อสังหาฯ ส่อแววติดลบ 10% บ้านเกิน 10 ล้าน เสี่ยง!
อสังหาฯปี 2566 แรงหนุนอ่อน REIC ชี้หลายปัจจัยรุมเร้า ธปท.ไม่ผ่อนปรน LTV ,ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 100 เท่า ขณะ ‘หนี้ครัวเรือน’ ยังน่าห่วง หวั่น ส่งผลโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปีหดตัวติดลบ10% หรือทรงตัว พร้อมปรามผู้พัฒนา ยั้งมือ ดันบ้าน ราคาเกิน 10 ล้าน เข้าตลาด เหตุตลาดผู้ซื้อ ไม่มาก
16 ก.พ.2566 – แม้ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2565 เพิ่ม 21.1% สูงสุดหลังจากเกิด COVID-19 กลายเป็นภาพความสดใส และเรียกความเชื่อมั่นในฝั่งผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ให้หันกลับมาลงทุนกันอย่างคึกคักในปีนี้ ภายใต้ความเชื่อว่า ตลาดจะไปต่อ …
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียด ต้องยอมรับว่า การขยายตัวของตลาดเมื่อปี 2565 ล้วนเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล รวมไปถึง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่อนปรน LTV อีกทั้ง ปีก่อน อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และ ราคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ยังไม่ปรับตัวนัก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จาการเข้ามาท่องเที่ยวของคนต่างชาติ
ปัจจัยลบ ฉุดขาขึ้นอสังหาฯ ปี 66
ส่วนทิศทางของตลาดอสังหาฯปีนี้ ดูเหมือนจะมีภาพที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดย ล่าสุด ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ประเมินว่า อสังหาฯปีนี้ มีปัจจัยลบที่เข้ามากระทำต่อตลาดในหลายด้าน ได้แก่
- ธปท.ไม่ผ่อนปรน LTV ซึ่งจะกระทบต่อคนที่ต้องการมีการซื้อสำหรับการอยู่อาศัยและการลงทุน ที่เป็นบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30%
- มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ลดค่าธรรมเนียมการโอนเพียง 1%
- ปี 2566 เป็นช่วงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 0.75-1.0
- ราคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะปรับตัวราคาขึ้นทางตรงและทางอ้อม (ส่วนลด/ของแถมน้อยลง)
ทั้งนี้ REIC จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงจากปี 2565 เล็กน้อยอยู่ที่ 90.2 จุด หรือลดลง ประมาณร้อยละ -1.6 สำหรับกรณีฐาน (Base Case) และหากมีปัจจัยบวกที่ดีกว่าที่คาดไว้อาจจะมีการขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8.2 (Best Case) แต่หากมีปัจจัยที่ส่งผลรุนแรงกว่าที่คาดไว้ อาจจะติดลบได้ถึงร้อยละ -11.5 (Worst Case)
“ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปีนี้ คือ ราคาที่อยู่อาศัยที่มีการปรับตัวขึ้น และ ไม่มีการผ่อนปรน LTV แต่รายได้ของประชาชนยังปรับตัวดีขึ้นไม่แข็งแรง จะทำให้ความสามารถการซื้อและการกู้ลดลง และจะกระทบต่อยอดขาย และ ยอดโอนกรรสิทธิ์ อีกทั้ง เศรษฐกิจไทย ที่ยังต้องติดตามต่อ ว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่หรือไม่ เพราะขณะนี้มีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งถ้าปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ขยายตัว ก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยได้ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในตอนนี้ “
อีก 98,132 หน่วย จ่อเข้าใหม่ในตลาด สวนดีมานด์ลด 10%
โดย ในปี 2566 REIC คาดการณ์ ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีจำนวนประมาณ 98,132 หน่วย แม้ภาพรวมลดลงร้อยละ -2.1 แต่เจาะลึก โครงการบ้านจัดสรร ยัง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จำนวนประมาณ 58,046 หน่วย ขณะ โครงการอาคารชุดจะมีจำนวนประมาณ 40,086 หน่วย ลดลงร้อยละ -22.4
ภายใต้ อุปสงค์ที่อยู่อาศัยปีนี้ ที่ประเมินว่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 352,761 หน่วย ลดลงร้อยละ -10.2 จะมีมูลค่าประมาณ 1,016,838 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.5 แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนประมาณ 264,571 หน่วย ลดลงร้อยละ -7.4 มูลค่าประมาณ 753,628 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.9 โอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดพักอาศัยมีจำนวนประมาณ 88,190 หน่วย ลดลงร้อยละ -17.7 มูลค่าประมาณ 263,210 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.8
ทั้งนี้คาดว่าจะกระทบยอดการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ ปี 2566 อาจจะมีจำนวนรวมประมาณ 650,764 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.8 และมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศจำนวนประมาณ 4,955,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปี 2565
