ส่อง ‘มหานครกัวดาลาจารา’ ต้นแบบพัฒนาเมือง รูปแบบ TOD
ส่อง ‘มหานครกัวดาลาจารา’ ประเทศเม็กซิโก ต้นแบบพัฒนาเมือง ใน รูปแบบ TOD เมื่อเมืองเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไร้ทิศทาง ก่อนกลายเป็นโมเดลแห่งความยั่งยืน
23 ก.ย.2565 – สิ่งที่นักวางผังเมืองทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ การเติบโตของเมืองอย่างก้าวกระโดด จนแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามไม่ทันความต้องการของเอกชน และประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ใจกลางเมืองจนเกินความควบคุมเหมือน เช่น มหานครกัวดาลาจารา (Guadalajara) ประเทศเม็กซิโก มหานครแห่งนี้ประสบปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างก้าวกระโดด ถึง 381.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 – 2553
หากเทียบกับการเติบโตของประชากรในเมืองใหญ่ทั่วโลกในช่วงเวลาเดียวกัน จะมีอัตราการเติบโตอยู่ระหว่าง 40 – 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาที่ดินผังเมือง ต้องนำแนวทางของ TOD (Transit Oriented Development) เข้ามาแก้ไขปัญหาของมหานครกัวดาลาจารา จนพบว่าเมืองแห่งนี้มีปัญหาที่ต้องแก้ไข 4 มิติ คือ
- ความกระจัดกระจาย (Dispersed) เพราะการพัฒนาแต่ละพื้นที่กระจายไปคนละทิศละทาง ไม่เกาะกลุ่มขยายตัวออกไป
- ความห่างไกล (Distant) การพัฒนาในแต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกล ไม่เกาะกลุ่มร่วมกันพัฒนา
- ขาดการเชื่อมต่อ (Disconnected) พื้นที่ที่เอกชนเข้าไปพัฒนานั้นอยู่นอกเส้นทางรถไฟ และพื้นที่ถนนก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโต
- ความไม่สม่ำเสมอ (Uneven) การพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ผุดขึ้นอย่างไม่มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน เช่น พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นตั้งอยู่บริเวณรอบนอกของเมือง ในขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นต่ำ กลับตั้งอยู่ศูนย์กลางของเมืองเป็นต้น
ซึ่งปัญหาทั้ง 4 มิตินี้ถูกแก้ไขด้วย 3 วิธีดังต่อไปนี้ คือ
1.ดึงขอบเขตการขยายตัวของเมือง ด้วยการสร้างเส้นทางรถไฟรางเบา
ในช่วงประมาณปีพ.ศ.2523 เมืองกัวดาลาจารา มีการกระจุกตัวหนาแน่นในบริเวณใจกลางเมือง ระดับประชากร 300 – 400 คนต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ก่อนจะเริ่มขยายตัวไปพื้นที่รอบนอกอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) จนกระทั่งปี พ.ศ.2553 พบว่ามีพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นในจุดรอบนอกใกล้ขอบเขตพื้นที่เมือง ทั้งที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหรือระบบขนส่งสาธารณะยังไปไม่ถึง
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการปล่อยปะละเลย ให้ภาคเอกชนเข้าไปพัฒนาพื้นที่โดยที่ภาครัฐเองยังไม่ได้กำหนดว่าพื้นที่ใดควรได้รับการพัฒนาแบบไหน เพื่อให้เมืองเติบโตขึ้นอย่างเป็นระบบที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาของนักวางผังเมืองกัวดาลาจารา ได้ริเริ่มโครงการสร้างเส้นทางรถไฟรางเบาขึ้นมา 3 สายไปสู่พื้นที่ชุมชนที่กระจายอยู่รอบนอก พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟตามแนวทาง TOD
เส้นทางรถไฟ 3 สายนี้เป็นเสมือนโครงสร้างหลักของเมือง ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองด้านอื่นๆ ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาหลังจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางเบาทั้ง 3 สายเสร็จสิ้น คือการที่ภาคเอกชนยึดเส้นทางรถไฟรางเบาเป็นแนวทางการพัฒนาโครงการใหม่ ทำให้การพัฒนาที่ดินอยู่ในเส้นทางที่กำหนด ไม่กระจายตัวไปอยู่ในจุดที่ไม่คาดคิด หรือจุดที่โครงสร้างพื้นฐานยังพัฒนาไปไม่ถึงเหมือนช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
วิธีนี้ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง ความกระจัดกระจาย ความห่างไกล และขาดการเชื่อมต่อ ที่มีอยู่ของเมืองแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
2.สร้างโครงข่ายทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะเพื่อลดมลพิษ
แม้ว่ามหานครกัวดาลาจารา จะเติบโตอย่างกระจัดกระจายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเติบโตของเมืองที่ไม่ได้อยู่ในแผนการพัฒนา จะไม่สามารถแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้นได้
หลังการพัฒนาเส้นทางรถไฟรางเบา 3 สายเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งที่พวกเขาทำต่อมา คือ การตั้งเป้าให้มหานครกัวดาลาจาราเป็นเมืองปลอดมลพิษ ด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยาน เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะให้ง่ายขึ้น
ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในมิติของความห่างไกลและขาดการเชื่อมต่อในแต่ละพื้นที่ให้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่ายขึ้น จูงใจให้ประชาชนหันมาเดินเท้า รวมทั้งปั่นจักรยาน มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยประชาชนไม่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้พวกเขาต้องปรับตัวมากนัก และยังรู้สึกได้ถึงความเจริญด้านการคมนาคมที่เข้าถึงพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน
ด้วยแนวทางนี้เองทำให้มหานครกัวดาลาจารา สามารถดึงดูดประชาชนให้หันมาใช้ระบบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละวันลงจากเดิมถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลปีพ.ศ.2558) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าการพัฒนาตามแนวทาง TOD
3.เปลี่ยนระเบียบข้อบังคับในการพัฒนาเมือง และวางแผนพัฒนาระยะยาว
การพัฒนาเมืองจะมีจุดที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาที่พบบ่อยมากที่สุด คือ ปัญหาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา และแรงต้านจากประชาชน แต่สำหรับมหานครกัวดาลาจารา ภาครัฐเป็นผู้กำหนดทิศทางในการพัฒนา จนเกิดการผลักดันให้มีการร่างข้อบังคับในการพัฒนาพื้นที่มหานครกัวดาลาจารา อย่างยั่งยืนตามแนวทาง TOD ได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
แต่เรื่องแรงต้านจากประชาชนในการกำหนดพื้นที่พัฒนาใหม่ ไม่สามารถทำได้ง่ายดายนักเพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ที่มีอยู่เดิมเอามาพัฒนาเป็นพื้นที่ใหม่ตามต้องการ หากฝืนทำเช่นนั้นหน่วยงานรัฐจะเผชิญกับแรงต้าน จากประชาชนที่ลงทุนในที่ดินอยู่ก่อนแล้ว
จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาและออกระเบียบข้อบังคับอย่างเข้มงวด ว่าแต่ละพื้นที่ที่เหลือควรได้รับการพัฒนาไปในทิศทางใดให้สอดคล้องกัน เพื่อแก้ปัญหาในมิติของ ความกระจัดกระจาย และความสม่ำเสมอ โดยการพัฒนาทั้งหมดอยู่ในกรอบของการเป็นเมืองปลอดมลภาวะ ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
อีกทั้งยังเลือกวิธีการพัฒนาด้วยวิธีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา ที่ก่อสร้างเสร็จในเวลาอันสั้น ร่วมกับการสร้างโครงข่ายทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยานก็ช่วยลดแรงต้านจากการเวนคืนที่ดิน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะในระยะ 600-1,000 เมตร แต่พวกเขาก็สามารถเลือกการเดินทางด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานได้ด้วยเส้นทางที่ดีและปลอดภัยกับการใช้งาน
ด้วยแนวทางการแก้ไขทั้ง 3 วิธีการ ส่งผลให้ตัวเลขการเดินทางของประชาชนในปีพ.ศ.2561 ในแต่ละวัน มีการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะราว 32.75 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลต่ำกว่า 23.75 เปอร์เซ็นต์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเดินเท้าและปั่นจักรยาน ขณะที่เมืองยังคงมีประสิทธิภาพในการรองรับการเติบโตของประชากรได้เป็นอย่างดี ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ที่ได้จัดสรรไว้
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD ในมหานครกัวดาลาจารา ได้ถูกนำไปใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองอื่นๆ ในประเทศเม็กซิโก เพราะเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง แม้ว่าเมืองนั้นๆ จะเป็นเมืองที่เติบโตอย่างไร้ทิศทางมาก่อนก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
ถอดประสบการณ์แบรนด์ระดับโลก ESG ‘เฟรเซอร์สฯ ไทย’ ทำให้ดู-ชวนให้ทำ-ทำร่วมกัน
เวทีสัมมนาแห่งปีหัวข้อ “ESG Forum (Environment, Social, Governance) จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ และเป็นอีกครั้งที่ผู้บริหารธุรกิจระดับประเทศ “ธนพล ศิริธนชัย” Country CEO บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตอบรับคำเชิญขึ้นเวทีร่วมเปิดมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์ต้นแบบการทำ ESG ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อนำไปสู่จุดเปลี่ยนของผู้ประกอบการประเทศไทยทั้งปัจจุบันและอนาคต
ปี’66 เผชิญปัจจัยท้าทาย
“ธนพล” กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่ยากลำบากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) ธุรกิจถูกกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกระทบแทบจะทุกเซ็กเตอร์ วันนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ ในปี 2566 ยังมีปัจจัยกดดันที่ต้องเตรียมตัวรับมือ
ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อัตราเงินเฟ้อซึ่งกดดันให้ธนาคารทุกประเทศในโลกต้องเร่งการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนสินค้าและวัสดุต่าง ๆ รวมทั้งต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น กระทบถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีดีพีอาจจะลดลง
ทั้งนี้ วงจรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภท ได้แก่ “ธุรกิจที่อยู่อาศัย-Housing” เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น คนกู้ซื้อบ้านโดยเฉพาะระดับกลางถึงล่างกู้ไม่ได้ การแข่งขันก็ค่อนข้างสูง แต่ตลาดบ้านเดี่ยวราคาแพงกลับไปได้ดี
“ธุรกิจค้าปลีก-Retail” มีศูนย์การค้าเปิดใหม่ค่อนข้างมาก ร้านค้าก็ประสบปัญหาการแข่งขันสูงขึ้น เป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น
“ธุรกิจออฟฟิศให้เช่า-Office Building” เทรนด์ WFH-ทำงานที่บ้าน ประกอบกับอีก 2 ปีหน้าจะมีซัพพลายเข้ามาเติมในตลาดค่อนข้างมาก ความท้าทายของการให้เช่าออฟฟิศก็มีความเสี่ยงอยู่ แต่ออฟฟิศเกรด A ที่ตั้งอยู่โลเกชั่นติดรถไฟฟ้า ติดแหล่งชุมชนก็ยังไปได้ดี และ “ธุรกิจฮอสพิทาลิตี้” แนวโน้มค่อย ๆ ดีขึ้นตามการเปิดประเทศ เปิดเมือง
ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ค่อนข้างดีใน 2 ปีที่แล้วและแนวโน้มยังดีต่อไปอีก 2 ปีหน้าคือ “แวร์เฮาส์ โลจิสติกส์ โกดังสินค้า” จากการเติบโตอย่างมากของตลาดอีคอมเมิร์ซ บริษัทใหญ่ ๆ ของโลกต้องการย้ายคลังสินค้ามาไว้ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะจากประเทศจีน
โลกผันผวน ESG คือทางออก
จุดเปลี่ยนศักยภาพใหม่ธุรกิจเรียลเอสเตตมีความท้าทายใหม่ จากสถิติเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมามีฝนตกหนักผิดปกติ ในต่างประเทศมีปัญหาคลื่นความร้อน ภาพรวมพลเมืองโลกเจอปัญหาภาวะโลกร้อนที่มากระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โมเดล ESG ยิ่งทวีความสำคัญ
ตัวอย่างใกล้ตัวคือ การเช่าโกดังที่มีลูกค้าแบบ B to B (Business to Business) คำถามแรกลูกค้าจะถามว่า โกดังแห่งนี้ก่อสร้างตามมาตรฐานอาคารเขียวหรือไม่
“เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ เขามองบริษัทที่จะทำงานด้วย เขาไม่ได้มองบริษัทที่จะกำไรอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือสังคม การทำธุรกิจถ้าไม่ปรับตัวตั้งแต่วันนี้เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดระดับโลกได้ นั่นคือความสำคัญของ ESG”
ยั่งยืน-มีกำไร-ไม่เบียดเบียน
ข้อมูลเซอร์ไพรส์ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 40% ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาในโลกใบนี้ คำถามอยู่ที่เราจะทำอย่างไร รับผิดชอบและวางแผนยังไงเพื่อช่วยกันลดคาร์บอน ให้เป็น 0 ได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นที่แข็งแรงมาจากคำว่า Sustainability
“คำว่ายั่งยืนใน ESG ความหมายคือ การที่เราใช้ทรัพยากรในปัจจุบันโดยที่ไม่ทำให้คนรุ่นหลังเดือดร้อน หรืออีกนัยหนึ่ง เราเป็นบริษัทต้องเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ต้องมีกำไรถึงจะยั่งยืน และใช้โดยไม่ไปเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นคำนิยามสั้น ๆ ง่าย ๆ ที่เราจะทำเรื่อง ESG”
