สาระน่ารู้ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2565

“SYS” พระเอกงานโครงสร้างหลังคา “ศูนย์สิริกิติ์” โฉมใหม่

“SYS” เหล็กไทยหัวใจกรีน พระเอกงานโครงสร้างหลังคา “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่

เปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว กับโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ ยิ่งใหญ่อลังการกว่าเดิม พร้อมรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ ซึ่งนอกจากเบื้องหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ แล้ว เบื้องหลังของความสำเร็จที่ทำให้โครงการระดับประเทศแห่งนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามโจทย์ของทางเจ้าของโครงการ และสามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดนั้น มาจากความร่วมมือของบริษัทชั้นนำของประเทศ ทั้งบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการ บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด ในฐานะผู้ออกแบบ บริษัท นันทวัน จำกัด หรือ Thai Obayashi ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง และ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ในฐานะผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง คุณภาพสูงของไทย ที่ช่วยให้โครงการสำเร็จได้ตามกำหนดเวลา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ มีพื้นที่ของอาคารที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า โดยโถงกลางของอาคารมีดีไซน์ทันสมัยไร้เสากลาง ซึ่งไม่เพียงชูความสวยงามให้โดดเด่น แต่ยังสามารถปรับใช้พื้นที่ให้รองรับการจัดงานได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้น โครงสร้างหลังคาจึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่มีความแข็งแกร่งทนทานแต่ต้องออกแบบพิเศษให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้ความสูงของอาคารเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย นั่นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ในฐานะผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง ต้องร่วมกันหาโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับการก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามโจทย์ และทำให้โครงการแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด

นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการ กล่าวว่า “โจทย์ของการปรับโฉมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์คือ การเพิ่มศักยภาพของศูนย์ฯ ให้สามารถรองรับการจัดงานประชุมและอีเว้นท์ระดับเวิลด์คลาสได้ทุกรูปแบบ ด้วยพื้นที่เกือบ 300,000 ตร.ม. มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ซึ่งเราต้องการให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของศูนย์การประชุมในประเทศไทยต่อไป อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการพัฒนาโครงการ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การรองรับการเป็นอาคารสีเขียว”

จากโจทย์ที่กำหนดมา ทำให้ผู้ออกแบบอย่าง บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะนอกจากขนาดของตัวอาคารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงข้อกำหนดทางกฎหมายด้วย “โจทย์ที่ได้รับมา ค่อนข้าง Challenge มาก ด้วยตัวอาคารที่จะเป็น landmark ในอนาคต แม้จะไม่ใช่อาคารสูง แต่เป็นอาคารที่มีขนาดกว้าง โล่ง และต้องออกแบบโถงกลางให้ปราศจากเสา เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในตัวอาคารได้หลากหลายรูปแบบ ผนวกกับข้อกำหนดทางกฎหมายที่ห้ามอาคารสูงเกิน 27 เมตรแล้ว ทำให้เราต้องออกแบบให้โครงหลังคาเหล็กนี้มีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก แต่สามารถทำช่วงเสาได้กว้างถึง 110 เมตร ด้วยการใช้เหล็กกำลังสูงอย่างเหล็ก SM520” นายวานิช นพนิราพาธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว

ด้านนายวิวัฒน์ ลิมานนท์ดำรงค์ ผู้จัดการโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริษัท นันทวัน จำกัด หรือ Thai Obayashi กล่าวว่า “หลังจากบริษัทรับแบบการก่อสร้างโครงการมาแล้ว ได้ทำการศึกษาและพบว่าการก่อสร้าง ด้วยวิธีการแบบปกติ จะใช้เวลานานประมาณ 36 เดือน หรือ 3 ปี แต่เจ้าของโครงการต้องการให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเวลาดังกล่าว เนื่องจากมีแผนที่จะเปิดให้บริการทันรองรับการประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ทำให้ทีมก่อสร้างต้องหาวิธีที่จะทำให้งานเสร็จสมบูรณ์เร็วกว่าการก่อสร้างตามปกติ จึงเลือกใช้การก่อสร้างแบบ Top down ซึ่งเป็นการทำงานฐานราก ควบคู่ไปกับงานโครงสร้างหลังคาด้านบน โดยใช้เทคนิคการสไลด์ Super Truss ซึ่งโครงเหล็ก Super Truss นี้ เราได้ทาง ST Frame ประกอบชิ้นส่วนมาจากโรงงาน และทำ Mock up ความยาว 110 เมตร ความสูง 7 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ลักษณะเหมือนสะพานข้ามแม่น้ำแคว 1 ตัว แต่ทั้งหมดที่ใช้ในงานศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะเท่ากับมีถึง 22 ตัว ซึ่งค่อนข้างเป็นงานที่ท้าทายในการก่อสร้างโครงหลังคาที่ใหญ่ขนาดนี้” “สิ่งสำคัญที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี คือทีมเวิร์คที่ดีของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับ SYS ที่สามารถผลิตเหล็กเอชบีมที่มีคุณภาพได้ตามขนาด และความยาวที่ต้องการใช้สำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ”

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์ มานานกว่า 25 ปี กล่าวว่า “ความท้าทายของโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นี้ คือการพัฒนาเหล็กเอชบีมขนาดใหญ่พิเศษ และเป็นเหล็กกำลังสูง หรือ เกรด SM520 เพื่อใช้เป็นเหล็กโครงสร้างหลังคาของโครงการนี้โดยเฉพาะ อีกทั้ง SYS ยังผลิตเหล็กความยาวพิเศษ หรือเหล็กที่มีความยาวตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งจะมีทั้งความยาวที่มากกว่าหรือน้อยกว่าความยาวปกติ หากเป็นเหล็กที่สั้นกว่าความยาวของเหล็กปกติทั่วไป ก็จะทำให้ไม่ต้องเสียเศษ เป็นการประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น

SYS เป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทย ดังนั้นการส่งเหล็กเข้าไปยังไซต์งานก่อสร้าง จึงสามารถทำได้ตามตารางเวลา ไม่เกิดความล่าช้า อีกทั้งยังได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จนถึงการก่อสร้าง จึงทำให้โครงการระดับชาติแห่งนี้ สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสำเร็จภายในเวลาที่กำหนด ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย การได้เป็นส่วนหนึ่งของงานระดับชาติครั้งนี้ SYS มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเหล็กของ SYS นอกจากจะตอบโจทย์เรื่องของขนาดและความยาวพิเศษ รวมถึงความรวดเร็วในการก่อสร้างแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะ SYS ใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และเหล็กเอชบีมของ SYS ก็สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือ Recycle ได้อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอรตี้ ที่ต้องการให้อาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แห่งนี้เป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

สำหรับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับงานประชุมและงานแสดงสินค้าต่างๆ ของประเทศไทย และในเดือนพฤศจิกายน 2565 ศูนย์ประชุมระดับชาติแห่งนี้จะถูกใช้เป็นพื้นที่จัดงานใหญ่ระดับโลกอย่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

รับชม VDO Clip เบื้องหลังความยิ่งใหญ่อลังการของศูนย์สิริกิติ์โฉมใหม่ ด้วยโครงสร้างเหล็ก H-BEAM จาก SYS คลิก: https://youtu.be/lU7saQEOtio

#SYS#เหล็กดีที่คุณไว้ใจ#เหล็กไทยหัวใจกรีน#เหล็กเอชบีมไวด์แฟลงก์#ศูนย์สิริกิติ์#QSNCC

ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com


พิมพ์เขียวผังน้ำทั่วประเทศ อสังหาขานรับรื้อที่ดินแก้น้ำท่วม

ผังเมืองถึงจุดเปลี่ยน ภัยธรรมชาติรุนแรงเกินคาด กรมโยธาฯ – มหาดไทยเร่งปรับผังรวมทั่วประเทศ 878 อำเภอ ลงลึกแก้น้ำท่วมระยะยาว “เพิ่มผังน้ำ” จัดโซนใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เริ่มที่เชียงใหม่ เชียงราย สุรินทร์ อุดรฯ ขอนแก่น สิงห์บุรี ราชบุรี ภูเก็ต เบตง ปัตตานี และ 3 จังหวัด EEC ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี รอประกาศใช้ผังรุ่นใหม่เตรียมเสนอครม.ภายในปี 2566 ไทม์ไลน์ช้า-เร็ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหลังประยุทธ์กลับมา นายกอสังหาฯระยองบอกไอเดียดี

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมกำลังปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 จะเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก เนื่องจากภัยพิบัติจากธรรมชาติรุนแรงเกินคาด ผังใหม่ที่ปรับจะมีการเพิ่มผังน้ำเข้าไป เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว รวมทั้งสิ้น 878 อำเภอทั่วประเทศ

“ผังน้ำจะเป็นการจัดโซนพื้นที่รองรับและแนวป้องกันแบบเอ็กซ์ตรีม ซึ่งกรมจะทยอยทำปีละ 40 ผัง จะแล้วเสร็จหมดในปี 2573”

โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคเหนือเน้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน ภาคอีสานจะมีสุรินทร์ อุดรธานี ภาคกลางจะมีสิงห์บุรี ราชบุรี ภาคใต้มีภูเก็ต เบตง ปัตตานี และ 3 จังหวัดในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

ผังเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้ได้เริ่มสตาร์ตแล้วในปีนี้ คาดว่าจะเสร็จเร็ว เพราะเป็นโครงการเร่งด่วน คาดว่ากรมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในปี 2566 ส่วนไทม์ไลน์จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง

“ตอนนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังติดประกาศรายละเอียดและสาระสำคัญของผังใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ติดประกาศ”

จัดสรร-คนซื้อบ้านต้องระวัง

แหล่งข่าวกล่าวเสริมว่า ข้อดีของการเพิ่มผังน้ำในผังเมืองใหม่ทั่วประเทศจะช่วยให้พื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นแนวตั้งรับและป้องกันปัญหาในอนาคต จึงทำให้กรมต้องจัดวางพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม เปรียบแล้วเหมือนการขยายคูคลอง ลำน้ำลุ่มน้ำต่าง ๆ ให้กว้างขึ้น เพื่อให้เป็นทางน้ำไหลไร้สิ่งกีดขวาง

“แต่จะไม่ใช่การขุดคลองหรือขุดแม่น้ำใหญ่ยักษ์เท่าเจ้าพระยา กรมจะทำทุก ๆ จุด เหมือนการขยายถนนแบบกรมทางหลวงชนบท”

ดังนั้น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะต้องศึกษาในเรื่องนี้ สำหรับการวางแผนด้านการพัฒนาจัดสรรที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างโครงการใหม่ ๆ รวมถึงประชาชนผู้ที่คิดจะซื้อบ้านต้องตรวจสอบจุดที่ตั้งด้วยว่า บ้านสร้างใหม่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำหรือไม่

กฎกระทรวง “ผังน้ำ” ลิดรอนสิทธิ

นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมต้องนำแผนงานโครงการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่วางไว้ในงบประมาณปี 2566 มาทบทวน และปรับแผนกันใหม่ในการจัดทำงบประมาณปี 2567 เนื่องจากปีนี้หลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก เนื่องจากปริมาณฝนตกลงมามากกว่าปกติ บางพื้นที่ 200 มิลลิเมตร/วัน

“แม้โอกาสเกิดฝนตกมากอย่างนี้จะเกิดครั้งหนึ่งในรอบหลาย ๆ ปี รวมถึงต้องบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน โดยเฉพาะสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ซึ่งมีบทบาทหลักในการพิจารณาโครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งหมด”

กรมโยธาฯ จะได้งบประมาณในการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท นำไปใช้ได้ 19-20 ชุมชน รวม 19-20 จังหวัด บางจังหวัดเป็นโครงการขนาดใหญ่ แบ่งเป็นเฟส ๆ ให้งบประมาณกระจายออกไป ตอนนี้อยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณปี 2567 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565 หรือเดือนมกราคม 2566 ซึ่งกรมต้องหารือกับ สนทช.พื้นที่ไหนต้องปรับแผน

“ปกติกรมรับผิดชอบป้องกันน้ำท่วมในชุมชนเมืองไม่ให้ท่วมขัง โดยใช้งบฯสร้างพนังกั้นน้ำ ทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอบนอกเมืองเป็นหน้าที่ของ สนทช.และกรมชลประทาน”

นอกจากนี้ ทางกรมโยธาธิการอยู่ระหว่างการจัดทำ “กฎกระทรวง” เรื่องผังน้ำหรือผังระบายน้ำจังหวัด ซึ่งกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ว่า “จะต้องมีผังน้ำ หรือผังระบายน้ำจังหวัด” หมายความว่า ถ้าน้ำท่วมเข้ามาในที่ชุมชนจะมีแก้มลิงตรงไหน จะมีการปรับปรุงทางระบายน้ำตรงไหน หากน้ำท่วมในที่ชุมชนจะมีการป้องกันอย่างไร กำลังทำร่างผังเมืองกันอยู่ครอบคลุมทุก 800 กว่าอำเภอทั่วประเทศไทย