ห่วงผู้พัฒนา โหมเปิดบ้านราคามากกว่า 10 ล้าน
ดร.วิชัย ยังมีความกังวล ในความร้อนแรงของตลาดบ้านหรู ราคามากกว่า 10 ล้านบาท ผ่านการบุกหนักเปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมากของผู้พัฒนาฯหลายบริษัทในปีนี้ ต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีการเปลี่ยนทิศทาง จากการเปิดโครงการทาวน์เฮ้าส์ หรือ บ้านระดับกลาง มาสู่บ้านหรูกันมากขึ้น เพราะต้องการหนีจากยอดปฎิเสธสินเชื่อ หรือ รีเจ็กต์ที่พุ่งขึ้นมาในตลาดดังกล่าวช่วงโควิด ขณะ บ้านหรู มีมูลค่า ขายได้ และ หมุนกลับเป็นรายได้สูง ทำให้แห่เปิดโครงการรองรับกันเป็นจำนวนมาก และ แนวโน้มการประกาศแผนธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆในปีนี้ ก็ยังเป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ดี REIC พบว่า บ้านแนวราบราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป มีการโอนกรรมสิทธิ์สะสมทั้งประเทศ ณ สิ้นปี 2565 เพียง 7,000 หน่วย ขณะเมื่อปี 2563-2565 มีหน่วยเปิดสะสม เฉลี่ยปีละ 3,000 หน่วย จึงอาจเป็นจุดที่ต้องพิจารณา ว่าระหว่าง ดีมานด์ และ ซัพพลายใหม่ มีความสมดุลกันหรือไม่ เพราะถ้าซัพพลายเกิน การขายจะยากขึ้น ขณะกลุ่มผู้ซื้อในตลาดดังกล่าว มีไม่มาก
อีกทั้ง การซื้อในตลาดนี้ ส่วนหนึ่งยังมาจากบ้านมือสองมากถึง 2,700 หน่วยอีกด้วย นั่นหมายถึง ยังมีการแข่งขันออกมาจากบ้านมือสองด้วย ซึ่งผู้พัฒนาจะต้องระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
2566 ได้เวลา อนันดา โต้คลื่น สต๊อกพร้อมอยู่แข็งแกร่ง 4.5 หมื่นล้าน
สถานการณ์โควิด 3 ปี (2563-2565) “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ยืนระยะอย่างอดทน ไม่ลงมาทำสงครามราคาเพื่อระบายสต๊อกคอนโดมิเนียม
จนกระทั่งปี 2566 พกความมั่นใจมาอย่างเต็มที่ เพราะอนันดาฯ ในวินาทีนี้ กลายเป็นบิ๊กแบรนด์บริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงรายเดียว ที่มีสต๊อกที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่หรือ RTM-ready to move มากสุดในวงการขณะนี้
จำนวนรวมสูงถึง 45,000 ล้านบาทด้วยกัน
กลายเป็นความ “เซ็กซี่” ของแผนธุรกิจปี 2566 โดยอัตโนมัติ เพราะท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ดีเวลอปเปอร์ที่มีสินค้า RTM ยิ่งมากก็ยิ่งได้เปรียบ เพราะแมตช์ได้พอดิบพอดีกับพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อศักยภาพสูง โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติที่เริ่มหันมานิยมซื้อคอนโดฯ ในเมืองไทยทำเป็นบ้านหลังที่ 2
RTM ดันมาร์จิ้นพุ่งทันที 5%
งานนี้ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวสั้น ๆ ว่า ปี 2566 ถึงเวลาของอนันดาฯ แล้ว
โดยจั่วหัวธีมการทำธุรกิจปีนี้คือ “Ananda Ride the Wave” หลังจากดำเนินกลยุทธ์ในยุคโควิด ไม่ดัมพ์ราคา ไม่หั่นราคา อดทนกับข้อต่อรองเหมาซื้อสต๊อกยกลอตแลกกับส่วนลดสูงลิ่ว เพราะตระหนักดีว่าโครงการในเครือปักหมุดตามแนวรถไฟฟ้าเป็นหลัก เป็นทำเลที่ “หมดแล้วหมดเลย” เพราะที่ดินใหม่ไม่งอกเพิ่มบนผืนเดิม
เบ็ดเสร็จ ปี 2566 อนันดาปักหมุดสินค้า RTM บนทำเล Blue Chip Location รวม 30 โครงการ มูลค่าท่วม 45,000 ล้านบาท
ในภาพใหญ่ภายในสิ้นปีนี้ อนันดาฯ จะมีพอร์ตพัฒนาโครงการสะสม 37 โครงการ มูลค่าสะสม 74,368 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ 64,017 ล้านบาท สัดส่วน 86% กับบ้านแนวราบอีก 10,351 ล้านบาท สัดส่วน 14%
ซึ่งจะเป็นคลังสต๊อกขนาดใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ปี 2566-2569 เสริมแกร่งให้กับการทำแผนธุรกิจต่อเนื่อง 4 ปีข้างหน้า
ตัวเลขสำคัญคือกำไรเบื้องต้น (GP-Gross Profit) เริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ปี 2564 อยู่ที่ 21.5% ปี 2565 ขยับเพิ่มเป็น 25.0%
“ปีโควิดที่ผ่าน ๆ มาอนันดาฯ ทั้งอึดและอดทน ยุคหลังโควิดในปี 2566 สต๊อกพร้อมอยู่ที่มีสูงถึง 45,000 ล้านบาท สูงที่สุดในวงการอสังหาฯ บวกกับการปรับขึ้นของราคาแบบ real time ทำให้บริษัทรับอานิสงส์ด้านรายได้ทันที โดยมาร์จิ้นปีนี้คาดว่าไม่ต่ำกว่า 30.6% หรือเพิ่มทันที 5%”
ธุรกิจ 4 ขา-ทำกำไรทุกตัว
เรื่องใหม่ปีนี้ มีการปรับโครงสร้างเป็น 4 พอร์ตหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจหลัก (core business) ประกอบด้วยโครงการบ้านและคอนโดฯ, โบรกเกอร์อสังหาฯ 2 บริษัทคือ The Works กับ The Agent
2.ธุรกิจบริการ สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (management
