สาระน่ารู้ ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2560

 แก้กฎหมายสร้าง ‘ตึกสูง’ ผูกพันจำนวนช่องจราจร

กทม.เร่งแก้กฎหมายสร้างตึกสูง ให้นับช่องจราจรแทนความกว้าง เขตทาง เพื่อให้เกิดเพิ่มความชัดเจนในการอนุญาตทำการก่อสร้าง แหล่งข่าวสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากข้อกำหนดทางกฎหมายในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ การก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีขนาดพื้นที่อาคารรวมเกิน 10,000 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 30,000 ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงของอาคารเกินกว่า 23 เมตรขึ้นไป ต้องติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันตลอดนับตั้งแต่ที่ตั้ง อาคารไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางเกินกว่า 10 เมตรเช่นกัน

ซึ่งตามข้อกฎหมายดังกล่าว ทำให้ การก่อสร้างอาคารสูงนั้น พื้นที่ทาง สาธารณะ เมื่อมีการตรวจสอบพื้นที่นั้นๆ ทั้งการวัดจากสถานที่จริง การขึ้นทะเบียนพื้นที่อาคารเดิม และการระวางที่ดิน จะต้องมีพื้นที่เขตทางไม่น้อยกว่า 10 เมตรจึงจะสามารถอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงได้  อย่างไรก็ตามปัจจุบันถนน สายต่างๆ มีระยะยาวหลายกิโลเมตร ซึ่งข้อกำหนดของกฎหมาย การสร้างอาคารสูง ถนนต้องที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกัน ตลอดนับตั้งแต่ที่ตั้งอาคารไปเชื่อมต่อ กับถนนสาธารณะอื่นนั้น ตามสภาพ พื้นที่จริง เขตทางอาจไม่ถึง 10 เมตร ตลอดแนว เนื่องจากมีการรุกล้ำพื้นที่ ของประชาชนผู้อยู่อาศัยในจุดนั้นๆ

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า กรณี ดังกล่าว เจ้าหน้าที่กทม. จะต้องเป็นผู้ทำการตรวจสอบเขตทางทุกพื้นที่ มิให้มีการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เกิดขึ้น แต่ตามสภาพจริงนั้น การรุกล้ำ พื้นที่ของประชาชนบางส่วนที่รุกล้ำ ออกมาในพื้นที่สาธารณะเพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลให้เขตทางนั้นๆ ไม่ได้จำนวน 10 เมตรตามกฎหมาย ซึ่งการ ตรวจสอบการรุกล้ำพื้นที่ ด้วยเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด ทำให้เกิดการตรวจสอบไม่ทั่วถึงได้

ดังนั้น กทม.จึงเสนอไปยัง กรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ซึ่งกำกับดูแลกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้ปรับแก้กฎกระทรวง ที่กำหนดเป็นเขตทางไม่น้อยกว่า 10 เมตร เป็นประมาณ 10 เมตร และเพิ่มเติมข้อกฎหมายการอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง เป็นการติดถนนสาธารณะที่มีช่องจราจร 2 ช่องจราจรขึ้นไป ไม่รวมทางเท้าสาธารณะ แต่หากพื้นที่นั้นๆ ไม่มีทางเท้าสาธารณะ การก่อสร้างอาคารสูงก็จะต้องมีช่องจราจร 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งช่องจราจรในปัจจุบัน จะถูกกำหนดที่ขนาด 2.60-3 เมตร ต่อหนึ่งช่อง

ทั้งนี้ การปรับแก้ข้อกฎหมายกำหนดเพิ่มเติมเป็นช่องจราจรนั้น จะช่วยให้การทำงานอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการควบคุมอาคารในพื้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมาก เกิดความสะดวก ชัดเจนในข้อกฎหมาย มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ กทม. ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับแก้ กฎหมาย กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารต่อไป

ที่มา  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


แห่ลงทุนมิกซ์ยูสร้อนฉ่า เผย14ทำเลจ่อเปิดโครงการ ดัน8ปีเพิ่มพื้นที่ให้เช่ากว่า1ล้านตร.ม