ในภาพใหญ่ของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ประกาศว่า ไทยจะเป็นประเทศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป็นประเทศเน็ตซีโร่คาร์บอนในปี 2065
โมเดลต้นแบบของ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป” ในต่างประเทศ มีการประกาศเป็นนโยบายเชิงรุกทั่วโลกว่า จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทเน็ตซีโร่คาร์บอนภายในปี 2050 และประเทศไทยก็ร่วมเป็นหนึ่งในคอมมิตเมนต์ที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกัน
แผนระยะสั้น 2-3 ปี ในปี 2564 มีหลักสูตรเทรนนิ่งพนักงานให้รับรู้ตรงกันว่า ESG องค์กรจะเดินไปยังไง แผนต่อเนื่องปี 2565-2566 ก้าวหน้ามากขึ้นในเรื่องการออกแบบ การใช้วัสดุโดยคำนึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เซตมาตรฐานการใช้พลังงานไฟฟ้า การประหยัดน้ำในโครงการบ้านและโรงงานในเครือ
“กรีนไฟแนนซิ่ง ธนาคารบอกแล้วว่า ต่อไปใครไม่มี ESG เขาจะไม่ให้กู้ หรือกู้ในราคา (ดอกเบี้ย) แพง ทุกโรงงานทุกอาคารของเราต้องมีมาตรฐานอาคารเขียว (Green Certificated) เป็นสเต็ปแรกที่เราสามารถทำได้ทันที”
จุดสตาร์ต Pre-construction
ถอดรหัส ESG ออกมาเป็นตัวย่อ G-Governance เนื่องจาก FPT เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกฎระเบียบมากมายในการทำ Sustainability Report ล่าสุดมีเรื่อง Thailand Sustainability Index ซึ่งบริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น
“Governance-ความโปร่งใส บริษัทจดทะเบียนในตลาดหรือไม่อยู่ก็ตาม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำ”
ขณะที่ตัวย่อ E-Environment สิ่งแวดล้อม ทุกคนเข้าใจง่าย พูดถึงเรื่องกรีนแมเนจเมนต์ การแยกขยะ การรีไซเคิล อุปกรณ์ประหยัดน้ำ หลอดไฟแอลอีดี จุดไร้สัมผัส-Touchless ต่าง ๆ
สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือ กรีนดีไซน์-ประกาศนียบัตรอาคารเขียวที่ขยายผลเป็น LEED กว่าจะได้มาไม่ได้ทำตอนสร้างเสร็จ แต่เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนก่อสร้างหรือ Pre-construction การเลือกใช้วัสดุตามกฎเกณฑ์ ระหว่างการก่อสร้างต้องระมัดระวังเรื่องฝุ่น เสียง การขนขยะไปทิ้ง หลังจากตึกโอเปอเรตแล้วมีเรื่อง Building Information System การวัดค่าพลังงาน เป็นสิ่งที่คอยกำกับดูแลด้านมาตรฐานอาคารเขียว
บริษัทมี Learning Curved ที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จมากมาย เช่น ในประเทศไทย แวร์เฮาส์สำเร็จรูปให้เช่าลูกค้ากลุ่ม Bollore จากฝรั่งเศส ป้อนสินค้าลักเซอรี่แบรนด์ ต้องการให้สร้างอาคารประหยัดพลังงาน ทีมงานเทคนิค 2 ฝั่งร่วมกัน การวางเลย์เอาต์ การวางสเตชั่น พนักงานทำงานสะดวก ไม่ร้อน การติดตั้งแอลอีดี การประหยัดน้ำ มีโซลาร์รูฟ
เป้าหมายมีไว้พุ่งชนจนสามารถคว้าประกาศนียบัตร LEED ระดับ Gold (มี 3 ระดับ Silver, Gold, Paltinum) จุดพีกอยู่ที่เป็นโรงงานแรกของกลุ่ม Bollore ด้วย ซึ่งมีความภูมิใจและสามารถนำไป “บอกต่อ-word of mouth” กับลูกค้าต่อเนื่อง กลายเป็น soft power ที่มีพลังหนุนหลังแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
อีกตัวอย่าง เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ออสเตรเลีย สร้างหมู่บ้านที่มีเป้าหมายปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด มีการวางแผนตั้งแต่วัสดุ-เลย์เอาต์ สร้างชุมชนให้น่าอยู่ในเรื่องของต้นไม้ การเอื้อประโยชน์ในการจะรู้จักกัน ปัจจุบันโครงการนี้เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลาย ๆ โครงการทำตามด้วย
และกรณีศึกษาคอมมิวนิตี้มอลล์ในออสเตรเลียอีกแห่ง ทำยากมากเพราะทุกอย่างต้องเป็นเรื่องกรีนทั้งหมด ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การออกแบบให้มีต้นไม้ปนเข้าไปในบริเวณรอบอาคาร ด้านบนให้พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ทำเรื่องปลูกผัก ต้นไม้นำมาใช้กับภัตตาคารข้างในหรือขายให้กับลูกค้า ตัวชี้วัดซีโร่เวสต์ระหว่างการก่อสร้างทุกอย่างต้องนำมารีไซเคิล ระบบน้ำฝนตกลงมาจะเก็บกักน้ำยังไง การรีไซเคิลน้ำนำกลับมาใช้ใหม่
“เป็นตัวอย่างที่เป็น Inspiration ให้คนที่เข้ามาใช้ตระหนักและเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม”
มือรางวัล-ผลพลอยได้ ESG
“ธนพล” ระบุถึงหลักคิดด้านสังคม-Social ในเรื่อง ESG โฟกัสการทำสังคมให้น่าอยู่ การกลับมาดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งหมด เริ่มจากพนักงานในองค์กร ถ้าเราดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เราจะได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพ มีแรงจูงใจที่จะทำงานต่อ
ถัดออกมากระเถิบไปอีกหนึ่งสเต็ปคือ “ผู้รับเหมา ซัพพลายเออร์” คนที่ช่วยเราสร้างโครงการ
ขยายผลมาสู่ “ชุมชน-Community” ทุกโครงการทุกทำเลที่เข้าไปลงทุนต้องสำรวจและให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่โดยรอบ เรื่องเสียง-ฝุ่น-คำร้องเรียน-การซ่อมแซม ฯลฯ เพราะตระหนักว่าโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ไปถึงทุกคนได้ ถ้าตั้งใจสื่อสารให้ดีจะทำให้ชุมชนเราน่าอยู่ได้
ความใส่ใจลงรายละเอียดนำมาสู่ผลลัพธ์ทางด้าน “สังคม” โดยสามย่านมิตรทาวน์ได้รับรางวัลมาตรฐานด้านประหยัดพลังงาน, รับรางวัล Thailand Energy Award 2021, ASEAN Energy Award 2021 ซึ่งเป็นมาตรฐานของตึกรุ่นใหม่
“ผมอยากชวนดูสิ่งที่ซ่อนอยู่ที่เราตั้งใจทำให้เป็นประโยชน์กับชุมชน ผมเชื่อว่าเป็นโครงการแรก ๆ ด้วยซ้ำที่ให้ความสำคัญกับรั้วโครงการ (รั้วตอนเปิดไซต์ก่อสร้าง) แทนที่จะเป็นสังกะสี เราทำให้ออกมาแล้วเป็นเมืองน่าอยู่ มีความปลอดภัย แสงสว่าง”
ด้านสาธารณประโยชน์มีการลงทุน 300-400 ล้านบาท ทำอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมสามย่านมิตรทาวน์กับรถไฟฟ้าใต้ดิน กระตุ้นให้คนหันกลับมาใช้รถสาธารณะแทนการขับรถเข้าเมือง, บนชั้น 6 ด้านนอกมีลานโอเพ่นแอร์ สวนลอยฟ้าให้นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไปเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นส่วนที่ไม่ได้นำกลับมาหารายได้ แต่เป็นพื้นที่ให้ประชาชนและชุมชนใช้เป็นประโยชน์ร่วมกัน
ผนึกกำลัง-ปลูกฝังพนักงาน
ส่วนสุดท้าย “สามย่านโคอ็อป” เป็นโคเลิร์นนิ่งสเปซ ศูนย์แห่งการเรียนรู้ ให้กับนิสิตนักศึกษา นักเรียน ผู้ใหญ่ มาอ่านหนังสือประชุมสัมมนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ต้องขอบคุณสปอนเซอร์เคแบงก์ที่ช่วยกันสนับสนุน ซึ่งปกติสูตรลงทุนมีการคำนวณ IRR-ผลตอบแทนการลงทุนเป็นตัวเลข