fee) โดยฟอร์มธุรกิจใหม่ “APSMC-Ananda Professional Services and Management Consultancy” รับบริหารจัดการและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ Total Solutions ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เริ่มต้นที่ 100 กว่าล้านบาท
นำร่องโครงการแรก เจรจาข้อตกลงขั้นสุดท้ายกับบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสทำเลสุขุมวิท 38 ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีทองหล่อ
ในอนาคต ถ้ามีโอกาสจะผลักดันเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป
3.ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ (recurring income) จากการลงทุนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 5 โครงการที่พร้อมเปิดบริการแล้ว ได้แก่ “ซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9-แอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก-แอสคอทท์ เอ็มบาสซี สาทร-ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก-ซัมเมอร์เซ็ต พัทยา” กับแผนลงทุนเพิ่มอีกมูลค่า 4,000 ล้านบาท
4.ลงทุนธุรกิจใหม่ (New Business) มีเข็มทิศการลงทุนพัฒนาด้าน Tech Education เพื่อเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จัดตั้ง “TMA-The Master Academy” สร้างทักษะและเสริมความคิดในทางธุรกิจผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเริ่มจากการ upskill/reskill เป็นความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเปิดตัวหลักสูตร The Data Master ทำหน้าที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลหรือ Data Scientists ซึ่งปัจจุบันมีไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ
ในอนาคตมีแผนพัฒนาสู่หลักสูตรอื่น ๆ เช่น Blockchain และ Cyber Security ร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการนำไปใช้ได้จริง รวมถึงความร่วมมือกับ Singularity University (SU) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
224 เอเย่นต์ดักลูกค้าต่างชาติ
สำหรับจุดโฟกัสการเปิดประเทศต้อนรับกำลังซื้อลูกค้าต่างชาติขนานใหญ่อีกระลอก “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า อนันดาฯ มีแผนรองรับการกลับมาของดีมานด์ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างชาติ
โดยนำเสนอสินค้าพร้อมอยู่พร้อมโอนแข็งแกร่งมูลค่า 45,000 ล้านบาท ดังนี้ สินค้า RTM มูลค่า 34,880 ล้านบาท บวกกับโครงการที่จะสร้างเสร็จในปี 2566 มูลค่า 10,012 ล้านบาท
แผนธุรกิจรัว ๆ ในปี 2566 วางแผนเปิดตัว 10 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 21,200 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 4 โครงการ มูลค่ารวม 7,200 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่า 10,000 ล้านบาท เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ร่วมทุน 2 โครงการ มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท
โดยมีโปรเจ็กต์ไฮไลต์ 2 โครงการ คอนโดฯ ติดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานควาย มูลค่า 8,100 ล้านบาท กับโครงการแบรนเดด เรสซิเดนซ์ระดับเวิลด์คลาส ทำเลใจกลางสุขุมวิท มูลค่า 6,500 ล้านบาท วางแผนเปิดตัวไตรมาส 4/66
กิจกรรมการตลาดจัดในรูปแบบ Ananda Urban Caravan ปูพรมจัดตลอดทั้งปีทั้งในและต่างประเทศ
หากโฟกัสการทำตลาดลูกค้าต่างชาติ อนันดาฯ สร้างเครือข่ายพันธมิตรเอเย่นต์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเอเย่นต์กระจายทั่วโลก 224 ราย อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่มากสุด 65 ราย ฮ่องกง 48 ราย ไต้หวัน 38 ราย เมียนมา 14 ราย สหรัฐ 11 ราย ญี่ปุ่น 8 ราย สหภาพยุโรป 7 ราย และรัสเซีย 3 ราย
ในขณะที่สต๊อกสะสม 74,368 ล้านบาท มีโควตาเหลือขายลูกค้าต่างชาติ 31% (จากเต็มโควตา 49%) มูลค่า 22,836 ล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นสินค้าพร้อมโอนทันที คำนวณจากยอด RTM 45,000 ล้านบาท เป็นสินค้าคอนโดฯ พร้อมโอน 34% มูลค่า 15,500 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้ายอดขายลูกค้าต่างชาติเพียง 4,489 ล้านบาท เทียบกับโควตาลูกค้าต่างชาติยังมีช่องว่างให้เติมได้อีกถึง 22,836 ล้านบาท
ตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ 14,502 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2565 แบ่งเป็นเป้ายอดโอนของลูกค้าต่างชาติเพียง 3,100 ล้านบาท เทียบกับคอนโดพร้อมโอนสูงถึง 15,500 ล้านบาท ในขณะที่มีแบ็กล็อก (ยอดขายรอโอน) ในมือเหนาะ ๆ แล้ว 5,800 ล้านบาท