แห่ลงทุนมิกซ์ยูสร้อนฉ่า

จับตาโครงการมิกซ์ยูสพลิกโฉม ลงทุนอสังหาฯ เมเจอร์ฯ ยึดโซนพระราม 9- รามคำแหงนำร่อง

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสซึ่งเป็นแนวคิดการผสมผสาน ระหว่างอสังหาฯ เพื่อการอยู่อาศัยและเพื่อการ พาณิชย์ ทั้งพื้นที่ค้าปลีกรวมทั้งอาคารสำนักงาน หรือออฟฟิศ กำลังเป็นที่นิยมของการพัฒนาอสังหาฯ ในปัจจุบัน

สำหรับโครงการมิกซ์ยูสจะมีทั้งโครงการที่พัฒนาขายกรรมสิทธิ์ เช่น ทำเลสุขุมวิท เพลินจิต เจริญนคร พระราม 3 นราธิวาสราชนครินทร์ เพชรบุรี ส่วนที่ดินเช่าระยะยาวก็มีการพัฒนา โครงการเช่าตั้งแต่มากกว่า 1 ปี ไปจนถึง 30 ปี เช่น ทำเลหลังสวน พระราม 1 พระราม 4 เพลินจิต วิทยุ ราชดำริ และรัชดาภิเษก เป็นต้น

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้จะมีโครงการมิกซ์ยูส เปิดตัวถึง 14 ทำเล เช่น รังสิต ซีคอนซิตี้ เมกาซิตี้ สถานทูตอังกฤษ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นต้น และเป็นโครงการขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 8 โครงการ เช่น วิซส์ดอม 101 ไอคอนสยาม เป็นต้น โดยปัจจัยที่ทำให้มีการพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูสก็คือที่ดินแปลงใหญ่ จำเป็นต้องพัฒนาแบบผสมผสาน หรือกรณี ที่ดินด้อยศักยภาพ เช่น ที่ดินตาบอด การพัฒนา จะช่วยเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจของโครงการ อีกทั้งยังทำให้ศักยภาพที่ดินและพื้นที่โดยรอบ มีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี โครงการมิกซ์ยูสต่างๆ ที่กำลัง พัฒนาและจะทยอยสร้างเสร็จในช่วง 7-8 ปี ข้างหน้าคาดการณ์ว่า สิ่งที่ตามมาหลังจาก โครงการมิกซ์ยูสแล้วเสร็จในปี 2568 ก็คือ การเกิดขึ้นของอาคารสำนักงานจะมีถึง 6.5 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) พื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 5.1 แสน ตร.ม. คอนโดมิเนียมเพิ่ม 1.17 หมื่นยูนิต โรงแรมเพิ่ม 5,200 ห้อง และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เพิ่ม 2,500 ห้อง

ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าจะมีอสังหาฯ เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะโครงการพาณิชยกรรมที่จะเพิ่มขึ้นถึง 1.16 ล้าน ตร.ม. ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ อาจจะส่งผลกระทบต่ออาคารสำนักงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลว่าต้องมีดีมานด์มากเท่าไหร่จึงจะสามารถดูดซับ ตัวเลขเหล่านี้ได้หมด

ด้าน เพชรลดา พูลวรลักษณ์ กรรมการและ กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ตามแผนงานในปีนี้บริษัทเตรียมเปิด 10 โครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 1.5 หมื่น ล้านบาท แบ่งเป็น ออฟฟิศ คอนโดมิเนียมทั้งไฮไลต์และโลว์ไรส์ รวม 1.3 หมื่นล้านบาท โครงการแนวราบมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บริษัทหันมารุกพัฒนาบ้านแนวราบระดับไฮเอนด์ภายใต้แบรนด์ใหม่ ซึ่งจะมีการเปิดตัวใน 2 ทำเล

ขณะเดียวกันยังขยายธุรกิจโรงแรม ออฟฟิศ และรีเทลเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว โดยในไตรมาส 3 ปีนี้เตรียมเปิดโครงการมิกซ์ยูสที่ พระราม 9-รามคำแหง มีทั้งออฟฟิศและคอนโดมิเนียม มูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท

ทั้งนี้การพัฒนาแต่ละโครงการจะดูที่ ศักยภาพทำเลและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เป็นหลักซึ่งการพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูสสามารถ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ได้ดี บริษัทมีแผนพัฒนาต่อเนื่องทุกปีเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายในปี 2564 จะมีพื้นที่เช่ารวม 1.5 แสน ตร.ม. ซึ่งบริษัทมี รายได้จากค่าเช่าอยู่ที่ 100 ล้านบาท/เดือน และจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากค่าเช่าอยู่ราว 20% ของรายได้รวม 1 หมื่นล้านบาท

