้วน่า…ตัดสินใจซะทีเถอะ” แต่พอผ่านไปแค่ไม่กี่นาที ความลังเลและหวั่นวิตกก็เริ่มจู่โจมเข้ามาเรื่อยๆ แม้คุณจะพยายามสร้างภูมิคุ้มกันความรู้สึกเหล่านี้บ้างแล้วก็ตาม
ทุกคนคงเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว และมีวิธีรับมือที่ต่างกันออกไป ซึ่งจากเว็บไซต์ Quora ที่มีคนไปตั้งคำถามว่า “ฉันควรแก้นิสัยคิดมากนี้ยังไงดี?” ซึ่งมีผู้คนมากมายที่มาแชร์วิธีของตัวเองและร่วมโหวตคำตอบที่สร้างสรรค์ที่สุด และทางเราก็ได้รวบรวมมาไว้ในเว็บ SUMREJ ให้แล้ว ต่อไปคุณจะได้รู้วิธีหยุดนิสัยนี้ได้อย่างถาวร!
1.สังเกตความคิดของตัวเอง
ส่วนสำคัญที่สุดของการทำสมาธิคือ การปล่อยให้ความคิดของคุณลอยผ่านไป แทนที่จะไปยึดติดอยู่กับมันหรือพยายามที่จะหยุดคิดมัน
การฝึกสมาธิแบบเจริญสติ (Mindfulness Meditation) เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณ หยุดหมกมุ่นกับเรื่องในอดีตได้ โดยให้คุณลองสังเกตการณ์ความคิดของตัวเอง แทนที่จะลงไปหมกมุ่นอยู่กับมัน
สตีฟ จอบส์ เองก็เคยอธิบายเกี่ยวกับวิธีการเช่นเดียวกันนี้ให้ วอลเตอร์ ไอแซ็กซัน ผู้เขียนชีวประวัติของเขาฟัง ดังนี้
“ลองนั่งอยู่เฉยๆ แล้วสังเกตความคิดของตัวเองดู คุณจะรู้เลยว่าความคิดมันไร้ขอบเขตจริงๆ และเวลาที่คุณพยายามทำให้มันนิ่ง ก็มีแต่จะแย่ลงเท่านั้น แต่จิตใจของคุณจะสงบลงเองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก และเมื่อจิตใจของคุณสงบแล้วมันก็จะมีที่ว่างในการรับฟังสิ่งที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น”
2.เขียนความคิดของตัวเอง
อีกวิธีนึง ที่จะช่วยหยุดความคิดฟุ้งซ่านของคุณ ก็คือ การระบายให้กับคนที่มีมุมมองวิธีคิดแตกต่างไปจากคุณได้ฟัง หรือจะใช้วิธีเขียนระบายความคิดของตัวลงไปในกระดาษแทนก็ได้ เพราะการเขียนทำให้เราคิดอย่างเป็นระบบขึ้นมาก ถ้าคุณเก็บความคิดเหล่านั้นไว้แต่ในหัว นอกจากมันจะไปสุมกันจนเป็นภูเขาเลากา มันยังทำให้คุณวนกลับมาคิดเรื่องเดิมซ้ำอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น
3.กำหนดช่วงเวลาสำหรับ “การหยุดใช้ความคิด”
การกำหนดโซน “หยุดใช้ความคิด” ช่วยห้ามไม่ให้คุณหมกมุ่นกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น การไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องยากๆ หลังเวลาสองทุ่มเพื่อไม่ให้มันมารบกวนเวลานอนหลับ
Amy Morin ซึ่งเป็นทั้งนักสังคมสงเคราะห์และนักเขียน ได้แนะนำวิธีที่ใกล้เคียงกันไว้ในคอลัมน์หนึ่งของ Psychology Today ว่าให้แบ่งเวลาไว้ประมาณ 20 นาทีต่อวัน สำหรับการสะท้อนความคิดของตัวเอง
“ภายในยี่สิบนาทีนี้ ปล่อยให้ตัวเองวิตกกังวล ครุ่นคิด ฟุ้งซ่านได้เต็มที่ตามต้องการ แล้วพอหมดเวลา ก็ให้เปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์กว่า ถ้าคุณเริ่มคิดมากนอกช่วงเวลาที่กำหนดไว้เมื่อไหร่ ก็ให้เตือนตัวเองว่า ค่อยเอาเก็บไปคิดในช่วงเวลาที่กำหนดดีกว่า”
4.เบี่ยงเบนความคิดของตัวเอง
ฟังดูง่ายๆ แต่ที่จริงการจดจ่อกับสองสิ่งไปพร้อมกันนี่มันยากนะ ลองออกกำลังกายหรือเล่นเกมดูเมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังคิดมาก เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอารมณ์และร่างกาย
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เห็นด้วยกับวิธีนี้ Stepher S. Ilardi ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Depression Cure กล่าวกับ Fox News ว่า วิธีแก้การคิดมากคือ ให้หากิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจของคุณ ซึ่งควรเป็น “กิจกรรมที่ใช้ทั้งร่างกาย ความคิด และการร่วมเล่นกับผู้อื่น เช่น เทนนิส หรือการเดินเที่ยวกับเพื่อนสักคน”
5.โฟกัสที่สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบัน
อีกหนึ่งวิธีแก้นิสัยคิดมากก็คือ เลิกคิดแล้วลงมือทำ อย่าไปโฟกัสในสิ่งที่คุณต้องทำ สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ หรือแม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ให้พุ่งความสนใจไปในที่สิ่งที่สามารถทำได้ในปัจจุบันก็พอ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม แล้วก็ลงมือทำมันซะ
Bob Migliani ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Embrace of the Chaos เขียนลงในหนังสือพิมพ์ The Huffington Post ว่า เขามักจะเปลี่ยนความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตให้กลายเป็นการกระทำที่จับต้องได้ “ทุกครั้งที่ผมเริ่มกังวลในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ผมจะลุกจากที่ที่นั่งอยู่ เดินไปที่คอมพิวเตอร์และลงมือเขียนหนังสือของผมต่อ” เขากล่าว
6.เคารพความคิดเห็นของตัวเอง
เหตุที่คุณยังคงคิดมากจนไม่ยอมตัดสินใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณไม่เชื่อว่าตัวเองจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง จงเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดเห็นของตัวเอง ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งลังเลในความคิดของตัวเองมากเท่านั้น
7.คุณสามารถเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
เป็นเรื่องปกติที่จะกังวลว่าคุณเลือกงานผิด แต่งงานกับคนที่ไม่ใช่สำหรับตัวเอง หรือแม้แต่ขับรถกลับบ้านผิดทาง แต่ความผิดพลาดก็ไม่ได้นำไปสู่หายนะเสมอไป แถมยังเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นด้วย
นักข่าวชื่อดัง Kathryn Schulz เคยขึ้นไปพูดบนเวที TED Talk เธอกล่าวว่า “การตระหนักได้ว่าตัวเองทำอะไรพลาดแล้วปรับมุมมองการมองโลกใหม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ”
“การคิดมากมักเป็นเพราะคุณคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของคุณ เปลี่ยนแปลงไม่ได้และต้องถูกต้องเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณไม่ต้องกังวลกับความผิดพลาดเลย และให้เข้าใจไว้ว่าความคิดเห็นหรือความรู้ของคุณนั้นมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามกาลเวลา แล้วคุณจะรู้สึกสงบและเป็นอิสระจากภายในอย่างแท้จริง”
ขอบคุณข้อมูลจาก sumrej.com