โดยผังระบายน้ำเป็นผังที่เพิ่มขึ้นมาจากกฎหมาย พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ฉบับเดิม ซึ่งเมื่อก่อนในผังเมืองจะมีผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังการคมนาคมขนส่ง แต่ปัจจุบันมีเพิ่มผังเรื่องการระบายน้ำ ผังพื้นที่เสี่ยงภัย ตรงไหนเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังต้องออกกฎหมาย เพื่อให้ระบายน้ำออก

“เราต้องดูในเชิงวิชาการ ถ้าจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะทุกวันนี้หลายจังหวัดเมืองขยายออกไป การไปปลูกสิ่งก่อสร้างเป็นการกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำลดลง ทำให้น้ำท่วมขังได้ การทำผังระบายน้ำเป็นการแก้ปัญหาเรื่องทางกายภาพ ทางด้านผังเมือง ซึ่งได้มองมิติการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงจะกำหนดห้ามถมดิน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเมือง”

“เรามองในภาพใหญ่ อันนี้เป็นความยากของงานผังเมืองที่จะให้ทุกฝ่ายยอมรับ เพราะมีการลิดรอนสิทธิ ว่าไปกำหนดพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แก้มลิง ตรงนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้เจ้าของที่ดิน ไปใช้ถมที่ดินของตัวเองทำโรงงานไม่ได้ เรามองมิติทางด้านวิชาการ ทางกายภาพของพื้นที่เป็นหลัก หรือจะถมดินสร้างบ้าน ต้องยกระดับบ้านให้มีใต้ถุนสูง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังตรงบริเวณนั้น ซึ่งตรงนี้มีการกำหนดไว้ในผังเมือง”

ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำผังเมืองมีอยู่ 8 ขั้นตอน เช่น เรื่องการสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังรวมจังหวัด การติดประกาศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการรับคำร้องต่าง ๆ ว่ามีการคัดค้านอย่างไร แล้วจึงนำมาทำเป็นผังเมืองของชุมชน ของจังหวัดนั้น ตอนนี้อยู่ในกระบวนการกำลังสำรวจพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะแล้วเสร็จทั้งกระบวนการออกมาเป็นกฎกระทรวงประมาณ 2 ปี

นายกอสังหาฯระยองบอกไอเดียดี

นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กฎระเบียบการแก้ไขน้ำท่วมในกรณีการสร้างคอนโดฯ โรงแรม หมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้ยกระดับพื้นที่อาคารสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ มองว่าเป็นไอเดียที่ดี อาจจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ไขเรื่องน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ ในความเป็นจริงต้องออกกฎหมายเพิ่มการระบายน้ำ

แนะวาระแห่งชาติน้ำท่วม

นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุดประสงค์ผังเมืองบังคับการก่อสร้างอาคารต้องไม่ขวางทางน้ำไหล และต้องให้น้ำระบายผ่านได้นั้น เพื่อต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ประเด็นนี้มีข้อเสนอแนะว่า เห็นด้วยหากผังเมืองจะควบคุมและป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายผังเมืองเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเดียว ในภาพใหญ่มีประเด็นที่ต้องทำร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าไทยเป็นสังคมกสิกรรมในอดีตกาล การเลือกที่ตั้งเมืองจึงเน้นที่ราบลุ่มต่ำ เพราะน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปี 2504 รัฐหันมาลงทุนสร้างอินฟราสตรักเจอร์ประเภทถนน ทางรถไฟ และสนามบินเป็นหลัก ผลลัพธ์คือเมกะโปรเจ็กต์รัฐโดยหน่วยงานรัฐกลายเป็นต้นเหตุสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำไหล

“ตัวอย่างชัดเจนที่สุดและเป็นกรณีศึกษาในวงการผังเมือง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ 2 หมื่นไร่ สร้างขวางทางน้ำไหลที่จะระบายลงอ่าวไทย เวลาหน้าน้ำท่วมต้องหาทางระบายอ้อมออกคลองด้านข้าง”

ดังนั้น ข้อเสนอหากต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน คือ 1.จะต้องควบคุมกำกับดูแลการลงทุนโครงการรัฐโดยหน่วยงานรัฐ ต้องออกแบบและก่อสร้างอย่างไรไม่ให้ขวางทางน้ำไหล 2.เสนอให้ยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะคงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายผังเมืองเพียงอย่างเดียว

เหตุผลเพราะกฎหมายผังเมืองจะเป็นแม่บทในการพัฒนาเมือง สิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ จำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้น

3.ผังเมืองขวางทางน้ำไหลคือผังเมืองสีเขียวลาย หากจะควบคุมใช้กับทั่วประเทศก็ควรจำกัดการควบคุมสำหรับผังเมืองสีเขียวลายเท่านั้น ไม่ควรควบคุมโดยบังคับใช้กับสีผังเมืองทุกประเภท เช่น ที่อยู่อาศัยมีสีผังเมืองสีเหลือง สีส้ม สีน้ำตาล ควบคุมการก่อสร้างหนาแน่นน้อยไปหามาก, สีแดงพื้นที่พาณิชยกรรม, สีม่วงพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น

เหตุผลสำคัญเพราะหากไม่ใช่พื้นที่โซนน้ำหลาก แต่ไปควบคุมเป็นพื้นที่เทียบเท่าสีเขียวลาย ถือเป็นการควบคุมเกินจำเป็น เพราะจะทำให้เจ้าของที่ดินมีภาระในการปฏิบัติตามผังเมือง หรือมีต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสูงเกินจำเป็น ไปจนถึงบางกรณีอาจจะไม่สามารถก่อสร้างได้เลย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงข้อเสนอคือรัฐควรเวนคืนที่ดินเอกชนไปเลย

“เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ถ้าจะบังคับทั่วประเทศ ขอท้วงติงไว้ก่อนว่าการบังคับโครงการก่อสร้างห้ามขวางทางน้ำไหล ส่วนราชการต้องทำก่อน โดยเฉพาะสาธารณูปโภคของรัฐ การตัดถนน วางรางรถไฟไม่ให้ขวางทางเดินของน้ำ และถ้าขวางทางเดินของน้ำต้องมีจุดให้น้ำลอด จุดที่เป็นคอขวด เพราะราชการเป็นคนทำสาธารณูปโภคหลัก ๆ ของประเทศ ส่วนประชาชนเป็นเรื่องที่ตามมา” นายอิสระกล่าว