ที่มา  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


จัดเงินในกระเป๋าง่ายๆ โดยใช้หลัก “เงิน 3 ก้อน”

จัดเงินในกระเป๋าง่ายๆ โดยใช้หลัก "เงิน 3 ก้อน"

ปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจเรื่องการจัดการเงินๆ ทองๆ มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายในโลกโซเชียล การรับรู้และกระแสในวงกว้างทำให้เกิดคำถามตามมา เพราะส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องจำเป็น แต่ก็หยุดอยู่แค่นั้น ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไรจึงจะถูกต้อง ในเรื่องของ ฮาว ทู?

การใช้ที่ปรึกษาการเงิน หรือให้ผู้รู้ช่วยจัดให้ เป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงนักวางแผนการเงินได้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากยังไม่ได้เริ่มต้น

หลักการ “เงิน 3 ก้อน” เป็นการจัดการเงินขั้นพื้นฐาน เป็นคำแนะนำง่ายๆ ที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถตั้งหลักได้ แยกเงินเป็นช่วยให้เริ่มต้นเก็บออมและลงทุนได้อย่างถูกต้อง และไม่สับสนเมื่อถึงเวลาใช้จ่าย ตามเป้าหมายที่วางไว้

“เงิน 3 ก้อน” เริ่มต้นด้วยการจัดการเงินกำหนดเป้าหมายใหญ่ของเงินในกระเป๋า รวมถึงเงินรายได้ที่จะได้รับ โดยให้จัดเงินเป็น 3 ก้อน ได้แก่

1) เงินใช้จ่ายประจำ

2) เงินสำรองยามฉุกเฉิน และ

3) เงินลงทุนตามเป้าหมาย

ก้อนที่ 1 เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รายเดือน รวมถึงเงินผ่อนจ่ายต่างๆ และเงินที่จะต้องจ่ายออกใน 3 เดือน เงินก้อนนี้ต้องการสภาพคล่องสูง ถอนได้เมื่อต้องการ ไม่ขาดทุน ห้ามนำไปเสี่ยง เน้นความปลอดภัยสูง

การเก็บที่เหมาะสมสำหรับเงินก้อนที่ 1 คือ การฝากไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ที่ไม่ติดเงื่อนไขการถอน (ไม่ใช่บัญชีออมทรัพย์ประเภทที่กำหนดให้ถอนได้เพียง 1-2 ต่อเดือน) สำหรับเงินที่ต้องจ่าย แต่ไม่รีบจ่ายใน 1 เดือน อาจจะเก็บไว้ในกองทุนตราสารหนี้ที่ใช้บริหารสภาพคล่อง หรือกองทุนรวมตลาดเงิน (MoneyMarket Fund) เมื่อขายคืนจะได้เงินภายใน 1 วันทำการ แนะนำว่าควรมีบริการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต หรือผ่านระบบมือถือ จะสะดวกขึ้นมาก

กองทุนบริหารสภาพคล่อง หรือกองทุนรวมตลาดเงิน แม้ผลตอบแทนจะไม่มาก แต่โดยรวมก็ยังดีกว่าการปล่อยเงินไว้ในออมทรัพย์เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร และประโยชน์อีกอย่าง คือ การเก็บเงินไว้ออมทรัพย์แค่พอใช้จ่ายแต่ละเดือน คือจะช่วยคุมการใช้เงินได้ด้วย

ก้อนที่ 2 เงินสำรองยามฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ละเลย ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลักคิดของเงินก้อนนี้ คือ วันใดที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ทำงานไม่ได้หรือรายได้ไม่เข้ามา ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในรูปแบบเดิมๆ หรือใกล้เคียงเดิม ได้ไปอีกอย่างน้อย 4-6 เดือน ดังนั้นเงินก้อนนี้ควรมีไว้อย่างน้อยเท่ากับ 4-6เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนทั้งรายจ่ายประจำ และการผ่อนชำระต่างๆ

เงินส่วนนี้ควรแยกออกจากเงินใช้กรณีเจ็บป่วยให้ชัดเจน เพราะเป้าหมายคือสำรองเพื่อการดำรงชีพในสภาวะที่ขาดรายได้ ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วย ซึ่งในวันที่เกิดเหตุไม่คาดคิด จะได้ไม่เดือดร้อน ไม่ลนลาน เพราะยังสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถูกสถานการณ์บีบคั้นให้เร่งหารายได้ จนทำให้ตัดสินใจในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคต

เงินสำรองยามฉุกเฉินควรมีเท่าไร 3 หรือ 4 หรือ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายและภาระรายเดือน เรื่องนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่หากนำเรื่องการคุ้มครองความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ ก็จะมี 2 เรื่องให้พิจารณา คือ โอกาสที่รายได้จะไม่เข้าหรือตกงานมีมากน้อยแค่ไหน และหากรายได้ขาดหายจริงจะเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนมากก็ควรมีสำรองมาก เช่น พนักงานขายที่รายได้หลักขึ้นอยู่กับค่าคอมมิชชั่น ยอดขาย หรือเมื่อเก็บเงินลูกค้าได้ ความไม่แน่นอนของรายได้จะมากกว่าพนักงานฝ่ายบัญชี หรือผู้ที่มีเงินเดือนประจำ

พนักงานกลุ่มนี้ก็ควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉินที่มากกว่า หรือผู้ที่มีภาระความรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายสูง คนทำงานที่มาจากต่างจังหวัดต้องเช่าหอพักอยู่หรือผ่อนคอนโด หรือมีภาระหน้าที่หลักในการส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว หรือบุพการีรายเดือน หากขาดรายได้ ก็จะประสบปัญหามากกว่าคนทำงานที่มีบ้านของตนเองหรืออยู่บ้านเดียวกับพี่น้องพ่อแม่ หรือผู้ที่โสดไม่มีบุคคลในการอุปการะดูแล เป็นต้น

เงินก้อนที่ 2 มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ในที่ความเสี่ยงต่ำเช่นเดียวกัน แต่อาจจะรับความผันผวนหรือมีข้อจำกัดได้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสของผลตอบแทน แต่ก็ไม่ควรนำไปลงทุนในกองทุนหุ้น หรือกองทุนที่มีความผันผวนสูง อาจจะใช้กองทุนตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายเป็นที่เก็บออม หรือใครสะดวกจะใช้กองทุนรวมตลาดเงินก็สามารถทำได้ ในกรณีที่ไม่เกิดปัญหา

เงินก้อนนี้ก็จะลงทุนหรือฝากไปเรื่อยๆ เสมือนส่วนที่ลงทุนยาวในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือแม้แต่จะใช้วิธีฝากประจำไว้กับธนาคารเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยดีกว่าการแช่ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ก็ทำได้ ในวันที่เกิดความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถถอนได้เพียงแต่ไม่ได้รับดอกเบี้ยในงวดนั้น

เงินก้อนที่ 3 เงินลงทุนตามเป้าหมาย ภายหลังการจัดระเบียบเงินลงทุนก้อนที่ 1 และเตรียมเงินสำรองยามฉุกเฉินก้อนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เงินก้อนที่ 3 ก็จะมีการจัดแบ่งตามระยะเวลาตามเป้าหมายการใช้เงินเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น คือการลงทุนที่มีเป้าหมายต้องใช้เงินนั้นภายในไม่เกิน 3 ปี เป้าหมายระยะกลาง คือแผนจะใช้เงินภายใน 3-7 ปี เช่นเป้าหมายการเงินเตรียมเรียนต่อ ท่องเที่ยว ดาวน์รถ ดาวน์บ้าน แต่งงาน เตรียมปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น

การลงทุนสำหรับเป้าหมายระยะสั้น โดยเฉพาะเงินที่ต้องใช้ภายใน 1 ปี ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ไม่ควรลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น เพราะมูลค่าจะมีความผันผวน การเก็บเงินหรือลงทุนควรใช้กองทุนตราสารหนี้หรือการฝากบัญชีธนาคาร เนื่องจากผันผวนต่ำ

การลงทุนสำหรับเป้าหมายระยะกลาง ควรเป็นการลงทุนผสมผสานทั้งตราสารหนี้และหุ้นในระดับที่พอเหมาะ แม้จะมีระยะเวลาที่ยาวขึ้น เช่น นาน 5 ปี 7 ปี จนหลายคนคิดว่านานพอและน่าจะลงทุนในหุ้นได้ในสัดส่วนที่สูง แต่อย่าลืมว่าเวลาเดินอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายระยะกลางเมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นได้เร็วมาก จึงควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นสำหรับเป้าหมายระยะกลาง โดยกำหนดสัดส่วนที่พอเหมาะ และปรับลดสัดส่วนลงเมื่อเวลาลดลง และเมื่อกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นตามเวลาที่ลดลง