ในแง่โซเชียลมีวิธีที่เรียกว่า SROI-ผลตอบแทนทางสังคม มีผู้เชี่ยวชาญมาวัดตัวเลขพบว่า ลงทุน 1 บาทจะได้ผลตอบแทนกลับมา 3-5 เท่า เพราะช่วยสังคมประหยัดการเดินทางแล้วคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายกลับคืนมา
“ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จริง ๆ แล้วเป็นธุรกิจเกี่ยวกับคน ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ถ้าสร้างแล้วไม่มีคนอยู่อาศัย ไม่มีคนมาใช้งาน ไม่มีชีวิต ฉะนั้น เราจะสร้างโครงการสักอย่าง สร้างบ้านสักหลัง ให้เกิดประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกัน โครงการของเราต้องมีคุณภาพ และในที่สุดต้องยั่งยืน สามารถใช้ได้ยาวนาน ในเรื่อง ESG ต่าง ๆ ซ่อนอยู่ในกลยุทธ์บริษัทด้วย ไม่ใช่พูดหรือมีเป้าอย่างเดียว ต้องผนึกกำลังเป็นกลยุทธ์บริษัท แล้วเราจะปลูกฝังให้พนักงาน”
Stakeholder เริ่มจากตัวเรา
“ธนพล” ฝากหลักคิด 3 ประเด็นทำยังไงให้จุดเปลี่ยนวันนี้เป็นการกระตุ้นหรือจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ แล้วทำให้ ESG ประสบความสำเร็จได้
1.ต้อง “ทำให้ดู-Lead by Example” บริษัทเล็ก-กลาง-ใหญ่ สามารถทำได้ทุกคน ถือโอกาสเชิญชวนสัปดาห์หน้าเรามีงานอีเวนต์ ESG Expo นิทรรศการใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวบรวมบริษัทมาให้ความรู้หลากหลาย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน-2 ตุลาคม 2565 นี้
2.“ชวนให้ทำ-Influencer Change” เริ่มจากพนักงานของเรา ร่วมกันหาคำตอบจากทุกคำถาม อะไรคือ waste-ESG-sustainability และ ESG จะลด waste-ของเสียได้ยังไง
“หลายคนอาจบอกว่า ESG ต้องใช้เงินเยอะมากขึ้นหรือเปล่า ดูเหมือนเราจะต้องลงทุนในระยะต้น แต่ในระยะยาวเราจะประหยัดต้นทุนพลังงานมากขึ้นด้วย เช่น โรงงานที่มีอาคารเขียว ลูกค้ายอมจ่ายค่าเช่าที่มีพรีเมี่ยม ผมคิดว่ามีคนเห็นความสำคัญ มีคนพร้อมจะจ่าย”
3.“ทำร่วมกัน-All Stakeholders Collaboration” หนึ่งองค์กร หนึ่งคน ไม่สามารถทำได้ เช่น การแยกขยะ บริษัทแยกขยะอย่างดีเลย แต่พอส่งไปถึงเมืองก็เอาขยะมารวมกัน หรือเจ้าของอาคารมีการดีไซน์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทุกคนเข้ามาใช้ทั้งคนปกติ ผู้พิการทางสายตา แต่ปรากฏว่าคนออกจากบ้านไม่ได้เพราะจุดเชื่อมต่อยังไม่สามารถเชื่อมเข้ามาได้
ดังนั้นหลักคิดเรื่องทำร่วมกันต้องพึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิธีการเริ่มที่คำว่า stakeholder เริ่มจากตัวเรา ขยายไปที่เพื่อนเรา บริษัทเรา แล้วเชื่อมไปที่เมือง
“ถ้าเมืองน่าอยู่ บริษัทน่าอยู่ ประเทศน่าอยู่ ผมคิดว่านั่นทำให้เป็นจุดเปลี่ยนประเทศ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศไทย”
อาณาจักรเฟรเซอร์สกรุ๊ป 1 ล้านล้านบาท
“FPT-เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ที่มีการลงทุนทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ ครอบคลุม 70 เมืองหลัก มีมูลค่าการลงทุนภายใต้การบริหาร 1 ล้านล้านบาท
โดยมีธุรกิจในวงการอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทครบวงจร ทั้งที่อยู่อาศัย คอมเมอร์เชียล ฮอสพิทาลิตี้ แวร์เฮาส์ โลจิสติกส์ และรีเทล
ในเมืองไทย FPT-Frasers Property Thailand มีการควบรวมกิจการ 2 บริษัท ประกอบด้วย “บริษัท ไทคอน อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)” ประกอบธุรกิจโกดังสินค้าให้เช่า ร่วมกับ “โกลเด้นแลนด์-บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)” ทำบ้านแนวราบกับสำนักงานให้เช่า ผนวกกันกลายเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเเพอร์ตี้ ไทยแลนด์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
การรวมกันทำให้ FPT เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร มีธุรกิจถึง 3 ประเภทด้วยกัน แบ่งเป็น “ธุรกิจที่อยู่อาศัย-resedential property” มีความโดดเด่นจากสินค้าบ้านแนวราบ โดยมีโครงการแอ็กทีฟ (อยู่ระหว่างการขาย) ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจำนวน 66 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 9.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการบ้านเดี่ยว 16 โครงการ และทาวน์โฮม 26 โครงการ ระดับราคาบ้านตั้งแต่ 2-5 ล้านบาทที่เป็นทาวน์เฮาส์ และบ้านลักเซอรี่ราคาเริ่มต้น 40 ล้านบาทขึ้นไป
ถัดมา “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม-industrial property” สินค้าที่โดดเด่นคือแวร์เฮาส์ให้เช่า มีพื้นที่ทั้งหมด 3.4 ล้านตารางเมตร ซึ่งกระจายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รูปแบบแวร์เฮาส์ให้เช่ามีทั้งแบบ ready build คือการสร้างเป็นโกดังมาตรฐานพร้อมใช้หรือโกดังสำเร็จรูป กับอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า build to suit สร้างแวร์เฮาส์ตามความต้องการของลูกค้า (แวร์เฮาส์สั่งสร้าง) ล่าสุด ได้กระจายการลงทุนไปเวียดนามและอินโดนีเซีย
ธุรกิจสุดท้ายคือ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า-commercial property” มีอาคารสำนักงานเป็นออฟฟิศเกรด A โดยออฟฟิศกระจายอยู่ในทำเลไพรมแอเรียตั้งแต่โครงการปาร์คเวนเชอร์ จุดตัดชิดลม, โครงการสาทรสแควร์, โครงการ FYI และสามย่านมิตรทาวน์ กับพื้นที่รีเทล ภายใต้การบริหารจัดการจำนวนพื้นที่รวม 240,000 ตารางเมตร และมีโรงแรมที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอจำนวน 1,100 ห้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก prachachat.net
เงินบาทวันนี้เปิดตลาด “ทรงตัว”ระดับ 37.55 บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทยังผันผวนในฝั่ง “อ่อนค่า” ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกว่าคาดจากSafe Haven บวกแรงหนุนจากยูโร-ปอนด์อ่อนค่าลง เหตุกังวลปัญหาการเมืองอิตาลี รวมถึงวิกฤตพลังงานในยุโรป ศูนย์
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.55 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้กดดันให้ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังเฟดได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในสัปดาห์ก่อนหน้า
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 104.3 จุด หนุนโดยการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไป PCE ในเดือนสิงหาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.0% จาก 6.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 4.7% ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหนักหรือถดถอย
ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปอาจแย่ลงต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกันยายน อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 87 จุด จาก 88.5 จุด สะท้อนความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้าและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของภาคธุรกิจ กดดันโดยปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและความกังวลวิกฤตพลังงานยุโรปในช่วงฤดูหนาว
ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซน ในเดือนกันยายน อาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.7% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารและพลังงานเป็นหลัก ซึ่งระดับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก จะยิ่งหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมเดือนตุลาคม เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ
ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะในภาคการบริการอาจเริ่มดีขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 33.5 จุด ซึ่งจะสอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของภาคการบริการ ชี้โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) เดือนกันยายนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
ส่วนในฝั่งจีน โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นชัดเจน เนื่องจากภาคการบริการยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจชะลอลงสู่ระดับ 52.3 จุด อย่างไรก็ดี อานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล อาจช่วยหนุนให้ภาคการผลิตของจีนพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนกันยายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.90% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินรูปี (INR) ที่อาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อต่อเนื่อง หาก INR อ่อนค่าทะลุระดับ 80 รูปีต่อดอลลาร์ ไปมาก
ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าดุลการค้าของไทยในเดือนสิงหาคมอาจขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงาน ทำให้ยอดการนำเข้าโตราว 18%y/y ส่วนยอดการส่งออกยังโตได้ราว +7%y/y ซึ่งหากดุลการค้าขาดดุลน้อยกว่าคาด อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
โดยเราคาดว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทว่า อาจมีกรรมการ 1-2 ท่านที่อาจสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 0.50% ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจก็มีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ รวมถึง นักวิเคราะห์บางส่วนต่างคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ทั้งนี้ ควรระวังแรงขายเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม กนง. หาก กนง. ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยหากแรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลงก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ อนึ่ง เราประเมินแนวต้านเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวจะเปิดโอกาสการอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในระยะสั้นนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาดและเราคาดว่าโมเมนตัมเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) รวมถึงแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป (EUR & GBP) ท่ามกลางความกังวลทั้งปัญหาการเมืองอิตาลี รวมถึงวิกฤตพลังงานในยุโรปและความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนัก
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.20-37.80 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.45-37.65 บาท/ดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 37.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปีในช่วงเช้าวันนี้ (9.15 น.) ยังคงเป็นทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 37.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาท เงินหยวน รวมถึงสกุลเงินเอเชียและสกุลเงินหลักอื่นๆ ยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ ยังคงแข็งค่าขึ้นตามการพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รับการคาดการณ์ในเรื่องแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของเฟด ซึ่งตลาดกำลังประเมินว่า เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. นอกจากนี้การร่วงลงอย่างหนักของเงินปอนด์จากความกังวลในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอังกฤษ ก็เป็นแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ 37.50-37.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ย.จากสถาบัน Ifo ของเยอรมนี ขณะที่ตลาดยังคงรอติดตามผลการประชุมกนง. โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยและมุมมองต่อสถานการณ์เงินบาท ในช่วงกลางสัปดาห์อย่างใกล้ชิด
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
ไม่เคยรู้จักมาก่อน! “โค้ชทีมชาติตุรกี” ยกหนึ่งผู้เล่นไทยตัวเปลี่ยนเกมสุดสำคัญ
ควันหลงการแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์โลก 2022 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ คู่ระหว่าง “ทัพนักตบลูกยางสาวไทย” พบกับ ทีมชาติตุรกี ทีมอันดับ 6 ของโลก เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565
ผลการแข่งขันอย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า “สาวไทย” ที่ก่อนแข่งถูกมองว่าเป็นรองในทุกด้านสามารถพลิกสถานการณ์จากตกเป็นฝ่ายตามหลัง 1-2 เซต กลับมาเอาชนะไปได้แบบลุ้นระทึก 3-2 เซต
หลังจบเกม โจวานนี่ กุยเด็ตติ โค้ชทีมชาติตุรกี ได้เปิดใจกับ FIVB ถึงเกมนัดดังกล่าวว่า “เราต้องยอมรับว่าเราไม่เคยประมาททีมไทยเลย แต่วันนี้พวกเขาเล่นได้ดีกว่าเรา พวกเธอคือมอนสเตอร์ทีม มันเป็นเกมที่สนุกจริงๆ”
โดยจุดเปลี่ยนสำคัญในเกมนี้ก็คือการกลับมาได้ในช่วงเซตที่ 4 และเซตที่ 5 เมื่อทางทีมไทย ตัดสินใจส่ง ศศิภาพร จันทวิสูตร ลงสนามก่อนที่เธอจะฉายแววโดดเด่นทำได้ 7 คะแนน ทั้งการตบ, การเสิร์ฟ และการบล็อก