อาจกล่าวได้ว่า แผนปี 2566 ภายใต้ธีมธุรกิจ Ananda Ride the Wave ปิดประตูพลาดเป้าเกิน 100% เผลอ ๆ อาจได้เห็นการประกาศปรับเพิ่มเป้าระหว่างปีด้วยซ้ำไป
บทสรุปสุดท้าย แผนด้านการเงินที่เตรียมออกหุ้นกู้ปีนี้ วงเงินเพียง 5,000 ล้านบาท น่าจะผ่านฉลุยเพราะมีสินค้าพร้อมโอน-RTM หนุนหลังสูงถึง 45,000 ล้านบาท สูงที่สุดในวงการ
อสังหาฯ ณ ต้นปี 2566
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทอ่อนเป็นไปตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างต่อเนื่อง
ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (17ก.พ.2566)ที่ระดับ 34.37 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นเป็นไปตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
โดยเฉพาะในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่เงินบาทอ่อนค่าหนักไปทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อยจากโซนแนวต้านดังกล่าว
เราประเมินว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อค่าเงินบาทจะยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจเริ่มเป็นลักษณะ sideways ในกรอบใหม่ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้า โดยเราประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วง 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ และ
ถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญ เราประเมินว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อไปถึงโซน 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นการชะลอลงของการอ่อนค่าได้บ้าง เนื่องจากโซนดังกล่าวอาจเป็นจุดที่ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Long USDTHB จะเริ่มขายทำกำไรมากขึ้น
อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์
ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.78% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.38% ชี้ว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างชัดเจน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงช้า
กดดันให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากที่ข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงสู่ระดับ 194,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ในเดือนมกราคม ก็เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 6.0% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและบางท่านก็สนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นได้ราว +0.19% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ต่างออกมาดีกว่าคาด
โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Kering +3.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอยู่ ทำให้การปรับตัวขึ้นเป็นไปอย่างจำกัด
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตที่เร่งตัวขึ้นและภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.86%
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญแถว 3.90%-4.00% ซึ่งน่าจับตามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวมากน้อยขนาดไหน
เพราะหากแรงซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัวยังคงมีอยู่ ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อไปไกลมาก แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดและหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.1 จุด ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากการเข้ามาถือของผู้เล่นในตลาดท่ามกลางภาวะตลาดการเงินผันผวนและปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) แกว่งตัวผันผวนหนัก และยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 1,850-1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1,842 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า อาจขยายตัวราว +3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของทั้ง ECB และเฟด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่งในช่วงเช้าวันนี้ (9.57 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยเงินบาทเผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง หลังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของไทยที่ขยายตัวเพียง 1.4% YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 3.6% สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจ
อาทิ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตและการปรับลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่หนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.25-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดหลังตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 4/65 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ตลาดคาด ทิศทางฟันด์โฟลว์และสกุลเงินเอเชีย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และดัชนีราคาสินค้านำเข้าเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
เอาเด็กมาสู้กัน! กัมพูชาปรับกฎฟุตบอลชายซีเกมส์ “ห้ามส่งแข้งอายุเกิน 22 ปี”
ความเคลื่อนไหวของการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ล่าสุด เจ้าภาพ กัมพูชา ปรับกฎฟุตบอลชายอีกครั้ง ด้วยการห้ามใช้นักเตะอายุเกิน 22 ปี ลงแข่งขันในรายการนี้
ก่อนหน้านี้ เจ้าภาพได้ปรับกฎลดนักเตะโควตาอายุเกิน 22 ปี ให้สามารถลงแข่งขันได้ 2 คน จากเดิม 3 คน ก่อนจะกลายเป็นห้ามลงแข่งขันแม้แต่คนเดียว อัปเดตเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 ก.พ. 66
อย่างไรก็ดี “ทัพช้างศึก ซีเกมส์” ดูจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการปรับกฎครั้งนี้มากนัก เมื่อแกนหลักชุดปัจจุบันไม่มีแข้งอายุเกิน 22 ปีแม้แต่คนเดียว เช่น ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา, ชนภัช บัวพันธ์, ธีรศักดิ์ เผยพิมาย, ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์, ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว, ชยพิพัฒน์ สุพรรณเภสัช และ อนันต์ ยอดสังวาลย์ ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร
ส่วนฝั่ง กัมพูชา ภายใต้การคุมทีมของ เคสุเกะ ฮอนดะ แข้งดังชาวญี่ปุ่นที่เข้ามารับงานนานกว่า 5 ปี และซีเกมส์ครั้งนี้จะเป็นทัวร์นาเมนต์สั่งลาของเจ้าตัว มีเป้าหมายอยู่ที่การคว้าแชมป์มาครองให้ได้ด้วยกลุ่มนักเตะที่คลุกคลีกันมาหลายปี
โดย กัมพูชา U22 มีนักเตะมากถึง 9 คนที่ติดทีมชาติชุดใหญ่ลงเเข่งอาเซียน คัพ ครั้งล่าสุด นำมาโดย เสียง จันเทียะ, ลิม พิโสธ และ สัมบัท เทศ ที่ถือเป็นดาวเด่นจากสไตล์การเล่นที่ดุดัน รวมทั้งการบีบพื้นที่และการแก้เพรสซิ่งของนักเตะ จนสร้างความชื่นชมให้กับแฟนบอลชาวไทยในเกมที่บุกมาแพ้ไทย 1-3 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
ขี้หนาว มือเท้าเย็น ไม่มีแรง สัญญาณของ “ไฮโปไทรอยด์”
ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมากกว่าที่หลายๆ คนคิดนะคะ เพราะต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตและควบคุมระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งเจ้าฮอร์โมนเหล่านี้นี่แหละที่คอยสร้างสมดุลให้กับร่างกายอีกที เพราะฉะนั้นหากต่อมไทรอยด์ไม่ปกติ ฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติ ร่างกายของเราก็จะขาดความสมดุลไปด้วย
หนึ่งในโรคที่เกิดขึ้นกับสภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์ คือ “ไฮโปไทรอยด์” ค่ะ มีอาการอย่างไร รักษาอย่างไร และหลีกเลี่ยงอย่างไร ไปหาคำตอบกับ Sanook! Health กันเลยค่ะ
“ไฮโปไทรอยด์” คืออะไร?
ไฮโปไทรอยด์ หรือ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้าง หรือหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมา ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ ส่งผลให้บางส่วนของร่างกายทำงานผิดปกติ
สาเหตุของ “ไฮโปไทรอยด์”
1. เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เอง อาจจะเป็นผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ที่เคยผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกไปบางส่วน หรือทั้งหมด
2. เกิดจากภาวะผิดปกติของต่อมใต้สมอง ที่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้ทำงานเป็นปกติได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็น “ไฮโปไทรอยด์”
มากกว่า 80% เป็นผู้หญิง และอาจเกิดกับวัยทอง
อาการของผู้เป็น “ไฮโปไทรอยด์” หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์
- ขี้หนาว มือเท้าเย็น ต้องใส่ถุงมือถุงเท้า ดึงแขนเสื้อมาปิดมือ หรือหาผ้ามาคลุมตลอด
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เซื่องซึม ไม่กระฉับกระเฉง
- เสียงแหบพร่า
- ขี้หลงขี้ลืมในระยะเวลาอันสั้น คิดช้า ทำช้า
- ท้องผูกบ่อยๆ
- ผิวแห้ง ผมแห้ง อาจมีผมร่วงในบางราย
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ทานน้อย
วิธีรักษาภาวะ “ไฮโปไทรอยด์”
คุณหมออาจแนะนำให้ทานฮอร์โมนเสริม เฝ้าติดตามอาการ และตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ “ไฮโปไทรอยด์” ไม่ใช่โรคภัยร้ายแรงอะไร เพียงแต่การให้ฮอร์โมนทดแทน จะช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติในอนาคตได้ เช่น ระดับความรู้สึกลดลง อุณหภูมิในร่ายกายลดลง ความดันโลหิตต่ำลง หายใจช้าลง ไปจนถึงการเต้นของหัวใจช้าลง และเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอค่ะ