เป้าหมายระยะยาว เช่น แผนเตรียมเกษียณ ที่มีระยะเวลายาวนานเกิน 7 ปีขึ้นไป สามารถจัดสรรการลงทุนให้ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ในสัดส่วนที่สูง (บางตำราบอกว่า เกิน 5 ปีก็เป็นเป้าหมายระยะยาวแล้ว) แนวคิดสำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นสำหรับเป้าหมายระยะยาวก็คือ เมื่อมีระยะเวลานานพอ การลงทุนก็ควรทำให้ได้ประโยชน์เต็มที่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ การลงทุนในหุ้นที่นานพอ ระยะเวลาจะช่วยลดความผันผวนระหว่างทางได้เป็นอย่างดี เพื่อให้มีโอกาสรับผลตอบแทนโดยรวมที่สูง ทำให้การบรรลุเป้าหมายการลงทุนเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

ที่มา posttoday.com


ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร

ชมพระอุโบสถ และสะพานวัดเบญจมบพิตร

วันที่ 31 พ.ค. 2560 ผมเข้าไปในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อกราบและถ่ายภาพพระพุทธรูปจำนวน 52 องค์ ที่ประดิษฐาน ณ วิหารคด ได้พบเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวรู้จักในชื่อ The Marble Temple หรือวัดหินอ่อน ซึ่งเป็นความงามที่อัศจรรย์ยิ่งของสยามความงามที่โดดเด่น ได้แก่ พระอุโบสถที่สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ศิลปะด้านสถาปัตยกรรมตัวอุโบสถโดดเด่น งามสง่า โดยไม่มีสิ่งใดมาบดบัง แม้กระทั่งวิหารคด เพราะสถาปนิกออกแบบให้วิหารคดโอบอยู่ด้านหลังอุโบสถ  ดังนั้นเมื่อมองด้านหน้า ด้านใต้ ด้านเหนือ พระอุโบสถ ล้วนกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนแหวน ตัวพระอุโบสถเปรียบเหมือนหัวแหวน วิหารคดเปรียบเหมือนตัวเรือน ผู้ที่ออกแบบพระอุโบสถได้งดงามเป็นอมตะ ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยตอบคำถามผู้ที่สรรเสริญการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรว่ามีแนวคิดที่เลอเลิศยิ่งนัก ว่าการออกแบบพระอุโบสถแห่งนี้ไม่ใช่ของใหม่เลยทีเดียว ท่านให้ไปดูวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ที่โบราณบัณฑิต ได้ออกแบบและสร้างเป็นตัวอย่างไว้แล้ว ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวถึงปฐมเหตุการสร้างพระอุโบสถว่า เมื่อแรกสร้างในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ โดยพระราชทานนามว่า “สวนดุสิต” (พระราชวังดุสิต ในปัจจุบัน) ซึ่งบริเวณที่ดินที่ทรงซื้อนั้นมีวัดโบราณ 2 แห่ง คือ วัดดุสิตซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม ถูกใช้เป็นที่สร้างพลับพลา และวัดร้างอีกแห่งซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินของวัดสำหรับตัดเป็นถนน พระองค์จึงทรงกระทำผาติกรรม สร้างวัดแห่งใหม่เพื่อเป็นการทดแทนตามประเพณี โดยทรงเลือกวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่ทรงสถาปนาตามพระราชดำริว่า การสร้างวัดใหม่หลายวัดยากต่อการบำรุงรักษา ถ้ารวมเงินสร้างวัดเดียวให้เป็นวัดใหญ่ และทำโดยฝีมือประณีตจะดีกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่นๆ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังวัด ในการนี้มีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัดพร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ต่อมาพระองค์ได้ถวายที่ดินซึ่งพระองค์ขนานนามว่า ดุสิตวนาราม ให้เป็นที่วิสุงคามสีมาเพิ่มเติมแก่วัดเบญจมบพิตร และโปรดฯ ให้เรียกนามรวมกันว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

เมื่อมีการจัดระเบียบพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามได้รับการจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ดังนั้น ชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วย “ราชวรวิหาร” ดังเช่นในปัจจุบัน