ซึ่งทางด้าน กุนซือวัย 50 ปี ก็มองถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยออกมายกย่องผู้เล่นหมายเลข 17 (ศศิภาพร จันทวิสูตร) พร้อมทั้งยกให้เป็นอาวุธลับที่สร้างปัญหาจนเปลี่ยนเกมได้ในที่สุด “วันนี้เราได้เห็นผู้เล่นคนใหม่ของทีมชาติไทย เธอลงสนามมาเล่นได้อย่างชาญฉลาด และสามารถปิดจุดบอดของทีมได้ในช่วงเวลาที่สำคัญ”
สำหรับ ทีมชาติไทย มีโปรแกรมจะลงสนามเกมที่สองในรายการ วอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์โลก 2022 พบกับ โปแลนด์ ในวันพุธที่ 28 กันยายน 2565 (คืนวันอังคารที่ 27 กันยายน) เวลา 01.30 น.แฟนๆ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Workpoint ช่อง 23
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
3 วัตถุเจือปนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ
มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปหลากหลายชนิดที่มีรสชาติอร่อยและช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนในปัจจุบัน แต่ก็มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารมากกว่า 1,500 ชนิด ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารญี่ปุ่นได้ออกมาเตือนให้ระวังการรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้กันมากเป็นอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่น เนื่องจากหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระดับเซลล์ได้ มารู้กันว่าจำเป็นต้องใช้วัตถุเจือปนอาหารหรือไม่ และวัตถุเจือปนอาหารอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงกัน
จำเป็นต้องใช้วัตถุเจือปนในอาหารหรือไม่
วัตถุเจือปนเป็นส่วนประกอบในอาหารที่สำคัญเพื่อการถนอมอาหารให้เก็บไว้ได้นานและปลอดภัยจากการปนเปื้อนด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดีน่าดื่มกิน และช่วยลดต้นทุนการผลิต ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่นใช้วัตถุเจือปนอาหารมากกว่า 1500 ชนิด เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารแปรรูปมากมาย แน่นอนว่าการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูปเป็นสิ่งที่ดี แต่ในชีวิตจริง คนบางคนไม่เก่งด้านทำอาหาร บางคนต้องทำอาหารสามมื้อ บางคนทำงานยุ่งมากจนไม่มีเวลา และบางคนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลลูก เป็นต้น พวกเขาจำเป็นต้องใช้อาหารแปรรูปเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แทนการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูปจนอาจสร้างความเครียดให้แก่ตนเอง ก็เปลี่ยนมาเป็นทางสายกลางเลือกรับประทานอาหารแปรรูปแบบปลอดภัยโดยดูที่บรรจุภัณฑ์ก่อนการซื้อ
วัตถุเจือปนอาหาร 3 ชนิด ที่รับประทานเป็นประจำแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระดับเซลล์
- น้ำตาลเทียม
มีการใช้น้ำตาลเทียมได้แก่ แซคคาริน (Saccharin) แอสปาร์เทม (Aspartame) อะซีซัลเฟม เค (Acesulfame K) ซูคราโลส (Sucralose) เป็นต้น เป็นสารให้ความหวานในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้ และขนมหวาน น้ำตาลเทียมหวานเป็น 200 เท่าของน้ำตาลทั่วไป ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้ดี อย่างไรก็ดี น้ำตาลชนิดนี้จะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยจะไปรบกวนการสื่อสารและการทำงานร่วมกันของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ นอกจากนี้ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วสมองซึ่งรับรู้ความหวานของน้ำตาลเทียมจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดออกมา อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำตาลไม่ได้เข้าสู่กระแสเลือดจริง ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำและเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และในระยะยาวอาจไปทำลายระบบการควบคุมของระดับน้ำตาลในเลือดให้ผิดปกติไป - สารประกอบฟอสเฟต
สารประกอบฟอสเฟตเป็นวัตถุเจือปนที่ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป เช่น แฮมและไส้กรอก อีกทั้งยังใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ สารปรับ pH และสารปรับความเป็นกรด เป็นต้น ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ มีสารประกอบฟอสเฟตหลายชนิดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป แต่สารประกอบฟอสเฟตที่ควรระมัดระวังไม่รับประทานบ่อยคือ กรดไฟโรฟอสโฟริก (Pyrophosphoric acid) กรดโพลีฟอสโฟริก (Polyphosphoric acid) และกรดเมตาฟอสโฟริก (Metaphosphoric acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการจับแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายและขับออกทางอุจจาระ แม้ว่าการรับประทานอาหารแปรรูปในปริมาณมากจะไม่ทำให้ร่างกายรับสารประกอบฟอสเฟตสูงเกินจากปริมาณที่กำหนด แต่ก็ควรระวังการขับแร่ธาตุที่จำเป็นออกจากร่างกาย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ - น้ำตาลฟรุกโตส
น้ำตาลฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่มีความหวานมากกว่ากลูโคสถึงสองเท่า มีราคาถูก ไม่ตกผลึก และไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว มีการใช้น้ำตาลชนิดนี้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ขนมและของว่างต่างๆ แกงกะหรี่สำเร็จรูป และซอสมะเขือเทศ เป็นต้น จากการศึกษาในหนูพบว่าน้ำตาลฟรุกโตสจะถูกเปลี่ยนเป็นสารที่จำเป็นสำหรับการเจริญของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังมีงานวิจัยว่าการรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณที่มากเกินไปยังก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับอ่อน ปอด และเม็ดเลือดได้ด้วย นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการสะสมของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย
ผลไม้มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง แต่ผลไม้มีวิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร ซึ่งร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มหรือขนมหวาน ดังนั้นหากอยากรับประทานอะไรที่หวานๆ ผลไม้เป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุกโตส
วัตถุเจือปนอาจไม่มีปัญหาต่อสุขภาพสำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรงถ้าไม่รับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติหรือมีโรคประจำตัว และอยากให้ตนเองมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ก็ควรดูส่วนประกอบของวัตถุเจือปนอาหารในบรรจุภัณฑ์ก่อนการเลือกซื้อ
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com
หนาวร้อนบอกได้! รวมคำศัพท์เกี่ยวกับ สภาพอากาศภาษาอังกฤษ
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวก็มีลมพายุ เห็นทีคงต้องดูแลสุขภาพกันเป็นพิเศษแล้วล่ะนะ แต่ก่อนจะไปเตรียมตัวรับมือกับสภาพอากาศ เรามาเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับฤดูกาลและสภาพอากาศในภาษาอังกฤษกันดีกว่า
คำศัพท์เกี่ยวกับฤดูกาล
Summer ฤดูร้อน
Rainy/wet season ฤดูฝน
Winter ฤดูหนาว
Dry season ฤดูแล้ง
Autumn/fall ฤดูใบไม้ร่วง
Spring ฤดูใบไม้ผลิ
คำศัพท์บอกสภาพอากาศในช่วง ‘ฤดูร้อน’
Sweltering ร้อนระอุ
Sunshine แสงอาทิตย์
Warm อบอุ่น
Sunny แดดจัด
Bright อากาศสดใส มีแดดแรง
Humid อากาศร้อนชื้น
Stifling ร้อน จนแบบรู้สึกไม่สบายตัว
Heatwave คลื่นความร้อน
Scorching อากาศร้อนมากๆ (ใช้ในความหมายเชิงบวก)
Boiling อากาศร้อนจัด ร้อนจนจะเดือด (ใช้ในความหมายเชิงลบ)
Sunburn ผิวเกรียมจากการถูกแดดมากเกินไป
คำศัพท์บอกสภาพอากาศในช่วง ‘ฤดูฝน’
Rainy มีฝนตก
Drizzle ฝนตกปรอยๆ
Showery = ฝนตกโปรยปราย
Breezy มีลมแต่ไม่แรง
Windy ลมแรง
Downpour ฝนที่ตกอย่างหนัก
Torrential rain ฝนตกหนักมาก
Flood น้ำท่วม
Stormy มีพายุ
Thunderstorm พายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรง มีฟ้าร้อง ฟ้าฝ่า
คำศัพท์บอกสภาพอากาศในช่วง ‘ฤดูหนาว’
Freezing เย็น
Cold เย็น
Icy เย็นฉ่ำ
Hail มีลูกเห็บ
Hailstones ลูกเห็บ
Snow หิมะ
Snowflake เกล็ดหิมะ
Sleet หิมะ หรือลูกเห็บที่ตกลงมาพร้อมสายฝน
Blizzard พายุหิมะ
คำศัพท์บอกสภาพอากาศในช่วง ‘ท้องฟ้าแจ่มใส’
Clear ท้องฟ้าโปร่ง และไม่มีเมฆ
Fine ท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีฝน
Partially cloudy ท้องฟ้าสีคราม และมีเมฆบางส่วน
Cloudy มีเมฆมาก
ตัวอย่างบทสนทนาเกี่ยวกับ สภาพอากาศภาษาอังกฤษ
A: What’s the weather like today?
สภาพอากาศวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
B: It’s rainy.
มีฝนตก
A: What’s the weather like in Bangkok?
สภาพอากาศในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง?
B: It’s sunny.
มีแดดออก
A: It’s rather cloudy. It looks like rain, doesn’t it?
วันนี้ดูมีเมฆค่อนข้างมาก ดูเหมือนฝนจะตกเลยว่าไหม?
B: I think we should go now, before we get soaked.
ฉันว่าเราควรกลับกันแล้วล่ะ ก่อนที่เราจะเปียกกัน
A: What season is it?
ช่วงนี้เป็นฤดูอะไร?
B: It is in the spring.
ตอนนี้เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ
A: What is the temperature in Bangkok now?
ตอนนี้ที่กรุงเทพฯ อุณหภูมิเท่าไหร่?
B: It is about 40 degrees Celsius.
ประมาณ 40 องศาเซลเซียส
ขอบคุณข้อมูลจาก wallstreetenglish.in.th
มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ทวงบัลลังก์ราชาทางฝุ่น จับไทรทัน ลุยเอเชีย ครอสคันทรี
มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ขอกลับมาทวงศักดิ์ศรีบนการแข่งขันรถยนต์ทางฝุ่นอีกครั้ง ในรายการเอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022 ที่จะเริ่มปลายเดือนพฤศจิกายน นี้ โดยเก็บตัวฝึกซ้อม เตรียมความพร้อมของนักแข่ง และปิกอัพมิตซูบิชิ ไทรทัน ที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022 การแข่งขันรถยนต์สุดโหดรายการใหญ่ระดับภูมิภาค กำลังจะเปิดฉากในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยทีมแข่งชั้นนำและรถออฟโรดคู่บุญ ต้องเจอความท้าทายจากเส้นทางภูเขา วิ่งผ่านป่า ลุยโคลน ข้ามแม่นํ้า เนินทราย และเผชิญสภาพอากาศของภูมิประเทศในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่ภาคอีสานตอนใต้ของไทยไปจนถึงกัมพูชา
ปีนี้ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ที่ได้รับการสนับสนุนจาก มิตซูบิชิมอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ขอกลับมาทวงศักดิ์ศรีบนการแข่งขันรถยนต์ทางฝุ่นอีกครั้ง โดยซุ่มเก็บตัวฝึกซ้อม เตรียมความพร้อมของนักแข่ง และปิกอัพมิตซูบิชิ ไทรทัน ในเซสชันสุดท้าย ที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
ตำนานนักแข่งแรลลี่ดาการ์ของมิตซูบิชิ “ฮิโรชิ มาซูโอกะ” (อดีตแชมป์ 2 สมัย) วันนี้ต้องมารับหน้าที่ผู้อำนวยการทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ในรายการเอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022 ยืนยันถึงความพร้อมว่า มิตซูบิชิ ไทรทัน ที่ใช้ในการแข่งขัน สามารถรองรับการปรับแต่งสมรรถนะในแบบรถแข่งแรลลี่ได้มากที่สุด พร้อมช่วงล่างที่แข็งแกร่ง และความพยายามลดนํ้าหนักของตัวรถลงให้ได้มากที่สุด
“เราทดสอบรถแข่งแรลลี่คันนี้ไปแล้วกว่า 800 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาทั้ง 2 วันในเมืองไทย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามที่เราได้ตั้งเป้าไว้”
มิตซูบิชิ ไทรทัน แรลลี่คาร์ ในรุ่น T1 (รถแข่งแบบครอสคันทรี รุ่นโปรโตไทพ์) ถูกสร้างบนพื้นฐานของ มิตซูบิชิ ไทรทัน รุ่น 4 ประตู โดยฝากระโปรงหน้า ประตูหน้าและหลัง ห้องโดยสารและชิ้นส่วนต่างๆ ถูกลดนํ้าหนักลง รวมถึงใช้ล้ออัลลอยที่มีนํ้าหนักเบา ขณะที่ตัวรถยังเสริมความแข็งแรงด้วยโครงเหล็กนิรภัย และแผงกันกระแทกใต้ท้องรถ ช่วงล่างปรับปรุงใหม่ ติดตั้งระบบล็อกเฟืองหน้าและท้าย (LSD) ใส่ยางออฟโรดขนาดใหญ่
เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ ขนาด 2.4 ลิตร ปรับปรุงใหม่ เพื่อลดนํ้าหนักและลดแรงเสียดทาน พร้อมเพิ่มสมรรถนะอัตราการเร่งที่ตอบสนองได้เร็วขึ้นกว่าเดิมในย่านความเร็วกลาง ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการขับแข่งขันประเภทแรลลี่ ขณะเดียวกันยังปรับแต่งเครื่อง ยนต์ให้สามารถทนต่อการลุยนํ้า พร้อมติดตั้งสน็อกเกิลท่อกรองอากาศด้วย
ทั้งนี้ ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท โดยนักแข่ง ริฟัต ซุงการ์ (อินโดนีเซีย), ศักดิ์ชัย ห่านตระกูล และผู้นำทาง ชยพล โยธา, กิติศักดิ์ กลิ่นจันทร์ เสร็จสิ้นการทดสอบรถแข่งไทรทัน แรลลี่คาร์ ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่สนามกรังด์ปรีซ์ มอเตอร์ปาร์ค จ.กาญจนบุรี รวมระยะทางรวม 1,100 กม.