หากอยากลดโอกาสในการเป็น “ไฮโปไทรอยด์” ควรรีบรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสียตั้งแต่วันนี้ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญหมั่นตรวจ และสังเกตร่างกายของตัวเราเองให้ดี เพราะไม่มีใครรู้จักตัวเราดี เท่าตัวเราเองอีกแล้ว ยิ่งพบความผิดปกติกับร่างกายของตัวเองได้เร็วเท่าไร เราก็ยิ่งจะมีโอกาสหายจากอาการผิดปกติเหล่านั้นได้มากขึ้นนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
บทสนทนาภาษาอังกฤษธุรกิจ ซื้อขาย (English for Sales & Shopping Phrases)
บทสนทนาภาษาอังกฤษธุรกิจ ซื้อ – ขาย
(English for Sales & Shopping Phrases)
การสื่อสารในปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านของการทำธุรกิจการซื้อ-ขาย เพราะโลกเราเปิดกว้างมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราเข้าถึงธุรกิจได้ความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ในการเจรจาธุรกิจหากเราไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคไม่ใช่น้อย
เพราะเมื่อธุรกิจในปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น เรามีโอกาสพบเจอลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งการซื้อจากหน้าร้าน หรือ การซื้อ-ขาย ทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Website, E-Commerce, Social Network, Application ต่างๆ
การเรียนภาษาอังกฤษจึงถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของคุณ ในทางด้านการเจรจาสื่อสาร เอ็ด ดู เฟิร์สท์ จึงรวบรวม บทสนทนาภาษาอังกฤษธุรกิจ ซื้อ-ขาย มาให้เพื่อนๆ เรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์กันค่ะ
บทสนทนาภาษาอังกฤษเจรจาธุรกิจ ซื้อ – ขาย
ประโยคสนทนาภาษาอังกฤษของผู้ขายหรือเจ้าของร้านในสถานการณ์ที่มีลูกค้าเข้ามาในร้านหรือใช้บริการ ซึ่งประโยคนี้จะมีความหมายว่า “ให้ฉันช่วยไหม” ซึ่งเสมือนเป็นคำพูดต้อนรับลูกค้า เมื่อลูกค้าต้องการหาสินค้าที่ต้องการและรวดเร็ว
ประโยคต้อนรับลูกค้า
May I help you? (เมย์ ไอ เฮลพ ยู)
can I help you? (แคน ไอ เฮลพ ยู)
Do you want any help? (ดู ยู วอนท เอนนี เฮลพ)
Do you need any help? (ดู ยู นีด เอนนี เฮลพ)
Would you like any help? (วูด ยู ไลค เอนนี เฮลพ)
Have you been helped? (แฮฟว ยู บีน เฮลพท)
Anything can I do for you? (เอนนีธิง แคน ไอ ดู ฟอร์ ยู)
What can I do for you? (วอท แคน ไอ ดู ฟอร์ ยู)
การตอบรับข้อเสนอ
Yes, please. (เยส พลีซ)
ค่ะ ได้ค่ะ
Yes, I’d love to. (เยส ไอ ลัฟว ทู)
ครับ ยินดีมากเลย
Yes. That would be great. (เยส แธท วูด’บี เกรท)
ค่ะ มันจะดีมากเลย
That sounds nice. (แธท เซาน์ดฺ ไนสฺ)
นั้นจะดีมากเลย
Thank you. I’d like to. (แธงคิว ไอ ไลค ทู)
ยินดี ๆ ขอบคุณนะ
ถามความต้องการของลูกค้า
ประโยคภาษาอังกฤษระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เช่น การถามความต้องการของลูกค้า การบอกความต้องการสินค้าที่สนใจ กรณีขอดูสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ การลองสินค้าพวกเสื้อผ้า เป็นต้น
Is there anything/something I can do for you?
(อีส แธร์ เอนนีธิง/ซัมธิง ไอ แคน ดู ฟอร์ ยู)
มีอะไรที่ฉันพอจะทำให้คุณได้บ้าง
Yes, please. / No, thanks.
(เยส พลีซ / โน แธงคส)
มีครับ / ไม่มีครับ ขอบคุณ
What would you like, sir?
(วอท วูด ยู ไลคฺ เซอะ)
คุณต้องการซื้ออะไรค่ะ
What are you looking for?
(วอท อาร์ ยู ลุคคิง ฟอร์)
คุณกำลังมองหาอะไรอยู่ครับ
Which one do you need?
(วิช วัน ดู ยู นีด)
คุณต้องการอันไหนครับ
Would you take it?
(วูด ยู เทค อิท)
คุณจะซื้อไหมคะ
May I take your order?
(เมย์ ไอ เทค ยัวร์ ออเดอะ)
คุณจะสั่งสินค้าเลยไหมครับ
I would like…
(ไอ วูด ไลต…)
ผมอยากได้….ครับ
I would like to buy…
(ไอ วูด ไลต ทู บาย…)
ฉันอยากจะซื้อ… ค่ะ
I am looking for…
(ไอ แอม ลุคคิง ฟอร์…)
ผมกำลังมองหา…อยู่ครับ
I need some…
(ไอ นีด ซัม…)
ฉันต้องการ…ค่ะ
I will take it/this.
(ไอ วิล เทค อิท/ธิส)
ฉันอาอันนี้
I’m interested in buying…
(ไอม อิน’เทอริสทฺทิด อิน ไบอิง…)
ผมสนใจจะซื้อ …ครับ
Can I see…on the shelf?
(แคน ไอ ซี…ออน เธอะ เชลฟฺ)
ผมขอดู…บนชั้นหน่อยครับ
Let me have…please.
(เลท มี แฮฟว…พลีซ)
ขอ…ให้ฉันหน่อยค่ะ
Where can I find the…please?
(แวร์ แคน ไอ ไฟดฺ เธอะ…พลีซ)
ฉันจะหา…ได้จากที่ไหน
Could you tell me where the…is?