ด้านข้างพระอุโบสถหินอ่อน มีลำคลองเล็กๆ เป็นแนวแบ่งเขตพุทธาวาส กับสังฆาวาส ที่สะดุดตา ได้แก่ สะพานข้ามคลองมีถึง 3 สะพาน แต่ละสะพานมีชื่อปรากฏทั้งสิ้น ได้แก่ สะพานพระรูป สะพานถ้วย และสะพานงาข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อีกแล้ว) บอกว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบส่งไปหล่อเป็นสะพานเหล็กมาจากอิตาลี คานและลูกกรงเป็นเหล็กหล่อลวดลาย ที่กลางสะพานติดป้ายแผ่นเหล็กมีสัญลักษณ์และประวัติความเป็นมาของสะพาน ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร ในปี 2444 นำรายได้จากขายสิ่งของเป็นทุน สร้างเสร็จพร้อมกันในปี 2446

สะพานพระรูป มีแผ่นป้ายจารึกประวัติติดไว้ที่สะพานว่า

สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่าขายพระรูป อันจำหลักในแผ่นทองแดงก้าไหล่ทอง ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสาตร์ศุภกิจ ถวายช่วยในการปฏิสังขรณ์พระอารามเมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ จึงพระราชทานนามว่า สพานพระรูป สร้างสำเร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑

สะพานถ้วย อยู่ตรงกลาง มีแผ่นป้ายจารึกประวัติของสะพานติดไว้ว่า

สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่าถ้วยชาพื้นสีลายทองงานพระเมรุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายในการออกร้านที่วัด เมื่อ ร.ศ. ๑๑๙ ทรงพระราชอุทิศเงินค่าถ้วยชานั้นให้สพานนี้ จึงพระราชทานนามว่า สพานถ้วย ได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑

สะพานงา ซึ่งเป็นสะพานที่ 3 ตรงข้ามกับพระวิหารสมเด็จ ส.ผ. มีแผ่นป้ายจารึกประวัติของสะพานติดไว้ว่า

สพานนี้ได้สร้างขึ้นด้วยเงินค่างาช้าง ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพถวาย เพื่อจำหน่ายเป็นเงินช่วยในการปฏิสังขรณ์พระอาราม เมื่อออกร้านในวัด ร.ศ. ๑๑๙ จึงพระราชทานนามว่า สพานงา สร้างสำเร็จเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑

ชื่นชมสะพาน แต่ห้ามให้อาหารปลาและเต่าในคลอง เพราะเจ้าอาวาสประกาศว่าอาหารที่เราให้ ไปทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชีวิตสัตว์น้ำด้วย ตั้งใจทำบุญ แต่กลายเป็นบาป นะครับ

ที่มา posttoday.com


เหนื่อยมาก!! พูดเป็นภาษาอังกฤษว่ายังไงดี?

อยากจะบอกว่าเหนื่อย ภาษาอังกฤษเขียนได้ว่า tired คำเดียวเหรอ…มีคำอื่นอีกมั้ย? บอกเลยค่ะว่ามี ทีนี้มีคำอะไรบ้างมาดูกันค่ะ

เหนื่อย ภาษาอังกฤษ

 

Exhausted 

แปลว่า เหนื่อยสุด ๆ เหนื่อยแบบหมดแรง  แบบโคตรเหนื่อยประมาณนี้เลยค่ะ

ตัวอย่างเช่น I’m exhausted ฉันเหนื่อยมาก ส่วน “exhausting” ใช้ขยายสิ่งที่ทำให้เราเหนื่อย เช่น It has been an exhausting activity. (มันมันช่างเป็นกิจกรรมที่แสนเหนื่อย)

Pooped

คำนี้เป็นแสลงของคำว่า เหนื่อยค่ะ ไม่ได้แปลว่า อึนะ ถึงแม้จะเขียนเหมือนกันก็ตาม ความหมายของ Poop ก็ประมาณว่า เหนื่อยแบบหมดแรงสุดๆ ค่ะ

ตัวอย่างเช่น “I’m so pooped.” โอ้ยย..หมดแรงสุดๆ

Run out of energy  

หมายถึงหมดพลังงาน หมดแรง ประมาณว่าเหนื่อยจนหมดพลังงานเลยล่ะค่ะ

ตัวอย่างเช่น “It’s had been a busy day, I’m running out of my energy” วันนี้เป็นวันที่ยุ่งมากๆเลย จะหมดแรงแล้วเนี่ย