สร้างบ้านอิง กม.คุมอาคาร

ด้านนายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจก่อสร้างบ้านบนที่ดินส่วนบุคคล เปิดเผยเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในภาพกว้าง ๆ หากมีการบังคับผังเมืองไม่ให้สร้างอาคารขวางทางน้ำไหลทั่วประเทศ คาดว่าน่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน สิ่งที่เป็นห่วงคือกฎหมายผังเมืองต้องไม่บังคับเกินจำเป็น เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีปัญหาน้ำท่วมเหมือนกันหมด

“บ้านเดี่ยวหรือบ้านสร้างเอง เป็นการสร้างทีละหลังบนที่ดินตัวเอง ต้องบอกว่าตอนนี้กฎหมายผังเมืองยังไม่เคยมีข้อกำหนดให้ปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ขวางทางน้ำไหล ในหลักการผมเห็นด้วยถ้าหากรัฐมีการกำหนดแนวทางให้ปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ต้องคำนึงผลกระทบไม่ไปสร้างภาระให้คนมีที่ดินในมือ แต่ไม่สามารถปลูกบ้านได้ ภาครัฐจะมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร”

นายวรวุฒิกล่าวว่า ขั้นตอนธุรกิจรับสร้างบ้าน ตามปกติจะดูให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายก่อสร้างเป็นหลัก เช่น ที่ดินโซนนี้ผังเมืองสีอะไร ปลูกสร้างบ้านได้กี่ชั้น การถมดินต้องทำอย่างไร กรณีอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจะมีการออกแบบป้องกันไม่ให้น้ำท่วมภายนอกรั้วบ้านเข้ามาในบ้าน และออกแบบให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายมากที่สุด

“ข้อเท็จจริงการรับสร้างบ้านบนผังเมืองฟลัดเวย์มีไม่เยอะอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะสร้างบนทำเลเมืองชั้นใน หากผังเมืองมีข้อบังคับใหม่ ๆ บริษัทรับสร้างบ้านต้องตรวจสอบมากขึ้น อาจมีผลทำให้บ้านสร้างเองหดหายในโซนสีเขียวลายพอสมควร ขอเวลาศึกษาข้อมูลจริงจังก่อน”

นวัตกรรม “บ้านหนีน้ำ”

สำหรับหลักปฏิบัติพื้นฐานของการสร้างบ้านเอง 1.การถมดินต้องคำนึงระดับน้ำท่วมสูงสุดในอดีตเป็นตัวตั้ง แล้วถมดินสูงกว่า 30-40 ซม.

2.บ้านป้องกันน้ำท่วมจะมีดีไซน์เป็นบ้านหนีน้ำ ระดับถมดินเมื่อถมสูงขึ้นเพื่อยกบ้านสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสร้างบ้านเพิ่มเป็นเงาตามตัว ทั้งโครงสร้างเสา-คาน-ตอม่อที่ต้องยกสูงขึ้น มีกำแพงกันดินไหล ฯลฯ

3.ปลั๊กไฟเคยติดตั้งสูงจากพื้น 30 ซม. อาจขยับสูงขึ้นเป็น 50 ซม. และมีการแยกตู้ไฟอยู่ชั้น 1-ชั้น 2 หากน้ำท่วมถึงชั้น 1 ก็ยังสามารถใช้ไฟบนชั้น 2 ได้ เป็นต้น

“การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัด เป็นการก่อสร้างที่ทำได้เฉพาะในเขตรั้วบ้าน แต่ภาพรวมของพื้นที่เราทำอะไรไม่ได้ ถ้ามีน้ำท่วมน้ำขังก็ต้องท่วมขังอยู่ภายนอกรั้ว เราทำได้แค่ในเขตรั้วบ้านของเรา”

จำกัดโซนผังน้ำสีเขียวลาย

นายวรวุฒิประเมินผลกระทบกรณีผังเมืองเพิ่มข้อบังคับไม่ให้ก่อสร้างขวางทางน้ำไหลว่า ถ้ากฎหมายบังคับใช้ทุกจังหวัด วิธีการปรับตัวของธุรกิจรับสร้างบ้านก็ต้องทำเหมือนกับการสร้างบ้านในกรุงเทพฯ เช่น โซนห้ามก่อสร้างมีข้อยกเว้นอะไรบ้างหรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงแบบบ้านในจังหวัดโซนน้ำท่วมบ่อยจะยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างเป็นโถงโล่ง ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

ในแง่ต้นทุนการสร้างบ้านโซนน้ำไม่ท่วมกับโซนน้ำท่วม คาดว่ามีต้นทุนสูงขึ้นไม่เกิน 5% เพราะต้องออกแบบและสร้างเป็นบ้านหนีน้ำ ต้องยกบ้านสูงขึ้น ยกใต้ถุนให้น้ำลอดได้ โครงสร้างและการใช้สอยวัสดุต้องปรับดีไซน์เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไปขวางทางน้ำจนถึงขั้นห้ามก่อสร้างเลย การทำงานก็ยากขึ้น เจ้าของที่ดินต้องรับสภาพไป

ข้อกังวลคือผังน้ำหลากคือสีเขียวลาย แต่ผังเมืองใหม่หากบังคับใช้กับทุกสีทุกประเภทจะกลายเป็นผลกระทบวงกว้าง เท่ากับเพิ่มคอสต์การก่อสร้างให้กับประชาชนที่จะปลูกสร้างบ้าน ในขณะที่สถานการณ์โควิดและสงครามมีผลกระทบต่อกำลังซื้อและค่าครองชีพของประชาชนหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ราคาวัสดุก็ยังมีความผันผวน ดังนั้น การจะบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพิ่มเติมรัฐจะต้องไม่สร้างภาระเกินจำเป็น

เคล็ดลับแก้น้ำรอระบาย

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ LPN กล่าวว่า กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง มีปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและรอระบาย เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบโครงการทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม โดยคำนึงถึงการใช้น้ำที่ใช้ประโยชน์ในโครงการ การจัดการน้ำเสีย และน้ำฝน ก่อนระบายไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ

ในทางกฎหมายควบคุมอาคารมีข้อปฏิบัติพื้นฐานเกี่ยวกับการระบายน้ำฝนโดยเฉพาะ เพื่อให้ปริมาณน้ำฝนที่ปล่อยออกจากโครงการมีปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง หรือระบบระบายน้ำสาธารณะ

จากการศึกษาของทีมวิจัย LPN Wisdom พบว่า น้ำฝนมีเส้นทางการไหลหลัก ๆ 2 เส้นทาง คือ ตกบนพื้นดินหรือพื้นที่สีเขียว น้ำฝนสามารถไหลซึมลงไปสู่ชั้นดินได้ แต่น้ำฝนที่ตกบนพื้นที่ดาดแข็งหรือพื้นที่ไม่สามารถไหลซึมได้ เช่น พื้นถนน ดาดฟ้า คอนกรีต น้ำฝนจะไหลลงสู่ระบบระบายน้ำในโครงการก่อนออกไปท่อระบายน้ำสาธารณะ