(คูด ยู เทล มี แวร์ เธอะ…อีส)
บอกหน่อยได้ไหมว่า…อยู่ตรงไหน
Do you have?
(ดู ยู แฮฟว)
คุณมี …ไหม
Do you sell…?
(ดู ยู เซล…)
คุณมี…ขายไหม
Do you have any…?
(ดู ยู แฮฟว เอน’นี…)
คุณพอจะมี….บ้างไหม
Sorry, we don’t sell them.
(ซอ’รี วี โดนท เซล เธม)
เสียใจครับ เราไม่ได้ขายของพวกนั้น
Sorry, we don’t have any left.
(ซอรี วี โดนท แฮฟว เอน’นี เลฟทฺ)
เสียใจค่ะ เราไม่มีสินค้าเหลือเลย
What kind do you want?
(วอท ไคดฺ ดู ยู วอนท)
คุณต้องการประเภทไหน
What style do you prefer?
(วอท สไทลฺ ดู ยู พรีเฟอะ)
คุณชอบรูปทรงแบบไหน
What is your size?
(วอท อิส ยัวร์ ไซซ)
เบอร์อะไรครับ
What size do you wear?
(วอท ไซซ ดู ยู แวร์)
คุณใส่เบอร์อะไร
What color do you prefer?
(วอท คัลเลอะ ดู ยู พรีเฟอะ)
คุณชอบสีอะไร
What kind of… would you like?
(วอท ไคนด ออฟ… วูด ยู ไลค)
คุณชอบ…แบบไหนค่ะ
What kind of… would you care for?
(วอท ไคนด ออฟ… วูด ยู แคร์ ฟอร์)
คุณสนใจ…แบบไหนค่ะ
What would you like to have?
(วอท วูด ยู ไลคฺ ทู แฮฟว)
คุณต้องการจะซื้ออะไรครับ
What brand do you have in mind?
(วอท แบรนดฺ ดู ยู แฮฟว อิน ไมน์ดฺ)
คุณอยากได้ยี่ห้ออะไร
ขอบคุณข้อมูลจาก edufirstschool.com
ซีอีโอ ‘ยูทูบ’ ลาออกจากตำแหน่ง
ซูซาน โวจิสกี้ (Susan Wojcicki) ซีอีโอของบริษัทยูทูบ (YouTube) และเป็นหนึ่งในลูกจ้างคนเเรก ๆ ของกูเกิล ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันพฤหัสบดี
โวจิสกี้ วัย 54 ปีสร้างธุรกิจของยูทูบเมื่อเกือบ 25 ปีก่อนจากโรงรถของเธอ
รอยเตอร์รายงานว่าผู้บริหารที่จะรับหน้าที่ต่อจาก โวจิสกี้ คือ นีล โมฮาน (Neal Mohan) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่ช่วยงานใกล้ชิดกับโวจิสกี้
โมฮานยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันคอนเทนต์ YouTube Shorts และคอนเทนต์เพลง รวมทั้งการเสนอเนื้อหาเพื่อการเพิ่มยอดผู้จ่ายค่าสมาชิก
การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อรายได้โฆษณาของยูทูบลดลงสองไตรมาสติดต่อกันท่ามกลางการเเข่งขันจากคลิปสั้นของ TikTok และ Reels ของเฟซบุ๊ก รวมทั้งธุรกิจสตรีมมิงของ Netflix
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
About Home กับการสร้างสรรค์ศิลปะผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่งานสถาปนิก’66
เฟอร์นิเจอร์หนึ่งชิ้นเปรียบเสมือนงานศิลปะเป็นงานที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันในการประดิษฐ์เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยประสบการณ์กว่า 15 ปีที่ About Home ได้ผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์งานฝีมือที่เน้นความประณีตและใส่ใจความรู้สึกของผู้ใช้งาน นอกจากการใช้งานที่คงทนและการออกแบบที่เรียบหรูดูทันสมัยแล้ว อะไรคือจุดเด่นของ About Home มาฟังคำตอบจากคุณธฤต ไทยานนท์ Design Director บริษัท เอ็ม.โอ.เดคแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด พร้อมกับเปิดมุมมองการดีไซน์และเป้าหมายในอนาคตของแบรนด์ก่อนที่จะไปพบกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ดีไซน์ไม่ซ้ำใครในงานสถาปนิก’66
เฟอร์นิเจอร์ที่แสดงถึงเสน่ห์ของงานคราฟท์
เริ่มจากการดีไซน์ที่ทางแบรนด์นั้นเป็นคนออกแบบเอง โดยเน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้หรือหิน ในการผลิตยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม เพราะเน้นใช้ทักษะของช่างที่มีความชำนาญ เฟอร์นิเจอร์ของAbout Home จึงแสดงเสน่ห์ของงานคราฟท์และสร้างความรู้สึกที่แตกต่างจากการใช้เครื่องจักรในการผลิต
“ในกระบวนการผลิตเรามักจะใส่ใจในความประณีตและการลงดีเทลของงานแต่ละชิ้น เพราะเราให้ความสำคัญกับศิลปะในการผลิตและเน้นไปที่ความรู้สึกในการใช้งาน” คุณธฤตกล่าว
ความสมดุลของการออกแบบกับความยั่งยืน