สำหรับการแข่งขันเอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ ครั้งที่ 27 เริ่มตีธงจากจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะมุ่งหน้าสู่ประเทศกัมพูชา และสิ้นสุด การแข่งขันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดเสียมเรียบ รวมระยะทางกว่า 1,700 กม. ต้องมาลุ้นว่า การกลับมาของทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จขนาดไหน
ขอบคุณข้อมูลจาก thansettakij.com
เดลต้า เปิดตัวเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC แบบเร็วรุ่นใหม่ล่าสุด และนวัตกรรม V2X รวมถึงโซลูชันด้านพลังงาน
BuilderNews พาทุกคนไปดูเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า AC และ AC รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Delta Electronics (Thailand) PCL. รวมถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ V2X, อินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ (PVI) ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบจัดการพลังงาน สำหรับประเทศไทยภายในงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2022
โดย Delta ได้หยิบเอาโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรของเดลต้า อาทิ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น อินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบจัดการพลังงานสำหรับผู้ใช้ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โซลูชันดังกล่าวเป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่เข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับ รถยนต์สู่ทุกสิ่ง (V2X) ที่สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและในขณะเดียวกันก็นำพลังงานแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าสู่กริดใช้ในอาคารและบ้านเรือน นอกจากนี้ เดลต้ายังได้เปิดตัวเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC แบบเร็วรุ่นใหม่ล่าสุด ได้แก่ เครื่องชาร์จรุ่น Ultra Fast Charger 200kW, DC City Charger 200kW และ DC Wallbox Charger 50kW
ไฮไลท์ผลิตภัณฑ์ภายในงาน ได้แก่ :
เครื่องชาร์จรถยนต์ EV รุ่น DC City (200kW)
- ประสิทธิภาพ 96%
- การกระจายโหลดแบบไดนามิกสำหรับการชาร์จพร้อมกัน
- เข้าได้กับระบบ OCPP ทำงานร่วมได้กับทุกระบบและการบริการการชาร์จ
เครื่องชาร์จรถยนต์ EV รุ่น Ultra Fast (200kW)
- สายเคเบิล CCS2 ขนาด 200kW/400A โดยปราศจากของเหลวระบายความร้อน
- การจัดการพลังงานแบบไดนามิก ช่วยลดระยะเวลาในการชาร์จ
- พร้อมกับโซลูชันการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและระบบระบุตัวตนผู้ใช้ RFID
อินเวอร์เตอร์แบบ 3 เฟส รุ่น M100A_280 (100kW)
- ประสิทธิภาพ 98.7%
- รองรับทั้งคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันสำหรับการสั่งงานระดับโรงงาน
- ระบบระบายความร้อนอัจฉริยะช่วยให้ได้ผลผลิตและประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้ กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของเดลต้า ประเทศไทย ได้นำเสนอเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC แบบเร็วรุ่นใหม่ รวมถึงเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับรถยนต์สู่ทุกสิ่ง (V2X) ของเดลต้าที่สามารถใช้ร่วมกับอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานของเดลต้าเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า ให้ความปลอดภัยแก่ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) เป็นงานแสดงสินค้าชั้นนำระดับภูมิภาคด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค เดลต้าได้เข้าร่วมงานประจำปีนี้เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ล่าสุดและสำหรับตลาดประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปีนี้ งานแสดงสินค้า ASEW ได้กลับมาจัดเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากที่ถูกจัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ในปี 2564 เนื่องจากข้อจำกัดการจัดงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19
ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เดลต้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียวที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของแบรนด์ที่ว่า Smarter. Greener. Together.
ขอบคุณข้อมูลจาก buildernews.in.th
ราคาทองตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ ประจำวันที่ 26/09/2565
ชนิดทอง | ราคารับซื้อ กรัมละ | ราคารับซื้อ บาทละ | ราคาขาย บาทละ |
---|---|---|---|
ทองคำแท่ง 96.5% | n/a | 29,300.00 | 29,400.00 |
ทองรูปพรรณ 96.5% | 1,898.00 | 28,773.68 | 29,900.00 |
ทองรูปพรรณ 90% | 1,708.20 | 25,896.31 | n/a |
ทองรูปพรรณ 80% | 1,518.40 | 23,018.94 | n/a |
ทองรูปพรรณ 50% | 854.00 | 12,946.64 | n/a |
ทองรูปพรรณ 40% | 664.00 | 10,066.24 | n/a |
ทองรูปพรรณ 99.99% | 1,967.00 | 29,819.72 | n/a |
ราคาน้ำมัน ประจำวัน ราคาน้ำมันประจำวันที่ 26/09/2565
ปตท. | บางจาก | เชลล์ | เอสโซ่ | คาลเท็กซ์ | ไออาร์พีซี | พีที | ซัสโก้ | เพียว | พรุ่งนี้ | |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
แก๊สโซฮอล์ 95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 | 34.95 |
แก๊สโซฮอล์ 91 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 | 34.68 |
แก๊สโซฮอล์ E20 | 33.84 | 33.84 | 33.84 | 33.84 | 33.84 | – | 33.84 | 33.84 | 33.84 | 33.84 |
แก๊สโซฮอล์ E85 | 32.24 | 32.24 | – | – | – | – | – | – | – | 32.24 |
เบนซิน 95 | 42.36 | – | – | – | 42.81 | – | 42.86 | 42.86 | – | 42.36 |
ดีเซล B7 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 |
ดีเซล | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | 34.94 |
ดีเซล B20 | 34.94 | 34.94 | 34.94 | – | 34.94 | – | 34.94 | 34.94 | – | 34.94 |
ดีเซลพรีเมี่ยม | 43.66 | 43.66 | 44.66 | 44.66 | 45.16 | – | – | – | – | 43.66 |
แก๊ส NGV | 43.66 | 43.66 | – | – | – | – | – | – | – | 43.66 |