ดังนั้น มีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ 1.ลงทุนพื้นที่สีเขียวในโครงการ ยิ่งเยอะยิ่งดี สามารถออกแบบตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียว เช่น มาตรฐาน LEED กำหนดต้องมีพื้นที่ open space มากกว่า 30% ของพื้นที่โครงการ โดยพื้นที่เปิดโล่งจะต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 25%

2.พื้นถนนและทางเท้า ใช้วัสดุปูพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้ ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมวัสดุปูพื้นผิวถนน หรือพื้นที่ดาดแข็งให้มีลักษณะเป็นรูพรุน และมีคุณสมบัติให้น้ำซึมผ่านได้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นดิน ลดปริมาณน้ำในระบบระบายน้ำได้

3.ออกแบบพื้นที่สีเขียวในโครงการอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure)

“เทคโนโลยีการออกแบบและนวัตกรรมใหม่ ๆ ของวัสดุก่อสร้าง เป็นตัวช่วยทำให้ลดปริมาณน้ำท่วมขังและรอระบายในโครงการ และในพื้นที่สาธารณะโดยรอบโครงการ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและรอระบายหน้าฝน ขณะเดียวกันยังเป็นการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net


ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 37.30 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเริ่มแกว่ง Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาดีกว่าคาด 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 37.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลในฝั่งตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบปรับสถานะถือครองก่อนที่จะรับรู้ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึงการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในวันศุกร์นี้

อนึ่ง ในช่วงนี้แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทอาจเริ่มลดลงได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น หลังจากหุ้นไทยได้ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา จน Forward P/E ลดลงเหลือ 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ทำให้หุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น ในแง่ของระดับราคาและแนวโน้มผลประกอบการที่อาจดีขึ้นตามโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เราเริ่มเห็นแรงซื้อบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะในบอนด์ระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวได้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ใหม่ (LB336A) ที่ความต้องการยังอยู่ในระดับสูง (Bid Coverage Ratio 2.08 เท่า) ก็สะท้อนภาพการรอจังหวะยีลด์ปรับตัวขึ้นเพื่อเข้าซื้อของผู้เล่นในตลาดได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.20-37.40 บาท/ดอลลาร์

ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนกันยายน ที่ระดับ 208,000 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกันยายน ที่ระดับ 56.7 จุด สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ ได้กลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์อย่างรวดเร็วของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลงไม่น้อยกว่า -1.5% ในช่วงแรกของการซื้อ-ขาย ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +4.0%) หลังกลุ่ม OPEC+ มีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรล หรือ คิดเป็น 2% ของอุปทานน้ำมันดิบทั้งหมด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการกลับเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ ในจังหวะย่อตัว ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -1.02% กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป อาทิ ดัชนี PMI ภาคผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในเดือนกันยายนที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง (BP +1.3%, TotalEnergies +1.1%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ กอปรกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง สู่ระดับ 3.75% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้แย่ลงชัดเจน ทั้งนี้ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวที่ผ่านมา ทำให้บอนด์ระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้นและคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยเพิ่มสถานะการถือครองบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงมากขึ้นและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 111.2 จุด หนุนโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนต่อ อนึ่ง การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงต่อเนื่องจากแรงขายทำกำไร ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1,726 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราประเมินว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากข้อมูลที่จะมีการรายงานในวันศุกร์นี้ก่อน

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปยังคงไม่สดใสนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยูโรโซน ในเดือนสิงหาคม อาจหดตัว -0.4% จากเดือนก่อนหน้า กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลให้ค่าครองชีพเร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) เพื่อประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยหากยอดดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับ 2 แสนราย ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จะยังคงสะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ นั้นยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งอาจทำให้เฟดยังไม่สามารถเปลี่ยนใจมาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ในเร็วนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com


สกอร์ผิดคาด! คอมเมนต์ต่างชาติถึง “วอลเลย์บอลหญิงไทย” หลังเกมพ่าย เยอรมนี

ผ่านไปแล้ว 2 นัดสำหรับทีมลูกยางสาวไทย ในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม 16 ทีมสุดท้าย ที่เนเธอร์แลนด์กับโปแลนด์เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

โดยผลงานในกลุ่มเอฟ ทีมนักตบสาวไทยลงสนามนัดล่าสุดเมื่อวานที่ผ่านมา ก่อนจะพ่ายทีมชาติเยอรมนีไป 1-3 เซต ทำให้ปราชัยรวดทั้ง 2 นัด หลังจากเมื่อวันก่อนแพ้ทีมชาติแคนาดา 1-3 เซตเช่นกัน

วันนี้เรามีคอมเมนต์ส่วนหนึ่งจากยูทูบ Volleyball World และ Power Volleyball ที่แฟนกีฬาวอลเลย์บอลต่างชาติพูดถึงเกมที่สาวไทยพ่ายสาวเมืองเบียร์ไปอย่างสนุก ลองไปชมกันว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง

——————————————

Lee Faier
สู้ต่อไปนะทีมไทย ยังไงก็เอาใจช่วยตลอด

Kmz ty
เราไม่ลืมการทำงานหนักและความสุขที่พวกคุณมอบให้แฟนวอลเลย์บอลทั่วโลกซึ่งล้วนรักพวกคุณแหละ แต่วันนี้ทีมไทยเล่นไม่ดีเลย แต่อยากให้รู้นะว่าฉันเป็นกำลังใจให้เสมอ พวกคุณยังสุดยอด เชิดหน้าขึ้นแล้วลุยต่อนะ

DILSHAD
ไม่เข้าใจเลยจริงๆ ตุรกีตบเยอรมนีง่ายๆ 3-0, เยอรมนีอัดไทย 3-1 แต่ไทยกลับชนะตุรกี 3-2 มันคืออะไรครับเนี่ย?