 

เหนื่อย

นอกจากนี้ยังมีคำและประโยคอื่นๆอีก ที่สามารถใช้แทนคำว่าเหนื่อยได้เหมือนกันค่ะ เช่น

I’m dead on my feet. เป็นสำนวนที่แปลว่า ฉันเหนื่อยมาก เหนื่อยจนแทบจะยืนไม่ไหวแล้วเนี่ย (แสดงให้เห็นภาพว่า เหนื่อยมาก ๆ เลย)

Knackered เป็นคำแสลงแปลว่า เหนื่อยมาก หมดแรง
ตัวอย่างเช่น I’m so knackered now. ตอนนี้ฉันเหนื่อยมากเลย

Tired out แปลว่า รู้สึกเหนื่อยมาก ๆ อยากจะพักผ่อน

I’m dog tired คำนี้เป็นสำนวนค่ะแปลว่า เพลีย!! หรือเหนื่อยสายตัวแทบขาดค่ะ ไม่ได้แปลว่าเหนื่อยเหมือนหมานะคะ 5555

นอกจากนี้ยังมีสำนวนและวลีเจ๋งๆ เช่น I’m spent, I’m done, I’m beat, I’m worn, I’m sleepy, I’m fatigued, I’m tired to the bone ซึ่งมีความหมายคล้าย ๆ กัน เอาไว้ใช้แทนคำว่าเหนื่อยได้ด้วยนะคะ ทีนี้เวลาเราอยากจะบอกว่า “เหนื่อย” เป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องใช้แค่คำว่า “Tired” คำเดียวแล้วนะคะ เลือกคำศัพท์ที่นำมาฝากกันวันนี้ไปใช้ได้เลย.. พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ  I’m done for today. วันนี้เหนื่อยแล้วล่ะ ขอตัวไปพักผ่อนก่อนนะคะ

ที่มา dailyenglish.in.th


ราคาทองทุกชนิด ตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ(Gold Traders Association) ประจำวันที่ 7/06/2560

ชนิดความบริสุทธิ์ของทอง

ราคารับซื้อต่อกรัม

ราคารับซื้อ/บาท

ราคาขายออก/บาท

ทองคำแท่ง 96.5% n/a 20,700.00 20,800.00
ทองรูปพรรณ 96.5% 1,341.00 20,329.56 21,300.00
ทองรูปพรรณ 90% 1,206.90 18,296.60 n/a
ทองรูปพรรณ 50% 603.00 9,141.48 n/a
ทองรูปพรรณ 40% 469.00 7,110.04 n/a
ทองรูปพรรณ 99.99% 1,390.00 21,072.40 n/a

ราคาน้ำมัน  ประจำวันที่  7/06/2560


ราคาขายปลีมาตรฐาน ในเขต กทม. นนทบุรี
ปทุมธานี และสมุทรปราการ
หน่วย : บาท/ลิตร
ปตท. บางจาก เชลล์ เอสโซ่ ไออาร์พีซี / ทีพีไอ ภาคใต้เชื้อเพลิง ซัสโก้ ระยองเพียว ซัสโก้
ปตท
PTT
บางจาก
BCP
เชลล์
Shell
เอสโซ่
Esso
คาลเท็กซ์
C
altex
ไออาร์พีซี
IRPC
พีทีจี
เอนเนอยี่
PTG
ซัสโก้
Susco
ระยองเพียว
Pure
ซัสโก้ ดีลเลอร์
SUSCO Dealers
แก๊สโซฮอล 95 26.25 26.25 26.25 26.25 26.25 26.25 26.25 26.25 26.25
แก๊สโซฮอล E-20 23.74 23.74 23.74 23.74 23.74 23.74 23.74 23.74 23.74
แก๊สโซฮอล E-85 19.44 19.44 19.44 19.44
แก๊สโซฮอล 91 25.98 25.98 25.98 25.98 25.98 25.98 25.98 25.98 25.98 25.98
เบนซิน 95 33.36 33.81 33.81 33.86 33.36 33.36 33.36
ดีเซลหมุนเร็ว 24.59 24.59 24.59 24.59 24.59 24.59 24.59 24.59 24.59 24.59
ดีเซลหมุนเร็ว พรีเมียม 27.59 28.27 28.27 28.27 28.27
มีผลตั้งแต่ 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00 06 Jun 05:00
Comments : Off
About the Author

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า