แม้ว่าการดีไซน์ของ About Home จะใช้วัสดุจากธรรมชาติแต่ก็เล็งเห็นถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมจึงมีแนวคิดในการนำเศษไม้เหลือใช้จากการผลิตกลับมาแปรรูปให้เป็นของตกแต่งได้ เช่น โคมไฟ ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์และอื่นๆ อีกมากมาย ลดปัญหาการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองเพื่อคงความสมดุลระหว่างการออกแบบกับความยั่งยืน
“เราพยายามคิดต่อว่าเศษไม้เหล่าสามารถนำกลับมาใช้งานต่อได้อย่างไรบ้างเพื่อที่จะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและต้องคำนึงถึงการใช้งานในระยะยาวด้วย” คุณธฤตกล่าว
คุณธฤตมองว่าในอนาคตนั้นหากมีโอกาสเขาอยากที่จะร่วมงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกับกับกลุ่มสาขาวิชาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะสถาปนิกและดีไซเนอร์ เนื่องจากสถาปนิกนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญ ด้วยความที่สถาปนิกสามารถเข้าใจในตัวสินค้ามากกว่าและสามารถแนะนำลูกค้าได้ว่าสินค้าตัวไหนมีฟังก์ชันเหมาะกับความต้องการ ซึ่งทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น การได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนในวิชาชีพสถาปนิกจะทำให้สามารถหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจากจุดเดิมได้
“เราสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของงานฝีมือที่มีคุณภาพโดยยังคงไว้ซึ่งฟังก์ชันการทำงานที่ยอดเยี่ยม”
ร่วมสัมผัสเสน่ห์ของงานคราฟท์และพบกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ดีไซน์เฉพาะตัวได้ที่งานสถาปนิก’66
เชิญพบกับเฟอร์นิเจอร์งานฝีมือที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดพร้อมการออกแบบที่เข้ากับตัวคุณจาก About Homeได้ที่บูธหมายเลข F201 ในงานสถาปนิก’66 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 25 – 30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
สำหรับผู้สนใจจองพื้นที่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://architectexpo.com/2023/en/about-the-expo/#space-reservation หรือ โทร. 02-717-2477 อีเมล info@TTFintl.com
ขอบคุณข้อมูลจาก buildernews.in.th
ราคาทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 16/02/2566
ชนิดทอง | ราคารับซื้อ กรัมละ | ราคารับซื้อ บาทละ | ราคาขาย บาทละ |
---|---|---|---|
ทองคำแท่ง 96.5% | n/a | 29,800.00 | 29,900.00 |
ทองรูปพรรณ 96.5% | 1,930.00 | 29,258.80 | 30,400.00 |
ทองรูปพรรณ 90% | 1,737.00 | 26,332.92 | n/a |
ทองรูปพรรณ 80% | 1,544.00 | 23,407.04 | n/a |
ทองรูปพรรณ 50% | 869.00 | 13,174.04 | n/a |
ทองรูปพรรณ 40% | 676.00 | 10,248.16 | n/a |
ทองรูปพรรณ 99.99% | 2,000.00 | 30,320.00 | n/a |
ราคาน้ำมันประจำวัน ราคาน้ำมันประจำวันที่ 16/02/2566
ปตท. | บางจาก | เชลล์ | เอสโซ่ | คาลเท็กซ์ | ไออาร์พีซี | พีที | ซัสโก้ | เพียว | พรุ่งนี้ | |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
แก๊สโซฮอล์ 95 | 36.25 | 36.25 | 37.24 | 36.25 | 36.25 | 36.25 | 36.25 | 36.25 | 36.25 | 36.25 |
แก๊สโซฮอล์ 91 | 35.98 | 35.98 | 36.94 | 35.98 | 35.98 | 35.98 | 35.98 | 35.98 | 35.98 | 35.98 |
แก๊สโซฮอล์ E20 | 33.94 | 33.94 | 34.64 | 33.94 | 33.94 | – | 33.94 | 33.94 | 33.94 | 33.94 |
แก๊สโซฮอล์ E85 | 34.39 | 34.39 | – | – | – | – | – | – | – | 34.39 |
เบนซิน 95 | 44.06 | – | – | – | 44.11 | – | 44.56 | 44.21 | – | 44.06 |
ดีเซล B7 | 34.44 | 34.44 | 34.74 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 |
ดีเซล | 34.44 | 34.44 | 34.74 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 | 34.44 |
ดีเซล B20 | 34.44 | 34.44 | 34.74 | – | 34.44 | – | 34.44 | – | – | 34.44 |
ดีเซลพรีเมี่ยม | 43.06 | 43.16 | 44.84 | 44.26 | 44.26 | – | – | – | – | 43.06 |
แก๊ส NGV | 17.59 | 17.59 | – | – | – | – | – | – | – | 17.59 |