Uncle Charlie
เชียร์ทีมไทยเสมอ พวกคุณทำดีที่สุดแล้ว ก้าวไปข้างหน้าต่อนะ

ana
เสียใจด้วยนะทีมไทย คู่แข่งนัดต่อไปก็ไม่ง่ายอีก แต่ขอให้สู้ๆ ด้วยรัก จากบราซิล

wb wb
สาวไทยอย่าท้อนะ จงแก้ไขความผิดพลาด พวกเธอเดินมาถูกทางแล้ว

Kevin Smith
ทีมไทยควรเป็นฝ่ายเอาชนะง่ายๆด้วยซ้ำนะ

Wyng
สหรัฐอเมริกากับเซอร์เบียรอเจอไทยอยู่ บอกเลยว่ากระอักกว่านี้

ทีมไทยใจสู้ดี แต่รูปเกมเหมือนวันที่แพ้แคนาดาเลย ผมรู้สึกว่าถ้าวันนี้มีโชคกว่านี้อีกนิด ไทยอาจชนะได้ ไม่ใช่งานง่ายอยู่แล้วที่ต้องเจอกับทีมอย่างเยอรมนีที่บล็อกใหญ่แบบนี้ สู้ๆ ลุยต่อ รอเชียร์เหมือนเดิม

2LoveIn
รักที่ได้เห็นผู้เล่นเหล่านี้ พวกเธอเล่นเต็มที่และยิ้มแย้มให้กันอยู่ตลอด รวมไปถึงทีมคู่แข่งด้วย ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ ฉันก็ภุมิใจในตัวพวกคุณ พวกคุณคือแรงบันดาลใจ ยังไงก็รักนะ!

Around the world
เล่นดีทั้งสองทีม แต่ไทยอับโชคไปหน่อย แพ้ 2 เกมแล้ว ไม่รู้จะพูดยังไง เยอรมนีเล่นได้ฉลาดกว่า ทีมสาวไทยต้องไปวิเคราะห์กันใหม่อย่างหนัก

Sera Vyl
ไม่คิดว่าผลจะเป็นแบบนี้นะเนี่ย ยินดีกับทีมเยอรมนีด้วย

Teng ço happy
เยอรมนีเป็นคู่แข่งที่โหดมากสำหรับทีมไทย ผู้เล่นที่ชื่อ ไวต์เซล ฝีมือน่าประทับใจ

Baby P.
เชียร์ทีมไทยต่อไปเหมือนเดิม

Anto Lapendos86
จากอินโดนีเซีย เชียร์ทีมไทยอยู่เสมอ

Tae Eun
จะชนะหรือแพ้ ทีมไทยก็ยิ้มตลอด

phili175175
ฉันอาศัยอยู่ในเยอรมนี แต่ไทยยังเป็นทีมโปรดของฉันเสมอ อยากเห็น “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” จัง

gissneric
ปีนี้มีแต่ทีมเก่งๆเต็มไปหมด ทีมไทยลุยต่อ พวกคุณทำได้ ขอเฮสักแมตช์นะ

rey jr. oros
สู้ต่อไปนะทีมไทย ยังมีโอกาสเป็นอันดับ 4 ของกลุ่มเพื่อผ่านเข้ารอบอยู่นะ

Rang Klos
ทีมไทยยังเจอวิกฤติเล็กๆ ผู้เล่นคนสำคัญหลายคนยังเรียกฟอร์มเก่งของตัวเองออกมาไม่ได้

——————————————

สำหรับโปรแกรมนัดต่อไป วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย จะลงสนามพบกับ ทีมชาติเซอร์เบีย ในวันศุกร์ที่ 7 ต.ค. 65 เวลา 20:00 น. ถ่ายทอดสดทางช่องเวิร์คพอยต์ 23

ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com


จริงหรือไม่? กินอาหารค้างคืน อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

กินอาหารค้างคืนที่นำมาอุ่นใหม่บ่อยๆ ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นเรื่องจริงหรือไม่? เรื่องนี้ได้คำตอบจาก อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าการกินอาหารที่ค้างคืน แล้วนำมาอุ่นกินใหม่ ไม่ได้มีส่วนทำให้เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแต่อย่างใด

โดยยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เจ้าของเรื่องดังกล่าวที่บอกว่า การอุ่นอาหาร ทำให้อาหารมีปริมาณสารไนไตรต์เพิ่มขึ้น และหากรับสารดังกล่าวเข้าไปในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีผลเสียต่อตับ ไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้นั้น จริงๆ แล้วอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะเจ้าของเรื่องอาจสับสนกับเรื่องสารไนเตรตในน้ำบาดาล ที่หากเรานำน้ำบาดาลที่มีสารไนเตรตมาต้มดื่มบ่อยๆ จะทำให้สารไนเตรตมีปริมาณเข้มข้นขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

โดยนอกจากเราจะพบสารไนเตรตในน้ำบาดาลแล้ว ในผักผลไม้ก็มีอยู่ตามธรรมชาติเช่นกัน แต่มีปริมาณน้อยและอาจทำอันตรายแก่เด็กเล็กเท่านั้น (หากบริโภคมากเกินไป) นอกจากนี้ยังพบสารไนเตรตได้ในเกลือที่เป็นส่วนผสมของอาหารสำเร็จรูปอย่างไส้กรอก โบโลน่า แฮม เป็นต้น

แต่การอุ่นอาหารที่ค้างคืน ไม่ว่าจะด้วยการต้ม นึ่ง ผัด ทอด หรือใช้ไมโครเวฟ ไม่ได้ทำให้มีสารไนเตรตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่จะมีอันตรายหากอาหารเหล่านั้นหมดอายุ บูดเน่าเรียบร้อยแล้ว

Sanook Health แนะนำว่า ทางที่ดีที่สุด คือกินอาหารให้หมดเป็นมื้อๆ หรือหากจำเป็นต้องเก็บค้างคืน ให้รีบนำเข้าตู้เย็น แล้วรีบกินให้หมดภายในวันถัดไป เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของตัวคุณเอง และครอบครัว

ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com


สแลงที่ชาวแคนาดาใช้กัน แต่ประเทศอื่นมี “งง”

ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้กันสากลทั่วโลก แต่ก็ยังมีคำบางคำที่ใช้เฉพาะเจาะจงกันตามแต่ละพื้นที่ไป เช่นเดียวกันกับสแลง ที่แต่ละพื้นที่ก็มีการปรับเปลี่ยนกันไปตามผู้คนหรือตามวัฒนธรรม ทีนี้เรามาดูกันที่แคนาดาดีกว่า แม้ว่าแคนาดา จะอยู่ในซีกเดียวกันกับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอย่างสหรัฐอเมริกา แต่แคนาดากลับมีสแลงเป็นของตัวเองเยอะแยะไปหมด ตามไปดูกันเล้ย

“ตู้กดเงินอัตโนมัติ”

โดยทั่วไปจะใช้

ATM (Automatic teller machine)

แคนาดาใช้

ABM (Automatic banking machine)

“ชาวแคนาดา”

โดยทั่วไปจะใช้

Canadian

แคนาดาใช้

Canuck [คานัก’]

“บุหรี่”

โดยทั่วไปจะใช้

Cigarette 

แคนาดาใช้

Dart [ดาร์ท]

“ร้านสะดวกซื้อ”

โดยทั่วไปจะใช้

 Convenience store

แคนาดาใช้

Depanneur [ดะแพน’เนอะ]

“เสื้อแขนยาวมีฮู้ด”

โดยทั่วไปจะใช้

 Hoodie

แคนาดาใช้

Bunnyhug [บัน’นิฮัก]

“ไฟฟ้า”

โดยทั่วไปจะใช้

Electricity

แคนาดาใช้

Hydro [ไฮโดร]

“กระเป๋าเป้”

โดยทั่วไปจะใช้

Backpack

แคนาดาใช้

Knapsack [แนพ’แซค]

“เหรียญ 1 ดอลลาร์”

โดยทั่วไปจะใช้

One-dollar coin

แคนาดาใช้

Loonie [ลูนี’]

“พุงบวมเบียร์”

โดยทั่วไปจะใช้

Beer belly

แคนาดาใช้

Molson Muscle [โมลซัน มัซ’เซิล]

“ดินสอสี”

โดยทั่วไปจะใช้

Colored pencil

แคนาดาใช้

Pencil crayon [เพน’เซิล เคร’เอิน]

“เขตเลือกตั้ง”

โดยทั่วไปจะใช้

Electoral district

แคนาดาใช้

Riding [ไร’ดิง]

“รองเท้าวิ่ง”

โดยทั่วไปจะใช้

Running shoes

แคนาดาใช้

Runners [รัน’เนอะ]“ปาร์ตี้สละโสด”

โดยทั่วไปจะใช้

Bachelor party/Bachelorette party

แคนาดาใช้

Stagette [สตาเกท]

“เหรียญ 2 ดอลลาร์”

โดยทั่วไปจะใช้

 Two-dollar coin

แคนาดาใช้

Toonie [ทูนี’]

“หมวกไหมพรม”

โดยทั่วไปจะใช้

Beanie

แคนาดาใช้

Tuque [โทค]

“ห้องน้ำ”

โดยทั่วไปจะใช้

Restroom

แคนาดาใช้

Washroom [วอช’รูม]

ขอบคุณข้อมูลจาก engnow.in.th


ทำไม “รถยุโรป” ถึงลุยน้ำท่วมสู้ “รถญี่ปุ่น” ไม่ได้?

ช่วงระยะหลังมานี้หลายคนคงเห็นภาพรถยุโรปหรูจอดตายกลางน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งรถแบบเอสยูวี (SUV) ขณะที่รถญี่ปุ่นแม้ระดับน้ำสูงถึงไฟหน้าก็ยังวิ่งฉิวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็นว่าทำไมรถยุโรปถึงช่างกลัวน้ำเหลือเกิน วันนี้เราเอาคำตอบมาฝากกันครับ

     โดยปกติแล้วสาเหตุที่เครื่องยนต์ดับขณะลุยน้ำเกิดมาจากการที่มีน้ำเล็ดลอดเข้าไปยังระบบกรองอากาศของเครื่องยนต์ เมื่อไส้กรองอากาศเปียก ก็จะทำให้อากาศไม่สามารถไหลผ่านได้ ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับในที่สุด ซึ่งกรณีนี้หากไม่มีการสตาร์ทเครื่องยนต์ซ้ำ ก็มักจะไม่เกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์ เนื่องจากน้ำยังไม่หลุดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ เพียงแค่เปลี่ยนไส้กรองอากาศราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ก็สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว

     แต่หากผู้ขับขี่พยายามสตาร์ทเครื่องยนต์หลังจากที่เครื่องยนต์ดับในขณะลุยน้ำ อาจส่งผลให้มีน้ำบางส่วนไหลทะลุไส้กรองอากาศเล็ดลอดเข้าไปยังท่อไอดีและห้องเผาไหม้ เมื่อน้ำเจอกับลูกสูบที่ขยับตัวขึ้นลงอย่างรุนแรง ก็อาจเสียหายถึงขั้นลูกสูบคด ซึ่งการซ่อมแซมค่าเสียหายระดับนี้มักไม่ต่ำกว่า 40,000 – 50,000 บาท เพราะอาจถึงขั้นต้องวางเครื่องยนต์ใหม่ และรถบางรุ่นอาจต้องจ่ายทะลุหลักแสนได้อย่างไม่ยากเย็น

     ส่วนกรณีรถยุโรปทำไมถึงกลัวน้ำมากกว่ารถญี่ปุ่น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า โดยเฉพาะรถยุโรปรุ่นใหม่ๆ ที่มักจะถูกติดตั้งระบบเทอร์โบมาให้ไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือดีเซล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอินเตอร์คูลเลอร์เพื่อช่วยในการลดความร้อนของอากาศก่อนส่งไปยังห้องเผาไหม้ โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะถูกติดตั้งอยู่ด้านหลังของกันชนหน้าส่วนล่าง ซึ่งมีโอกาสปะทะกับมวลน้ำได้ง่ายเมื่อจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ

แม้ว่าอินเตอร์คูลเลอร์จะเป็นระบบปิด ซึ่งอากาศจะไหลเวียนมาจากเทอร์โบผ่านไส้กรองอากาศเท่านั้น แต่หากรถผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง อาจพบปัญหาซีลข้อต่อของอินเตอร์คูลเลอร์เกิดการแข็งหรือเสื่อมสภาพ ทำให้มีน้ำเล็ดลอดเข้าไปยังห้องเผาไหม้จนทำให้เครื่องยนต์ดับในที่สุด จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงมักเห็นรถยุโรปจอดตายกลางน้ำอยู่บ่อยๆ นั่นเอง

     นอกจากนี้ รถยุโรปยังมีชิ้นส่วนอีกหลายอย่างที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากจำเป็นต้องลุยน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแร็กพวงมาลัยไฟฟ้า ซึ่งอาจได้รับความเสียหายจากน้ำหากซีลมีการเสื่อมสภาพ ซึ่งหากเบิกของใหม่จากศูนย์อาจต้องกำเงินไว้ไม่ต่ำกว่าแสนบาท หากเปลี่ยนไปใช้ของมือสองก็ไม่แน่ใจว่าจะทนทานแค่ไหน รวมถึงเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่อาจอ่านค่าผิดเพี้ยนไปจากปกติจนทำให้ปรากฏข้อความเตือนขึ้นบนหน้าจอได้

     ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ใช้รถยุโรปช่วงนี้ ก็คงได้แต่แนะนำว่าจอดทิ้งไว้บ้านก่อน แล้วเอารถญี่ปุ่นหรือคันที่ไม่มีระบบเทอร์โบมาใช้แทน หรือหากจำเป็นต้องนำมาใช้งานจริงๆ เนื่องจากไม่มีรถสำรองแล้วล่ะก็ ควรศึกษาเส้นทางและติดตามสภาพฟ้าฝนให้ดีก่อนออกเดินทางทุกครั้ง หากต้องลุยน้ำจริงๆ ก็ควรปิดแอร์ ใช้ความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดสูงขึ้นครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com


“Suan Phlu Office” อาคารเหล็กสุดฉีกอันทันสมัย แต่ไม่โดดจากบริบทโดยรอบ
บนพื้นที่ขนาดกะทัดรัด โดย IDIN Architects

ในซอยสวนพลู 9 เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเล่าปึงเถากงอันเป็นที่นับถือของชุมชนในย่านนี้ และหากมองเหนือขึ้นไปบนพื้นที่เกือบ 1.5 ไร่ จะพบกับที่ตั้งของ “Suan Phlu 9 Office” อาคารที่ถูกรีโนเวทใหม่ เพื่อใช้เป็นสำนักงานและที่พักอาศัย ถึงแม้ตัวอาคารจะดูโดดเด่นสะดุดตา แต่ก็ไม่ฉีกหนีจากบริบทของชุมชนโดยรอบแม้แต่น้อย

อาร์ม-คเณศ สุตันติวรคุณ เจ้าของตึกเล่าว่า เขาต้องการขยายพื้นที่สำนักงานและที่พักอาศัยจากอาคารหลังเดิม ซึ่งพื้นที่นั้นเริ่มแออัดและไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ไม่สามารถรับรองการใช้งานของสมาชิกที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเต็มที่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจให้ทันสมัย โดดเด่นไม่เหมือนใครผ่านดีไซน์ของอาคาร

IDIN Architects สตูดิโอสถาปัตยกรรมผู้ได้รับมอบแปลงโฉมอาคารเก่า ๆ ให้ดูทันสมัย ก็ได้ดีไซน์ออกมาได้ตรงตามต้องการไม่น้อย อาคารสำนักงานพร้อมที่พักอาศัยถูกก่อสร้างเต็มขนาดพื้นที่ และยกสูงขึ้น 8 ชั้นเพื่อประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด และ Façade ที่ทำให้อาคารดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนตัวตนของ Owner เด่นสุดท่ามกลางบริบทของชุมชนข้างเคียง แต่ก็กลมกลืนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ด้วยข้อจำกัดของขนาดพื้นที่และบริบทโดยรอบ ถนนที่ขนาดไม่กว้างมากนัก การใช้เหล็ก H-Beam จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม สร้างโครงสร้างที่แข็งแรง รับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ติดตั้งง่าย รวดเร็ว แถมยังไม่ส่งผลกระทบเรื่องฝุ่นหรือเสียงรบกวนจากการก่อสร้าง แถมยังสามารถเชื่อมต่อกับ Façade ได้ง่าย ทำให้การติดตั้งเป็นไปอย่างสะดวก เก็บงานได้ไม่ยากนัก

และคุณสมบัติของเหล็ก H-Beam ที่สามารถใช้ขนาดหน้าตัดของโครงสร้างได้เล็กลงนั้น ช่วยลดความอึดอัดทึบตันของขนาดโครงสร้างลงได้มาก เพิ่มพื้นที่ใช้สอยในอาคาร และจัดการพื้นที่ได้ง่าย

สำหรับ Suan Phlu Office นี่คงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สร้างมาอย่างเคารพพื้นที่โดยรอบ ตั้งแต่งานก่อสร้างจนไปถึงการใช้งาน ไม่ทำให้พื้นที่โดยรอบดูแตกต่าง สร้างความโดดเด่นแต่ก็ยังไม่ความกลมกล่อมของวัสดุ นับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กย่านสวนพลูเลยก็ว่าได้ หากใครผ่านไปผ่านมาแถวนั้น อาจสงสัยว่าตึกแห่งนี้คืออะไร และคงต้องหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเก็บไว้หรือไม่ก็เซลฟี่สักภาพสองภาพอย่างแน่นอน

Project: Suan Phlu Office

Architects: IDIN Architects
Area: 2290 m²
Year: 2020
Photographs: Ketsiree Wongwan
Manufacturers:  FAMELINE, Siam Yamato Steel (SYS), TOA, Windset Aluminium
Interior Designer: Inblock Studio
Structural Engineer: C-Insight Company Limited

ขอบคุณข้อมูลจาก buildernews.in.th


ราคาทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 06/10/2565

ชนิดทองราคารับซื้อ กรัมละราคารับซื้อ บาทละราคาขาย บาทละ
ทองคำแท่ง 96.5%n/a30,250.0030,350.00
ทองรูปพรรณ 96.5%1,959.0029,698.4430,850.00
ทองรูปพรรณ 90%1,763.1026,728.60n/a
ทองรูปพรรณ 80%1,567.2023,758.75n/a
ทองรูปพรรณ 50%882.0013,371.12n/a
ทองรูปพรรณ 40%686.0010,399.76n/a
ทองรูปพรรณ 99.99%2,030.0030,774.80n/a

ราคาน้ำมัน ประจำวัน ราคาน้ำมันประจำวันที่ 06/10/2565



ปตท.

บางจาก
ราคาน้ํามันเชล์ Shell
เชลล์
ราคาน้ํามันเอสโซ่ Esso
เอสโซ่
ราคาน้ํามันคาลเท็กซ์ Caltex
คาลเท็กซ์
ราคาน้ํามันไออาร์พีซี irpc
ไออาร์พีซี

พีที
ราคาน้ํามันซัสโก้ susco
ซัสโก้
ราคาน้ํามันเพียว PURE
เพียว
ราคาน้ํามันพรุ่งนี้
พรุ่งนี้
แก๊สโซฮอล์ 9534.6534.6534.7534.6534.6534.6534.6534.6534.6534.65
แก๊สโซฮอล์ 9134.3834.3834.4834.3834.3834.3834.3834.3834.3834.38
แก๊สโซฮอล์ E2033.5433.5433.6433.5433.5433.5433.5433.5433.54
แก๊สโซฮอล์ E8531.9431.9431.94
เบนซิน 9542.0642.5142.5642.5642.06
ดีเซล B734.9434.9436.8435.8435.8434.9434.9434.9435.8434.94
ดีเซล34.9434.9436.8435.8435.8434.9434.9434.9435.8434.94
ดีเซล B2034.9434.9436.8435.8434.9434.9434.94
ดีเซลพรีเมี่ยม43.6643.6645.5645.5645.2643.66
แก๊ส NGV43.6643.6643.66

About the Author

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า